หงุดหงิดง่ายจากการขับรถ ส่งผล (กระทบ) กว่าที่คุณคิด

ทุกวันนี้คุณใช้เวลาเดินทางไปกลับบ้าน-ที่ทำงานกันวันละกี่ชั่วโมง? เคยหงุดหงิดเพราะรถติดกันบ่อยแค่ไหน? นี่อาจจะดูเป็นปัญหาที่เผชิญกันมาเป็นทศวรรษ จนอาจทำให้บางคนต้องหงุดหงิดแบบไม่มีที่สิ้นสุด อีกทั้งยังมีข้อมูลจากเว็บไซต์ tomtom.com ที่พูดถึงการขับรถในกรุงเทพฯ ตอนชั่วโมงเร่งด่วน ว่าทำให้เราเสียเวลาบนท้องถนนทั้งเช้าและเย็นรวมกันสูงถึง 192 ชั่วโมง/ ปี หรือประมาณ 8 วันเลยทีเดียว ฟังแล้วยิ่งหงุดหงิดเข้าไปอีกมั้ยล่ะ! แต่…อย่าเพิ่งหัวร้อน เพราะอาการหงุดหงิดอาจมีผลเสียกับสุขภาพที่รู้แล้วคุณอาจจะอยาก(อารมณ์)เย็นขึ้นมาทันที

 
หงุดหงิด (บนท้องถนน) ทำเอาเครียด กังวล จนก้าวร้าว
 
เช้าต้องเข้างานให้ทันเวลา เย็นหลังเลิกงานก็มีนัดกับแก๊งเพื่อน กลายเป็นคนหงุดหงิดง่ายเพราะต้องขับรถแบบรีบทำเวลา บ่นรถติดและการขับรถของคันข้างๆ ได้ตลอดเวลา ในงานประชุม Asia Pacific Global Summit on Healthcare & Immunology ครั้งที่ 9 ได้มีงานวิจัยเกี่ยวกับผู้ที่ต้องขับรถทุกวันในเมือง Sharjah สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นเมืองที่มีการจราจรหนาแน่นในช่วงเวลาเร่งด่วน โดยระบุว่าการขับรถสามารถส่งผลให้เกิดความเครียดได้สูงถึง 80.4% ความกังวล 74.2% และทำให้มีอารมณ์ที่ก้าวร้าว 52.2% ใครที่ชอบหงุดหงิดอยู่บ่อยๆ คงต้องระวัง เพราะมันอาจทำให้คุณอารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ง่าย หรือนำไปสู่ความเครียดและกังวลจนส่งผลกระทบต่อการพักผ่อนได้
 
ขับรถแล้ว “หงุดหงิด”… เสี่ยงหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง
 
หงุดหงิด… เมื่อเจอเพื่อนร่วมท้องถนนขับรถไม่ค่อยน่ารัก ไฟเลี้ยวไม่เปิด เบียดจะเข้าให้ได้ จนบางครั้งก็หัวเสียพร้อมสาดคำ (ด่า) ออกมาจากหลังพวงมาลัย ใครที่รู้สึกหงุดหงิดและเกรี้ยวกราดบ่อยๆ อาจต้องทำใจให้เย็นขึ้นเมื่อ Harvard School of Public Health (HSPH) เปิดเผยว่า ใครที่ระเบิดอารมณ์ความโกรธออกมา เสี่ยงที่จะหัวใจวายหรือเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ โดยเฉพาะในช่วง 2 ชั่วโมงแรกหลังระเบิดความโกรธออกมา โดย Elizabeth Mostofsky อาจารย์ประจำภาควิชาระบาดวิทยาที่ HSPH กล่าวว่าความเสี่ยงนี้อาจดูมีเปอร์เซ็นที่ต่ำ แต่ถ้าคุณหงุดหงิดและแสดงอาการโกรธออกมาบ่อยครั้ง ก็อาจพัฒนาเป็นความเสี่ยงสะสมที่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งอาการหัวใจวายไม่ได้มีเพียงเฉพาะผู้ที่ไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูงเท่านั้น แต่ถ้าคุณเครียดบ่อยและเครียดง่าย ก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหัวใจวายได้ ส่วนโรคหลอดเลือดสมองก็ไม่ได้เพียงเกิดกับผู้ที่มีปัญหาความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจ แต่ความเครียดก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงด้วยเหมือนกัน


 
ลดอาการหัวร้อน คลาย “หงุดหงิด” เมื่อต้องเจอรถติด
 
เมื่อหงุดหงิดแล้วไม่ใช่เรื่องดีต่อสุขภาพ แบบนี้ต้องหาทางแก้ว่าเราจะจัดการอารมณ์หงุดหงิดจากการขับรถได้อย่างไร ก่อนลุกลามกลายเป็นปัญหาสุขภาพ White Swan เว็บไซต์ที่เน้นให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิต ได้แนะนำวิธีจัดการความเครียดจากการจราจรไว้ด้วยกัน 3 วิธี ผ่านบทความการจราจรในชีวิตประจำวันส่งผลต่อสุขภาพจิตหรือไม่
 
  • นั่งรถไปด้วยกันเป็นแก๊ง สไตล์ Carpool ทางเดียวกันไปด้วยกัน เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยคลายเครียดจากการจราจรได้อย่างดี เพราะเมื่อมีเพื่อนร่วมทาง ก็จะช่วยดึงความสนใจออกจากการจราจรที่แสนวุ่นวาย และทำให้จัดการกับความเครียดได้ง่ายขึ้น
  • บริหารเวลา เช่น ปรับเปลี่ยนเวลาการเดินทาง ออกเร็วขึ้นเพื่อเลี่ยงช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งทำให้ไม่ต้องเจอช่วงรถติด และทำให้จัดการความเครียดได้ดียิ่งขึ้น 
  • สูดหายใจให้ลึก เพราะการหายใจลึกๆ ช่วยสงบสติอารมณ์ที่กำลังเดือดปะทุ และช่วยให้ปล่อยวางสถานการณ์ได้ดีขึ้น
 
รู้แบบนี้แล้วอาจต้องรีบปรับพฤติกรรม และทำใจให้เย็นเข้าไว้ เพราะหากหงุดหงิดมากไป อาจส่งผลร้ายในอนาคต หรือถ้าจะให้ดี…คงต้องมีคนมานั่งร่วมทางไปด้วยกันทุกวันแล้วล่ะ
-->