หยุดมโน! มาดูเหตุผลทางจิตวิทยา ว่าทำไมคู่รักจึงมีนิสัยคล้ายกัน



ว่ากันว่าคนที่เป็นคู่รักกันมักมีหน้าตาที่คล้ายกัน หรือคู่ไหนที่อยู่ด้วยกันนานๆ หน้าตามักจะคล้ายกันไปโดยปริยาย ก็ไม่รู้ว่าคำพูดเหล่านี้เป็นจริงแค่ไหน หรือเป็นแค่เรื่องมโนที่คนเราติ๊ต่างไปเอง….

แต่ความเป็นจริงแล้วหลักจิตวิทยาสามารถอธิบายความเชื่อนี้ได้จริงๆ เพราะการใช้เวลาอยู่กับใครสักคนเป็นเวลานานอาจจะเปลี่ยนมุมมองความคิดและพฤติกรรมของคุณได้ จนอาจทำให้คุณและคู่รักของคุณอาจมีความคล้ายคลึงกันโดยไม่รู้ตัว

โจชัว วูล์ฟ เชงก์ (Joshua Wolf Shenk) นักเขียนผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาได้เขียนอธิบายเกี่ยวกับ ‘การมีความคิดร่วมกัน’ (shared mind) ในหนังสือ Power of Two ไว้ว่า “ความสัมพันธ์ใกล้ชิดอาจจะทำให้ความคิดหรือพฤติกรรมการกระทำของเราเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง” การที่คนเราอยู่ด้วยกันบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นคนรัก เพื่อน หรือครอบครัว ก็สามารถติดพฤติกรรมต่างๆ มาได้ ไม่ว่าจะเป็นการพูด การแสดงท่าทาง และการแต่งตัว หากสังเกตดีๆ จะพบว่าคุณกับคู่รักมันคิดอะไรคล้ายกัน เห็นด้วยในเรื่องเดียวกัน มองตากันก็เข้าใจอะไรแบบนั้น  

#เข้าใจภาษาลับๆ กัน โดยไม่ต้องพูดอะไร
โจชัว วูล์ฟ เชงก์บอกว่า “ภาษาที่พวกคุณรู้กันอยู่สองคนนี่แหละ คือสัญญาณแรกที่กำลังสื่อว่าคุณสองคนเริ่มมีสิ่งที่เหมือนกันแล้ว”

งานวิจัยเกี่ยวกับความโรแมนติกของคู่รัก ของ แครอล บรูส (Carol Bruess) นักจิตวิทยาจาก Ohio State University ยังบอกไว้อีกว่า “ภาษาลับที่พูดถึงมีความหมายครอบคลุมหลายๆ อย่าง ตั้งแต่มุกตลกไปจนถึงชื่อเล่นที่พวกเขาสองคนใช้เรียกกัน และยิ่งพวกเขาใช้ภาษาลับพวกนี้คุยกันมากเท่าไร พวกเขาก็จะยิ่งมีความสุขและพอใจในความสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น”

#เรื่องบางเรื่องก็รู้กันอยู่สองคน
งานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาครูซ (University of California, Santa Cruz) ในปี 2007 ที่ศึกษาเกี่ยวกับศิลปะของการสื่อสารพบว่า “คนเรามักจะรีบหันมามองหน้ากัน หากพวกเขาได้ยินเรื่องที่พวกเขารู้ ก่อนที่จะเริ่มพูดคุยกัน” และงานวิจัยข้อนี้ไม่ได้สนับสนุนเฉพาะคู่รักเท่านั้นนะ คุณคงเคยเกิดอาการแบบนี้กับเพื่อนสนิทบ้างล่ะ อารมณ์แบบว่าแค่มองตาก็รู้ว่าคิดเรื่องเดียวกัน จริงมะ?

#คุณจะเป็นตัวของตัวเองแบบสุดๆ 
เชงก์ได้บอกอีกว่า “เมื่อเราสนิทหรือใกล้ชิดกับคู่ของเรา เราจะไม่พยายามทำอะไรเลยแต่กลับพูดคุยอย่างเป็นธรรมชาติและเป็นตัวเอง” เหมือนกับที่เวลาอยู่กับคู่รักหรือเพื่อนสนิทเราจะเปิดใจสนทนาอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องแสดงความกังวลหรือเก้อเขิลออกมานั่นเอง

#ลักษณะการพูด การสื่อสารเริ่มคล้ายคลึงกัน
“คู่ที่มีความสัมพันธ์ระยะยาวจะเริ่มมีวิธีการพูดและน้ำเสียงที่คล้ายกัน” ซึ่งเชงก์ได้กล่าวไว้เช่นกัน...

นักจิตวิทยาบอกว่าส่วนหนึ่งที่เป็นแบบนั้นก็เนื่องจาก ‘การระบาดทางอารมณ์’ (emotional contagion) หรือความรู้สึกที่กระตุ้นซึ่งกันและกันมีระดับรุนแรงจนส่งอิทธิพลเป็นวงกว้าง เพราะโดยปกติแล้วคนที่ใช้เวลาร่วมกันมากๆ พวกเขามักจะเลียนแบบหรือปรับวิธีการพูดให้เข้ากัน ตั้งแต่วิธีการพูดของอีกฝ่ายหรือแม้กระทั่งจังหวะการหยุดระหว่างคำหรือประโยค เรียกได้ว่าแทบจะเลียนแบบกันมาหมด

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนเราเวลาอยู่ด้วยกันมากๆ มักมีลักษณะนิสัยที่คล้ายคลึงกัน ไม่เฉพาะแค่คู่รักเท่านั้น หากสังเกตดีๆ คุณกับเพื่อนซี้ก็อาจเป็นแบบนี้เหมือนกันจริงมั๊ย?



 
-->