หลอดเลือดตีบตัน เกี่ยวอะไรกับ ‘ไขมันในเลือด’?

บางทีเจ้ากรรมนายเวรก็มาในรูปแบบของอาหารการกิน ที่ต้องพูดแบบนี้ก็เพราะของมันของทอดที่เป็นเมนูสุดโปรดของใครหลายคน ถึงจะอร่อยจนยากจะห้ามใจก็จริง แต่กินเข้าไปแล้วก็มีแต่จะทำให้เกิดโทษ ความอ้วนนี่แน่นอนแล้วหนึ่ง ซึ่งอาจจะดูเป็นผลกระทบที่เล็กน้อยไปเลย เมื่อเทียบกับ “โรคหลอดเลือดตีบตัน” ที่จะตามมา นี่ก็เลยเป็นเหตุให้ต้องไปหาคำตอบถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “โรคหลอดเลือดตีบตัน” กับ “ไขมันในเลือด”



หลอดเลือดตีบตัน...มันเป็นยังไง
หลอดเลือดสมองตีบ เป็นอาการที่เกิดจากภาวะสมองขาดเลือดไปเลี้ยง เพราะมีการอุดตันของเส้นเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนต่างๆ ส่งผลให้สมองขาดเลือด และอยู่ในภาวะที่ทำงานไม่ได้ โดยอาการเบื้องต้นที่พบบ่อยและอาจทำให้สงสัยได้ว่ามีหลอดเลือดสมองตีบตัน ได้แก่
  • มึนงง วิงเวียน ปวดศีรษะ
  • ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด
  • ตาพร่ามัวมองเห็นภาพซ้อน
  • มีอาการชาครึ่งซีก
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง

แล้วไขมันในเลือด ไปเกี่ยวกันยังไง
ส่วนภาวะไขมันในเลือดสูง  เป็นภาวะที่ร่างกายมีไขมันในเลือดมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคทางสมอง เพราะการที่เส้นเลือดตีบอุดตันนั้น จะทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกายไม่เพียงพอและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยไขมันที่สูงนั้นอาจเป็นได้จากไขมันทั้ง 2 ชนิด ได้แก่

1. คอเลสเตอรอล ไขมันชนิดที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ขึ้นได้เองจากตับและลำไส้ หรือได้รับจากสารอาหารที่ร่างกายได้รับ ซึ่งพบมากในไขมันสัตว์ และมีความสำคัญต่อ

ร่างกายในแง่ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์สมอง แต่หากมีไขมันคอเลสเตอรอลมากเกินไปก็จะเป็นโทษต่อร่างกายเช่นกัน เพราะไขมัน
เหล่านี้จะไปสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย เช่น หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดเส้นเลือดแข็งตัว และการตีบตันของหลอดเลือดในอนาคต ส่วนจะแสดงอาการช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับปริมาณคอเลสเตอรอล และปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน การสูบบุหรี่ ความอ้วน และไม่ออกกำลังกายร่วมด้วย คอเลสเตอรอลยังแบ่งออกได้อีก 2 ชนิด คือ
  • High-Density Lipoprotein (HDL) เป็นไขมันชนิดดี มีความหนาแน่นสูง ทำหน้าที่จับไขมันคอเลสเตอรอลออกไปทำลายที่ตับ การมีไขมัน HDL สูงจะทำให้มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดลดลง ซึ่งการจะทำให้ HDL สูงได้นั้นก็มีทั้งการกินอาหารและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 
  • Low-Density Lipoprotein (LDL) เป็นไขมันชนิดไม่ดีที่มาจากไขมันสัตว์ หากใครที่มีไขมันชนิดนี้อยู่ในเกณฑ์สูง ระวังไว้ให้ดี เพราะมีโอกาสที่ไขมันจะไปเกาะผนังหลอดเลือดทำให้ตีบแคบลง จนทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกส่งผลให้ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดลดลง และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเส้นเลือดตีบตันได้มากยิ่งขึ้น

2. ไตรกลีเซอไรด์ ก็เป็นไขมันอีกชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นเองจากน้ำตาล และแป้ง หรือจากอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยทำหน้าที่ให้พลังงาน ช่วยในการดูดซึมวิตามิน เอ ดี อี และเค ช่วยทำให้รู้สึกอิ่มท้องได้นาน นอกจากนี้ร่างกายยังเก็บสะสมไตรกลีเซอไรด์ไว้สำหรับให้พลังงานเมื่อมีความต้องการ แต่การมีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง หรือพบว่าไขมันในเลือดสูงในคนที่มีคอเลสเตอรอลสูงอยู่แล้ว ก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้มากขึ้น 
โดยค่าของคอเลสเตอรอลที่จัดว่าปกตินั้นจะต้องน้อยกว่า 200 มก./ดล. ส่วนไตรกลีเซอไรด์ไม่ควรเกิน 150 มก./ดล. ในขณะที่ไขมันชนิดดี (HDL) ซึ่งเป็นไขมันที่ทำหน้าที่จับคอเลสเตอรอลจากเซลล์ของร่างกายและนำไปกำจัดทิ้งที่ตับ ควรมีค่ามากกว่า 60 มก./ดล. ส่วนไขมันชนิดไม่ดี (LDL) ควรน้อยกว่า 130 มก./ดล. 

ถ้ารักษาระดับให้ได้ตามนี้ สุขภาพดี ที่ไม่มีหลอดเลือดตีบตันก็อยู่ไม่ไกล 


สนใจแพ็กเกจตรวจสุขภาพ คลิก!
-->