หัวใจโต กับโรคแทรกซ้อนที่ต้องระวัง

แปลกดีนะที่บางสิ่งบางอย่างอยากให้โตก็ไม่โต แต่ทีบางอย่างที่ไม่อยากให้โต ก็โตเอ๊า โตเอา จะอะไรซะอีก ถ้าไม่ใช่ “หัวใจ” ที่ หาก “โต (เกิน) ไป (อาจ) ไม่ดี” เพราะนอกจากจะทำให้หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ใจสั่นแล้ว ยังอาจนำไปสู่ความเสี่ยงของการเกิดโรคแทรกซ้อนได้ ยิ่งมีข้อมูลสถิติที่แสดงให้เห็นว่าโรคหัวใจนั้นติด 1 ใน 3 ของโรคที่คร่าชีวิตคนมากที่สุด แถมยังไม่มีทีท่าว่าจะแผ่ว บวกกับข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ที่พบว่าคนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดถึง 58,681 คนต่อปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน โดยพบได้ในทุกช่วงอายุ ก็ยิ่งทำให้ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลหัวใจ...ให้มากขึ้นแล้วล่ะ



ต้นตอ (หัวใจ) โต
หัวใจโต คือภาวะที่หัวใจมีขนาดใหญ่กว่าปกติ 2 เท่า ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน ภาวะความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมไปถึงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อย่างเรื่องของพันธุกรรม เช่นเดียวกับผู้ที่มีระบบการทำงานของภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ ก็อาจทำให้เสี่ยงเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจเสียหาย จนนำไปสู่ภาวะหัวใจโต และนำมาซึ่งอาการเตือน เช่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบากในขณะเคลื่อนไหว เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ที่อาจมีอาการบวมที่ขา ข้อเท้า เท้า และหน้าท้องร่วมด้วย 

โรคแทรกซ้อนที่ (อาจ) มาพร้อมหัวใจโต
ผู้ที่หัวใจโตส่วนใหญ่จะไม่ค่อยแสดงอาการถ้าหัวใจยังทำงานได้ปกติ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกถึงความผิดปกติข้างต้น ควรต้องรีบมาพบแพทย์ เพราะถ้าปล่อยให้อาการของ ภาวะหัวใจโต กำเริบอย่างต่อเนื่อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ เข้ามาซ้ำเติมให้ยิ่งแย่...ไปอีก
  • หัวใจล้มเหลว เพราะหัวใจที่มีขนาดใหญ่เกินไป อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่เพียงพอไป จนนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ ด้วยเหตุที่โครงสร้างหัวใจเปลี่ยนแปลงจากผลกระทบของ ภาวะหัวใจโต ก็อาจนำไปสู่จังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติได้เช่นกัน
  • หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ภาวะหัวใจโตสามารถรุนแรงจนถึงขั้นทำให้หัวใจหยุดเต้น ส่งผลต่อเนื่องไปยังระบบไหลเวียนเลือด ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงอวัยวะสำคัญอย่างสมอง ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด
  • ลิ่มเลือด เมื่อเลือดไหลเวียนเข้าสู่ร่างกายได้น้อย ก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการรวมตัวกันจนเป็นลิ่มเลือดขึ้น โดยอาจทำให้เกิดโรคร้ายแรงอื่นๆ อย่าง โรคหลอดเลือดสมอง หรือภาวะหัวใจวายตามมาได้ 
  • ลิ้นหัวใจรั่ว เนื่องด้วยมีการขยายตัวในช่องซ้ายจึงอาจทำให้ลิ้นหัวใจปิดได้ยากขึ้น ส่งผลให้เลือดไหลย้อนกลับ และทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

ดูแลหัวใจแบบไหนไม่ให้โต
ไม่ว่าอะไรจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจโต แต่การดูแลตัวเอง ก็เป็นเสมือนเกราะป้องกันภาวะดังกล่าวไม่ให้เกิดหรือทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการ
  • งดสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • จำกัดปริมาณโซเดียมที่ร่างกายได้รับ หรือเลือกอาหารที่มีโซเดียมต่ำ 
  • หมั่นออกกำลังกาย ควบคู่ไปกับการกินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อควบคุมน้ำหนัก
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเครียด ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพ

เมื่อเราเลือกอาหารที่ดี หันมาใส่ใจดูแลตัวเองมากขึ้นแล้ว สำหรับใครที่อยากชัวร์มากขึ้นไปอีก ก็สามารถลองดู แพ็กเกจตรวจคัดกรอง 3 โรคร้าย สมอง มะเร็ง หัวใจ เพื่อสุขภาพของเราที่ดีมากยิ่งขึ้นและยังเพิ่มความสบายใจให้กับเราได้อีกด้วย บางครั้งการลงทุนกับสุขภาพก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกันนะ
-->