อย่างตึงคับจารย์! ตัวตึงจุดนี้ ร่างกายกำลังบอกอะไรเรา?

แม้คำว่า “ตัวตึง” จะแปลว่า เป็นเลิศ ตัวท็อป สุดยอด แต่ถ้าใช้กับร่างกายคงไม่เรียกว่าสุดยอดแน่นอน เพราะจะนำพามาแต่ปัญหาร่างกายสารพัด ที่ผู้หญิงวัยทำงานอย่างเราพออ่านปุ๊ป ต้องร้อง “เอ้อ! นี่มันฉันเลยนี่นา” แล้วจะมีปัญหาอะไรบ้างที่ทำให้ชาวออฟฟิศผู้น่ารักอย่างเรา ‘ตัวตึง’ ได้ มาดูกัน



1. หนังหัวตึง
เพราะรัดผมรวมจนตึง แน่นเกินไป รากผมถูกแรงดึงอยู่ตลอด รากผมอ่อนแอ เสียหาย ผลิตเส้นผมใหม่ๆ ขึ้นมาไม่ไหว เป็นสาเหตุให้หัวเถิก หัวล้านก่อนวัย ร้ายกว่านั้นผมที่ถูกรวบตึงไว้นานๆ ยังส่งผลให้ปวดหัว ปวดตึงบริเวณต้นคอและท้ายทอยอยู่บ่อยๆ

นอกจากนี้ การมัดผมแน่นยังเป็นต้นเหตุของปัญหาผมอับชื้นที่เกิดจากเหงื่อ เกิดการหมักหมม จนมีอาการคัน มีรังแค และจบที่ปัญหาผมขาดร่วง วนลูปกลับไปหัวล้านเหมือนเดิม

คำแนะนำ
  • ปล่อยผมลงบ้างในบางวัน นานๆ ทีค่อยมัดผม 
  • ใช้ที่มัดผมที่ทำจากผ้า เพื่อป้องกันไม่ให้ผมเสียทรง และป้องกันเส้นผมถูกดึงขาดตอนแกะที่รัดผม
  • อย่ามัดผมตอนผมเปียกทันที เพราะความอ่อนแอของเส้นผมตอนเปียก เมื่อถูกรัดจะทำให้ผมอับชื้นและขาดร่วงง่าย ทำผมเสียทรง

2. หนังท้องตึง (หนังตาหย่อน)
ในภาษาอังกฤษจะเรียกอาการง่วงหลังกินข้าวว่า Food Coma มีทฤษฎีหลายชิ้นมากที่บอกที่มาการเกิด Food Coma แต่ที่เราจะคุ้นกันมากที่สุดคือ ร่างกายต้องใช้พลังงานในการย่อยสูง ทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงที่กระเพาะเยอะ เลือดบริเวณสมองจึงน้อย เราเลยรู้สึกง่วง

แต่ก็ยังมีอีกทฤษฎีหนึ่งที่อธิบายว่า เกิดจากการทานอาหารที่อุดมไปด้วยแป้ง น้ำตาล โปรตีน และไขมันเยอะเกินไป พอกินปุ๊ป ร่างกายก็จะดึงกรดอะมิโน ‘ทริปโตเฟน’ ออกมาจากสารอาหาร (เพราะร่างกายสร้างเองไม่ได้ ต้องอาศัยดึงออกมาจากอาหารเท่านั้น) ซึ่งกรดอะมิโนตัวนี้จะช่วยในการสร้างเซโรโทนินและเมลาโทนินในสมอง (และก็ทำให้นอนหลับฝันดี)

แต่อย่างไรก็ตามการเกิด Food coma ยังเกิดได้จากหลายปัจจัยมาก เช่น ปัญหาการนอนไม่พอ หรือการโหมงานหนักในตอนเช้า บ่ายๆ เลยเพลียก็มีส่วนทั้งนั้น

คำแนะนำ
  • Power nap ช่วยได้! ถ้าง่วงจนไม่ไหวแล้วจริงๆ ลองงีบซัก 10-20 นาทีดู 
  • หลังกินข้าวเที่ยงเสร็จอย่าเพิ่งทำงานทันที ลองออกไปเดินเล่น ให้ร่างกายได้ใช้พลังงานสักหน่อย
  • กินข้าวแต่ละคำช้าๆ ไม่ต้องกินเยอะ กินให้พออิ่มก็พอ และเลี่ยงอาหารไขมัน น้ำตาล แป้งสูงๆ

3. ไหล่ตึง 
อาการพื้นฐานของโรคออฟฟิศซินโดรม แรกๆ จะรู้สึกปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ สะบัก ร้าวไปถึงหลัง เกิดจากการหดเกร็งหรือกล้ามเนื้อไหล่ถูกยืดซ้ำๆ จนกล้ามเนื้อขมวดตึงเป็นก้อน ซึ่งอาจหายได้ชั่วคราวจากการนวด แต่สักพักก็จะกลับมาเป็นอีก หากยังนั่งทำงานแบบเดิมๆ อาการปวดก็จะรุนแรง ยิ่งปล่อยไว้นานอาจลุกลามไปปวดตามจุดอื่นๆ และกลายเป็นโรคไมเกรนได้

คำแนะนำ
  • ทุกๆ 2 ชั่วโมงให้ลุกขึ้นมาขยับตัวเดินไปชงกาแฟ เข้าห้องน้ำ หรือเปลี่ยนมายืนทำงานแทน
  • คาร์ดิโอ เวท หรือออกกำลังแบบยืดเหยียดเป็นประจำช่วยให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่นและแข็งแรงขึ้น

4. เข่าตึง
ร่วมกับมีอาการปวดเข่านานเกิน 6 เดือน ข้อเข่าติดในตอนเช้า เคลื่อนไหวแล้วปวด กดแล้วเจ็บ หรือเห็นข้อเข่าบวม นั่นก็แสดงว่าอาจเสี่ยง ‘โรคข้อเข่าเสื่อม’ มักพบในผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ในปัจจุบันเราจะยิ่งเห็นคนเป็นโรคนี้ในอายุน้อยและกลายเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยได้เหมือนกัน โดยคนที่เสี่ยงเป็นโรคนี้ ได้แก่ คนที่เคยบาดเจ็บที่ข้อเข่ามาก่อน คนที่มีน้ำหนักตัวมากจนข้อรับน้ำหนักไม่ไหว มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับข้อ (เกาท์ รูมาตอยด์) และคนที่ทานอาหารไม่ถูกหลักมากๆ เป็นเวลานาน

คำแนะนำ
  • ใส่ปลอกเข่าหรือหาผ้าพันพยุงเข่า แล้วใช้ไม้เท้าแชร์น้ำหนักตัวเข่าข้างที่เจ็บ
  • ใช้ถุงร้อนประคบ 15-20 นาที วันละ 2-3 ครั้ง เพื่อลดการบวม
  • เวลานอนให้ใช้ผ้าหรือหมอนหนุนใต้เข่า เพื่อไม่ให้เยื่อบุเข่าถูกบีบ

ใช้ชีวิตจน ‘ตัวตึง’ ขนาดนี้ อย่าลืมหาเวลาว่างออกกำลังกาย หากิจกรรมคลายเครียดกันบ้างนะ นอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงสู้โรคได้แล้ว ยังทำให้เรามีกำลังใจดีๆ ในทุกวันด้วย

หัวตึง - https://bit.ly/3EfPZZa
หนังท้องตึง - https://bit.ly/3Ebxfdn 
ไหล่ตึง - https://rb.gy/9zjmo 
เข่าตึง - https://rb.gy/wcl9
-->