อายุเท่าไหร่? ถึงควรเริ่มตรวจ Mammogram

“เต้านม” ของแท้ที่แม่ให้มา (หรือต่อให้บางคนจะได้มาจากหมอทีหลัง) ก็ต้องดูแลและหมั่นตรวจเช็ค ซึ่ง ดร.เอลิซาเบธ อาร์ลีโอ นักรังสีวิทยาที่เชี่ยวชาญเรื่องแมมโมแกรม วิทยาลัยแพทยศาสตร์เวลล์คอร์เนล โรงพยาบาลนิวยอร์ก เพรสไบทีเรียน และคณะได้เปิดเผยผลการศึกษาในวารสารมะเร็งว่า การตรวจแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปีระหว่างอายุ 40 - 80 ปีช่วยลดความเสี่ยงเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมลงได้ถึงร้อยละ 40 เลยทีเดียว ว่าแต่ถ้าอยากตรวจก่อน 40 ปี จะทำได้มั้ยนะ? 


 
Mammogram ชื่อนี้ดีอย่างไร 
Mammogram คือเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่มีคุณภาพ ทำงานโดยการบันทึกภาพเต้านมแบบดิจิตอล ทำให้สามารถมองเห็นภาพบนจอคอมพิวเตอร์ แพทย์ผู้ตรวจสามารถเรียกดูรูปจากหน้าจอในห้องตรวจได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาที แถมยังมีข้อดีอีกหลากหลายที่ทำให้มั่นใจได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็น
  • ภาพคมชัด สามารถแยกความแตกต่างของไขมัน และเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ของเต้านมได้ชัดเจน
  • วัดผลได้อย่างถูกต้อง และแม่นยำได้สูงถึง 90%
  • มีความปลอดภัย เพราะถูกออกแบบเพื่อให้ผู้รับบริการได้รับปริมาณรังสีต่ำ โดยสามารถลดปริมาณรังสีลงจากเดิมประมาณ 30 - 60%
  • ประหยัดเวลา โดยสามารถลดระยะเวลาในการตรวจเหลือเพียง 2 – 3 วินาที เนื่องจากไม่ต้องคอยเปลี่ยนฟิล์ม มีการบันทึกภาพเต้านมแบบดิจิตอล ทำให้สามารถมองเห็นภาพบนจอคอมพิวเตอร์ได้
 
ไหน! ใครควร (ต้อง) ตรวจ
เพราะเป็นที่รู้กันว่าโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิงนั้นมีมากกว่า นั่นจึงทำให้กลุ่มแรกที่ควรเข้ารับการตรวจคือ ผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป โดยควรเข้ารับการตรวจเต้านมเป็นประจำทุกปี หรือใครที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งมาก่อน ก็จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจเต้านมก่อนวัย 35 ปีเช่นกัน เนื่องจากพบปัจจัยเสี่ยงมากกว่าผู้อื่น รวมถึงผู้หญิงที่ไม่มีลูก หรือมีลูกคนแรกหลังอายุ 30 ปี ผู้ที่ใช้ฮอร์โมนเพศหญิงนาน เช่นเดียวกับกลุ่มคนอ้วน และผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ โดยผู้ที่จะเข้ารับการตรวจเมโมแกรมนั้น ควรจะต้องปฏิบัติตัว ดังนี้ 
 
1. ควรงดทาเครื่องสำอางหรือแป้งบริเวณต่ำกว่าคอลงมา รวมถึงสารระงับกลิ่นกายและโลชั่นบริเวณรักแร้หรือทรวงอก เพราะอาจทำให้เกิดจุดบนภาพที่ส่งผลและทำให้การวินิจฉัยคลาดเคลื่อน
2. ไม่ควรนัดตรวจในช่วงให้นมบุตรหรือเมื่อรู้สึกคัดตึงเต้านม หรือในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน เพราะจะเพิ่มความเจ็บระหว่างตรวจมากกว่าช่วงเวลาอื่น ดังนั้นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการตรวจแมมโมแกรม คือ ช่วงหลังหมดประจำเดือน
3. ในรายที่เคยตรวจแมมโมแกรมแล้ว ควรนำภาพและผลตรวจเดิมมาให้แพทย์ใช้เปรียบเทียบในการวินิจฉัยด้วย
4. หากสงสัยว่าอาจจะตั้งครรภ์ หรือมีการเสริมเต้านมต้องแจ้งเจ้าหน้าที่หรือแพทย์ก่อนตรวจทุกครั้ง
 
นอกเหนือจากการตรวจที่มีประสิทธิภาพแล้ว การเฝ้าระวังและความสม่ำเสมอในการตรวจก็เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ มะเร็งเต้านม ไม่มากวนใจ

สนใจ แพ็กเกจตรวจคัดกรองเต้านม คลิก!
-->