เคลียข้อสงสัย กับเรื่องของการ “หาว” ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

หนึ่งสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มานาน และเชื่อว่าไม่มีคนใดในโลกนี้ไม่เคยทำสิ่งนี้ นั่นก็คือการหาว ตามปกติแล้วเราเข้าใจว่าการหาว คือสัญญาณเตือนอย่างหนึ่งว่าร่างกายเราเริ่มง่วง แต่คุณเคยสังเกตหรือไม่ว่า บางครั้งที่เราเพิ่งตื่นนอนมาหยกๆ หรือกำลังขับรถอยู่ จู่ๆ ก็หาวขึ้นมา ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีอาการง่วงแต่อย่างใด หรือที่ขำกว่านั้นบางคนจัดให้การหาวอยู่ในพฤติกรรมเลียนแบบจากคนข้างๆ วันนี้ Health Addict จะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ทุกคนได้กระจ่างว่า แท้จริงแล้วการหาวเกิดขึ้นได้ยังไง



 
บังคับอะไรก็บังคับได้...แต่บังคับให้หาวไม่ได้
การหาว คืออาการที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว พูดง่ายๆ คืออยากเกิดเมื่อไหร่ก็เกิด ทำให้บางครั้งเราเองก็จะเผลอแสดงอากัปกิริยาออกมา ในรูปแบบของการอ้าปากกว้างแบบขั้นสุด โดยขั้นตอนการหาวจะเริ่มจากการหายใจเข้าก่อนเท่านั้น และยังไม่มีสถิติจากที่ใดในโลกว่ามีคนสามารถเริ่มหาวได้จากการหายใจออก เหตุผลที่การหาวต้องเริ่มจากการหายใจเข้าคือ เพื่อสูดอากาศและออกซิเจนเข้าไปปรับสมดุลในร่างกาย เพราะในห้วงขณะนั้นร่างกายหรือสถานที่รอบข้างเรามีปริมาณออกซิเจนที่น้อยเกินไป และที่สำคัญการหาวนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่เราสั่งให้เกิดขึ้นไม่ได้ และถ้าการหาวได้เริ่มกลไกขึ้นแล้ว เราเองก็จะสั่งให้หยุดไม่ได้เช่นกัน 
 
แกล้งหาว...แต่ดันหาวจริง
จากที่กล่าวข้างต้นว่า การหาวคือสิ่งที่เราไม่สามารถบังคับให้เกิดได้ บางคนอ่านมาถึงจุดนี้ก็อยากทดลองด้วยตัวเองว่าจริงหรือไม่ จริงๆ แล้วก็เคยมีคนทดลองทำพฤติกรรมแกล้งหาวเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่มีผลวิจัยหรือบทสรุปที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามก็พอสันนิษฐานคร่าวๆ ได้ว่า สำหรับการแกล้งหาว ทีแรกเราเองก็แค่อยากจะ Acting ว่าง่วงหรือเบื่อ โดยการหลับตา อ้าปากให้กว้างพร้อมกับหายใจเข้า ทีนี้พอสมองรับรู้ว่าลักษณะนี้มีความคล้ายคลึงกับการหาว ก็สั่งการมาให้ร่างกายเราหาวจริงๆ ซะเลย ประหนึ่งสมองแอบยิ้มหัวเราะกระหยิ่มใจว่า แกล้งหลอกฉันหรอมนุษย์ ได้สิพี่จะจัดให้สมใจอยาก
 
หาวเพราะง่วง...คือสิ่งที่เราคุ้นชิน
สิ่งที่เราเข้าใจมานาน คือการหาวมักจะเป็นสัญญาณเตือนว่าขณะนั้นเราเริ่มง่วง ซึ่งนั่นคือสิ่งเบสิกที่เรารู้กัน โดยบางครั้งเราลืมนึกไปเลยว่า ทำไมเราง่วงแล้วต้องหาว www.sleep.org เปิดเผยข้อมูลว่า หลังจากเราใช้ร่างกายมาตลอดทั้งวัน เมื่อถึงจุดที่ร่างกายเหนื่อยล้า และต้องการการพักผ่อน อวัยวะและระบบประสาทในร่างกายเราจะเริ่มทำงานช้าลง รวมไปถึงอัตราการหายใจเข้าออกด้วยเช่นกัน เมื่อเป็นอย่างงั้นแล้ว ร่างกายเราก็จะมีปริมาณออกซิเจนที่ไม่เพียงพอ เลยส่งสัญญาณให้ร่างกายที่กำลังเคลิ้มอยู่นั้น รีบสร้างกระบวนการรับออกซิเจนเข้าไปด้วยความเร็ว เลยเป็นผลให้เราต้องหาวเมื่อเราง่วง
 
แล้วถ้าตอนนั้นเราไม่ง่วง....ทำไมเราต้องหาว
จากจุดที่เราเข้าใจว่า การหาวมักจะมากับความง่วงอย่างเดียวนั้น จุดนี้จะพูดว่าเข้าใจผิดก็ไม่ใช่ แต่ให้ใช้คำว่าเข้าใจไม่หมดน่าจะดีกว่า เพราะอย่างที่บอกว่าการหาว จะต้องเกิดขึ้นจากการที่ร่างกายมีปริมาณออกซิเจนน้อยกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสามารถเกิดได้จากร่างกายตามธรรมชาติ และเกิดจากปัจจัยอื่นรอบข้างได้ด้วย โดยเฉพาะสถานที่ที่เราอยู่นั่นแหละ เป็นบ่อเกิดที่ทำให้เราต้องหาว ยกตัวอย่างง่ายๆ และเห็นภาพที่สุดคือตอนนั่งอยู่ในรถยนต์ ที่จู่ๆ ก็หาวขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ทั้งๆ ที่ไม่มีอาการง่วงแต่อย่างใด 
 
สำหรับคนที่มีอาการแสดงเหล่านั้น ต่อไปนี้ให้เข้าใจไว้เลยว่า ขณะนั้นเองภายในรถของคุณมีปริมาณออกซิเจนไม่เพียงพอ แม้ว่าระบบ air condition ภายในรถจะทำงานอยู่อย่างเย็นฉ่ำก็ตาม แต่นั้นไม่ได้การันตีเลยว่า ยิ่งเย็นออกซิเจนยิ่งเยอะ วิธีแก้ที่ง่ายที่สุดคือ ให้เปิดกระจกรถเพื่อรับอากาศด้านนอกไหลเวียนเข้ามาในรถบ้าง แต่ต้องมั่นใจว่าอากาศด้านนอกนั้นสะอาด บริสุทธิ์ และจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะถ้าขืนจอดรถอยู่ไฟแดงสี่แยกกลางกรุง แล้วเปิดรับอากาศเพื่อแก้การหาว สิ่งที่ได้รับเข้ามาจะกลายเป็นก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ซะมากกว่า ถึงจุดนี้นอกจากการหาวจะไม่ได้หายไป อาจเกิดโรคอื่นเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเพิ่มด้วย
 
เมื่อการหาวกลายเป็นเรื่องของอุปทานหมู่
สิ่งที่มักเกิดขึ้นพร้อมกันโดยไม่ได้ตระเตรียมมาก่อนคือ การหาวรอบวงหรือการหาวเลียนแบบ เอาจริงๆ แล้วเราเองเมื่อเห็นคนหาว ก็คงไม่มีใครอยากทำตามซักเท่าไหร่หรอก เพราะท่าทางนั้นก็ไม่ได้เป็นที่จรรโลงสายตามากนัก แต่ทำไมล่ะเราถึงต้องหาวตามคนรอบข้าง เหตุผลง่ายๆ ที่ล้อมาจากหัวข้อด้านบนคือ เมื่อคนหลายคนอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ปริมาณออกซิเจนระดับเดียวกัน ถ้าลองคนแรกได้หาวจากปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็ไม่แปลกที่คนรอบข้างจะหาวตามจากปัจจัยนั้น แต่ก็อยู่ที่ว่าใครจะแสดงอาการก่อนหลัง หรือถ้าใครมีระบบปอดและร่างกายที่แข็งแรง ก็อาจจะช่วยให้รอดรอดจากภาวะอุปทานหมู่ครั้งนั้นได้
 
ในทางกลับกัน การหาวรอบวงในเชิงจิตวิทยาก็มีปรากฏเช่นกัน โดยให้หนึ่งคนแกล้งหาวในพื้นที่ที่โปร่ง โล่ง สบาย แล้วแอบเก็บข้อมูลว่าจะมีคนหาวตามหรือไม่ สุดท้ายแล้วก็มีคนหาวตามจริงๆ นั่นก็เพราะว่ามนุษย์ถือว่าเป็นสัตว์สังคม จึงไม่แปลกที่จะมีพฤติกรรมเลียนแบบจากคนรอบข้างได้เช่นกัน 
 
คนหัวร้อน...ก็หาวได้
หัวร้อนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงคนที่เจ้าอารมณ์ หรือหงุดหงิดง่าย แต่หมายถึงคนที่ช่วงขณะนั้น สมองมีอุณหภูมิที่สูงกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดเพื่อนำมาเลี้ยงและถ่ายเทอากาศในสมองเป็นไปได้ไม่ค่อยดี สิ่งเดียวที่ทำได้คือสมองจะสั่งงานให้ร่างกายหาว โดยมีจุดประสงค์ที่ว่า ขณะหาวนั้นเราจะอ้าปากกว้างหายใจเข้าไปเต็มกำลัง และหายใจออกแบบยาวขั้นสุด เลยทำให้ความร้อนในสมองไหลฝากมาตามก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ บวกกับช่วงขณะหายใจเข้านั้นเราจะเกร็งช่วงลำคอ และจากการเกร็งนั้นเอง เส้นเลือดดำบริเวณลำคอที่กำลังหดตัวหรือกำลังอู้งานอยู่ก็จะเปิดช่องทางและเหยียดตรงมากขึ้น เลยทำให้เลือดไหลเวียนขึ้นสมองได้ง่ายขึ้น โดยถือว่าการหาวครั้งนั้น เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกถึงสองตัวเลยนะ
 
สัญญาณอันตรายเมื่อเราหาวบ่อยผิดปกติ
โดยปกติแล้วเราเองก็ไม่ค่อยสงสัยกันว่า การหาวที่ถี่เกินไป บางครั้งอาจเป็นการแจ้งเตือนว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในสมอง โดยผลการวิจัยจากวารสาร Neurosurgery and Psychiatry ระบุว่า ผู้ที่อาการหาวบ่อย อาจเกิดจากระบบประสาทในสมอง ที่ควบคุมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของมนุษย์เกิดการกดทับจากเนื้องอก ส่งผลให้เลือดและออกซิเจนที่ไหลเวียนมาเลี้ยงบริเวณนั้นไม่เพียงพอ สมองส่วนอื่นรอบข้างเลยช่วยกันทำงานโดยการสั่งการให้ร่างกายหาวเพื่อรับออกซิเจนให้มากขึ้น มาถึงจุดนี้แล้วใครที่มีอาการหาวบ่อย รวมถึงมีอาการง่วงซึม ปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งรอบตัวช้าลง ก็ลองเข้ารับการตรวจรักษาเฉพาะทางก็ดีนะ เผื่อว่าจะได้ช่วยกันแก้ไขได้ทันเวลา
 
นิ่งหรือเปล่า...เราอยู่นิ่งนานเกินไปหรือเปล่า
อีกหนึ่งสัญญานจากการหาวคือ ช่วงขณะนั้น เราทำกิจกรรมบางอย่างที่นิ่ง เครียด หรืออยู่กับที่นานเกินไป เพราะกลไกตามธรรมชาติเมื่อเรามีการขยับตัวน้อย ร่างกายทุกส่วนก็จะลดการทำงานลง ซึ่งถ้าเรานอนหลับเราก็จะไม่หาว เพราะช่วงนอนหลับนั้นร่างกายเราไม่ได้ใช้พลังงานอะไรมาก แต่ถ้านั่งนิ่งๆ แต่ไม่หลับ ทีนี้แหละร่างกายจะเริ่มสั่งการว่าเราอาจถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายและระบบประสาทกลับมาทำงานตามปกติอีกครั้ง
 
หาวจนน้ำหูน้ำมูกไหล...มีอยู่จริงนะ
อีกปฏิกิริยาตอบสนองร่วมกับการหาวคือ ส่วนใหญ่แล้วน้ำตาจะไหล รองลงมาบางคนก็อาจมีอาการน้ำมูกไหลร่วมด้วย นั่นเป็นเพราะว่า ขณะที่เราหาวนั้น กล้ามเนื้อบนใบหน้าของเราจะเกิดการหดเกร็งแบบเฉียบพลัน ยิ่งกับคนที่หาวแล้วอ้าปากกว้างนั้น จะยิ่งเพิ่มการหดเกร็งขึ้นอีก ข้อมูลจาก blog.eyeconic.com ให้ข้อมูลว่า ปกติแล้วขณะที่เราหาว กล้ามเนื้อบริเวณตาก็ปิดลงถ้าเราไม่ฝืนเกร็ง แต่ด้วยการปิดตาที่เร็วนั้น ดวงตาของเราก็กลัวว่าเลนส์ตาของเราจะได้รับบาดเจ็บจากเปลือกตาด้านในที่แห้ง เลยรีบหลั่งน้ำตาออกมาช่วยในการหล่อลื่น ส่วนสำหรับใครที่เคยหาวจนน้ำมูลไหลนั้น หลักๆ ก็มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อบริเวณบนใบหน้าหดเกร็งนี่แหละ เลยไปเพิ่มแรงดันกับกล้ามเนื้อส่วนจมูกให้เกิดการหลั่งน้ำมูกออกมา
 
เป็นยังไงบ้างกับเนื้อหาเรื่องการหาว ต่อไปนี้ถ้าเห็นใครหาวก็อย่าไปแอบเม้าท์หรือนินทาเค้าว่าไม่มีมารยาท ส่วนตัวคนหาวเองเมื่อรู้ว่าการหาวเป็นกลไกตามธรรมชาติ ก็อย่าเผลออ้าปากหวอขั้นสุด แต่ก็ควร keep look กันบ้าง ส่วนใครที่หาวถี่ หาวบ่อย หาวรัวยิ่งกว่ายิงปืนกล ก็อย่านิ่งนอนใจรีบเข้ารับการตรวจจะดีกว่า แล้วคุณล่ะ อ่านบทความนี้แล้วได้นับมั้ยว่าหาวไปกี่ครั้ง
 
-->