เช็กหน่อย! ‘ขี้ลืม’ เลเวลไหนที่อัลไซเมอร์กำลังถามหา

 
‘เดินไปที่รถว่าจะไปหยิบของ แต่พอถึงรถกลับนึกไม่ออกซะอย่างนั้นว่าจะมาหยิบอะไร จนเดินกลับมา เอ้า! นึกออกแล้ว’ รู้นะว่าหลายคนก็เคยมีอาการแบบนี้ ถึงจะมีงานวิจัยโดย Paul Frankland และ Blake Richards สองนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโทรอนโต ประเทศแคนาดา บอกว่าความขี้หลงขี้ลืมไม่ได้เกิดจากประสิทธิภาพในการเรียกคืนข้อมูลล้มเหลว แต่เป็นกระบวนการที่จะช่วยให้สมองสามารถตัดสินใจได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หรือพูดง่ายๆ ว่าสาเหตุที่คนเราขี้หลงขี้ลืมบ่อยๆ เป็นเพราะว่าสมองตัดรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่จำเป็นออกไปบางส่วน และให้ความสำคัญกับเรื่องที่จำเป็น ณ ช่วงเวลานั้นๆ มากกว่าก็ตาม แต่เมื่อเป็นบ่อยๆ เข้าก็ชักจะกลัวว่าอัลไซเมอร์จะถามหาหรือเปล่าน่ะสิ!

 
รู้ทันอัลไซเมอร์ 
อัลไซเมอร์ เป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงานหรือโครงสร้างของเนื้อเยื่อของสมองซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ โดยไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติ แต่เป็นความเสื่อมที่เกิดจาก เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดไม่ละลายน้ำ ไปจับกับเซลล์สมอง ทำให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง รวมถึงทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหายจากการลดลงของสารอะซีติลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำ นั่นจึงเป็นที่มาของอาการขี้หลงขี้ลืม
 
โดยทั่วไปอาการของโรคอัลไซเมอร์จะแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือ
ระยะแรก ผู้ป่วยจะมีความจำถดถอย ชอบถามซ้ำ พูดเรื่องเดิมๆ สับสนทิศทาง เครียด อารมณ์เสียง่ายและซึมเศร้า แต่ยังสื่อสารและทำกิจวัตรประจำวันได้ 
ระยะกลาง แสดงอาการชัดเจนมากขึ้น ความจำแย่ลง อาจมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปมาก เช่น เดินออกจากบ้านโดยไม่มีจุดหมาย หรือจากที่เป็นคนใจเย็นก็กลายเป็นขี้หงุดหงิด ก้าวร้าว และเมื่อเวลาผ่านไปก็จะไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ หรือทำกิจกรรมที่เคยทำในชีวิตประจำวันไม่ได้ รวมถึงไม่อยู่ในโลกของความจริง เช่น จินตนาการว่าจะมีคนมาทำร้ายบ่อยครั้ง
ระยะท้าย การตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างลดน้อยลง สุขภาพทรุดโทรมลงคล้ายผู้ป่วยติดเตียง รับประทานได้น้อยลง การเคลื่อนไหวน้อยลงหรือไม่เคลื่อนไหวเลย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สมองเสื่อมเป็นวงกว้าง ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ นำไปสู่การติดเชื้อและเสียชีวิตในที่สุด 


 
ขี้ลืมแบบนี้ กำลังจะมีอาการอัลไซเมอร์ หรือยัง?
ถึงแม้ว่าโรคอัลไซเมอร์จะไม่ได้มีแค่อาการขี้หลงขี้ลืม แต่จะเห็นได้ว่าอาการแรกเริ่มของโรคนี้คือ การสูญเสียความจำระยะสั้น ซึ่งเป็นอาการที่ใกล้เคียงกับภาวะความจำเสื่อมตามธรรมชาติในผู้สูงอายุ ก่อนที่จะมีอาการทางพฤติกรรมหรือทางจิตเวชร่วมด้วยเมื่อเวลาผ่านไป ถ้าอย่างนั้นลองมาเช็กตัวเองดูหน่อยดีมั้ย ว่ามีอาการลืมแบบนี้บ้างหรือเปล่า?
 
► ลืมเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน ทำให้ต้องถามย้ำอยู่บ่อยๆ ทั้งที่เพิ่งจะได้รับข้อมูลมา
► จำขั้นตอนของงานหรือกิจกรรมที่ทำเป็นประจำไม่ได้ หรือลืมบางส่วนของการทำไป 
► สับสน วัน เวลา และเส้นทาง ทั้งๆ ที่เป็นเส้นทางที่คุ้นเคย
► มีความสับสนในความสัมพันธ์ของภาพ สี เสียง ระยะทาง ที่ส่งผลต่อการขับรถ
► วางสิ่งของผิดที่ คือวางในที่ที่ไม่ควรอยู่ เช่น ลืมโทรศัพท์ไว้ในตู้เย็น
► เริ่มมีปัญหาด้านการพูด การใช้ภาษา ต้องคิดก่อนพูดนานขึ้น หรือเรียงลำดับในการใช้คำผิด 
 
นอกเหนือจากอาการลืมที่ว่ามาแล้ว สัญญาณของโรคอัลไซเมอร์ยังประกอบไปด้วย 
 
► ทำสิ่งต่างๆ ได้ไม่มีเหมือนเคย รวมถึงตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ไม่ได้
► อารมณ์และบุคลิกเปลี่ยนแปลงไป
► เริ่มแยกตัวออกจากสังคม เก็บตัว ไม่ตื่นเต้นต่อสิ่งรอบข้าง
 
 
ถ้าลองสังเกตตัวเองแล้วพบว่ามีอาการเหล่านี้ ไม่ต้องอายแนะนำว่าลองเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจโดยละเอียด เพื่อเตรียมความพร้อมและเพื่อความปลอดภัยในชีวิต
-->