เช็คก่อน รู้ก่อน! เพราะ ‘มะเร็งต่อมน้ำเหลือง’ ใกล้ตัวกว่าที่คิด

เมื่อ ‘มะเร็ง’ ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป โดยเฉพาะกับ ‘มะเร็งต่อมน้ำเหลือง’ ที่ถูกจัดอยู่ใน Top 5 ของมะเร็งที่มีโอกาสเจอได้มากที่สุดชนิดหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkin lymphoma (NHL) ซึ่งเป็นชนิดที่ในประเทศไทยพบได้บ่อยที่สุด และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Hodgkin disease (HD) ที่ส่วนมากจะตรวจเจอในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ ช่วงอายุที่ตรวจเจอมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นอยู่ที่ 20-40 ปี และตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป…เห็นมั้ย? ไม่ไกลตัวเลยใช่มั้ยล่ะ 



ทำไมต้องเช็ค…ในเมื่ออายุยังน้อย
ช่วงอายุที่มีความเสี่ยงและมีโอกาสตรวจเจอมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอยู่ระหว่าง 20-40 ปี ซึ่งอายุเริ่มต้นของช่วงนี้คือ 20 ปี โดยเฉพาะผู้ชายที่มีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง ยิ่งจำเป็นต้องตรวจ เพราะหากเราเช็คตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น จะได้ปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งอเมริกาในปี พ.ศ. 2553-2559 พบว่าอัตราการหายขาดจากโรคมะเร็งที่ 5 ปี ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Hodgkin คือ 76-94 % และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดอื่นๆ คือ 63-83 % ดังนั้นอย่าตื่นตระหนกเมื่อทราบว่าตนเองเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะที่ 3 หรือ 4 ซึ่งถ้าเจอก้อนเนื้อเร็ว ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายขาดสูงขึ้นด้วยยังไงล่ะ

ดังนั้น วันนี้เราเลยอยากมาแนะนำวิธีเช็คตัวเองเบื้องต้น เพื่อป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดย…



#1 เช็คก่อน…มีคนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองหรือไม่? 
หนึ่งของปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง คือพันธุกรรม หากมีคนในครอบครัวเคยเป็นมาก่อน คุณจะมีความเสี่ยงสูงถึง 14% ซึ่งตามสถิติทางการแพทย์นั้นถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูง...เราจึงต้องเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงนี้เป็นพิเศษ!!

#2 เช็คก่อน…มีปัจจัยเกี่ยวกับสุขภาพที่เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองหรือไม่?
หากมีการติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori การติดเชื้อไวรัส EBV หรือผู้ป่วยที่เป็นโรค SLE หรือในผู้ป่วยติดเชื้อ HIV กลุ่มโรคเหล่านี้เป็นอุบัติการณ์ที่เพิ่มสูงขึ้น

#3 เช็คก่อน…คลำเจอก้อนบ้างหรือเปล่า?
วิธีนี้ถือเป็นวิธีเช็คด้วยตัวเองคร่าวๆ ว่าเรามีก้อนเนื้อในจุดที่สำคัญๆ หรือเปล่า อย่างเช่น บริเวณคอ รักแร้ ข้อพับแขนทั้ง 2 ข้าง ขาหนีบ เต้านม และบริเวณอื่นๆ ที่อาจจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่….การคลำเจอก้อนก็อาจจะไม่ใช่มะเร็งเสมอไป อาจจะเป็นโรคอื่นๆ ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นถ้าเจอสิ่งผิดปกติเมื่อไหร่ ควรจะรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจอย่างละเอียดจะดีที่สุด

#4 เช็คก่อน…คุณมีอาการเหล่านี้อยู่มั้ย?
ส่วนใหญ่คนที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะแสดงอาการที่ต่างกันออกไป โดยอาจจะเริ่มจากมีไข้ หนาวสั่น ไอเรื้อรัง หรือต่อมทอมซิลโต บางคนอาจรู้สึกว่าหายใจไม่ค่อยสะดวก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีเหงื่อออกตอนกลางคืน อาจมีอาการคันทั่วร่างกาย หรือมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วยได้ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือในระบบประสาท

#5 เช็คก่อน…คุณทำงานที่ใช้สารเคมีที่เสี่ยงอันตรายหรือเปล่า?
ถ้าเราทำงานเป็นเกษตรกรที่ใช้สารกำจัดศัตรูพืชถือเป็นสิ่งอันตรายสำหรับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติได้มีการรณรงค์และต่อต้านการใช้สารพาราควอต สารไกลโฟเซต และสารคลอร์ไพริฟอส ซึ่งงานวิจัยที่เชื่อถือได้จำนวนมากแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของการเกิดมะเร็งกับสารกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดนี้ โดยเฉพาะ “มะเร็งต่อมน้ำเหลือง” ที่มีความเสี่ยงสูงมาก

แต่อย่าลืมว่า วิธีการเช็คตัวเองที่เราลิสต์มาให้เป็นแค่แนวทางในการประเมินตัวเองเบื้องต้นเท่านั้น ถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้น หรือเข้าข่ายสุ่มเสี่ยง เราแนะนำให้ไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อจะได้ทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดจะดีกว่า อย่าคิดว่า ‘ไม่รู้ ไม่เสี่ยง’ ยิ่งเราตรวจเจอความผิดปกติได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีโอกาสในการรักษาได้อย่างทันท่วงทีเท่านั้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อชีวิตของตัวเราและครอบครัวที่เรารักนั่นเอง
-->