เช็คสิ! คุณมีพฤติกรรม 'ดื่มน้ำมากเกินไป' หรือเปล่า?

“น้ำคือชีวิต” คำที่เราคุ้นหูกันอยู่หลายครั้งหลายคราว ซึ่งน้ำก็คือส่วนหนึ่งของชีวิตเราจริงๆ ถ้าแบ่งมวลสารส่วนประกอบต่างๆ ในร่างกายเป็น 100 ส่วน น้ำก็รวมกันเป็นมากกว่า 70 ส่วนในร่างกาย เราคงเคยได้ยินกันว่าคนเราขาดอาหารได้หลายวันแต่ขาดน้ำได้ไม่ถึง 3 วันก็อาจเสียชีวิตแล้ว ต่างกับอาหารที่อดได้มากถึงสัปดาห์เลยทีเดียว แล้วทำไมน้ำถึงมีความสำคัญกับร่างกายมากขนาดนี้กันนะ 



น้ำทำหน้าที่อะไรในร่างกาย
น้ำที่อยู่ในร่างกายมีหน้าที่เป็นตัวกลางในการทำให้เกิดปฏิกิริยาและกระบวนการทำงานต่างๆ ในร่างกาย ทั้งกระบวนการเมตาบอลิซึม กระบวนการย่อยอาหาร การดูดซึมอาหาร การขับถ่ายของเสียก็ต้องมีน้ำเพื่อช่วยให้การทำงานดีขึ้นเหมือนกับเราที่ได้ยินกันบ่อยๆ ให้ดื่มน้ำตอนเช้าจะช่วยให้การขับถ่ายช่วงเช้าดีและง่ายขึ้น และน้ำยังทำหน้าที่ช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายและรักษาระดับความเป็นกรดด่างของเลือดรวมถึงของเหลวต่างๆ น้ำที่อยู่ในร่างกาย ทำหน้าที่เยอะขนาดนี้แน่นอนว่าเซลล์ในร่างกายของมนุษย์ก็ยังมีน้ำด้วยกันถึง 2 ใน 3 ของน้ำหนักร่างกายเรียกว่าเยอะมากในระดับที่มีนัยยะสำคัญกับการมีชีวิตของเราเลยทีเดียว 

ดื่มน้ำให้ดีดื่มยังไง
เรามักจะเคยได้ยินกันว่าควรดื่มน้ำให้พอดีวันละ 8-10 แก้ว ซึ่งเรียกว่าถูกส่วนหนึ่งแต่อีกส่วนหนึ่งก็คือ การดื่มให้ได้ตามที่ร่างกายต้องการนั้นขึ้นอยู่กับกิจกรรม อายุ น้ำหนักตัวและเพศด้วยเหมือนกัน สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Academy of Sciences หรือ NAS) และสถาบันแพทยศาสตร์ (The Institute of Medicine หรือ IOM) ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า ผู้หญิงควรดื่มน้ำวันละประมาณ 2.7 ลิตรหรือ 11.5 แก้วต่อวัน และผู้ชายควรดื่มน้ำประมาณ 3.7 ลิตร หรือ 15.5 แก้วต่อวัน เรียกว่าเยอะมากกว่าที่เราคิดหรือได้ยินกันบ่อยๆ ซะอีก แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ด้วยถ้าเป็นคนชอบออกกำลังกายร่างกายก็มีการสูญเสียน้ำเยอะ หรือมีเหงื่อออกมากร่างกายก็ต้องการน้ำมากขึ้นด้วยเช่นกัน 

พฤติกรรมแบบไหนที่บอกได้ว่าน่าจะดื่มน้ำมากเกินไป
บางคนที่มีพฤติกรรมชอบดื่มน้ำ อาจจะเรียกได้ว่า “ดื่มน้ำมากเกินไป" แน่นอนว่าอะไรที่มากเกินไปก็น่าจะไม่ดีกับร่างกาย การดื่มน้ำมากเกินไปก็เช่นกันอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้เหมือนกัน แล้วเราจะรู้ได้ยังไงล่ะว่าเรากำลังดื่มน้ำมากเกินไป มาลองเช็ค 3 ลิสต์สิ่งที่ร่างกายกำลังบอกว่าดื่มน้ำมากเกินไป
 
  • # ปัสสาวะสีใส นี่คือสิ่งที่จะสามารถสังเกตได้ง่ายมากที่สุดเลยเมื่อคุณกำลังดื่มน้ำมากเกินไป ถ้าคุณได้ลองสังเกตปัสสาวะตัวเองเรามักจะเห็นสีที่ไม่เหมือนกัน บางครั้งการดื่มน้ำน้อยเกินไปปัสสาวะที่ออกมาก็จะมีสีเข้มหรือสีเหลืองออกไปทางส้มมากกว่าปกติ ถ้าดื่มน้ำกำลังพอดีเมื่อปัสสาวะออกมาก็จะมีสีเหลืองอ่อนเหมือนฟางข้าว แต่ถ้าดื่มน้ำมากเกินไปปัสสาวะที่ออกมากก็จะมีสีใสเหมือนน้ำเปล่านั่นเอง 
 
  • # กล้ามเนื้ออ่อนแรงและเป็นตะคริวง่าย  นี่คือหนึ่งในอาการของการดื่มน้ำมากเกินไป น้ำที่มากเกินไปจะเข้าไปเจือจางเลือดทำให้ระดับโพแทสเซียมในร่างกายต่ำลง จนส่งผลให้เกิดภาวะความไม่สมดุลภายในร่างกายซึ่งเป็นสาเหตุของอิเล็คโทรไลต์ไม่สมดุลด้วยเช่นกัน เมื่ออิเล็กโทรไลต์ในร่างกายไม่สมดุลร่างกายก็จะแสดงความผิดปกติให้เห็น เช่น เป็นเหน็บชาตามร่างกาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริวและอาจทำให้เกิดอาการชักขึ้นได้ด้วยเช่นกัน อย่างนักกีฬาที่ดื่มน้ำในปริมาณมากๆ ในเวลาอันรวดเร็วทำให้ระดับเกลือแร่ในร่างกายต่ำจนร่างกายแสดงความผิดปกติขึ้นมา
 
  • # เหนื่อยง่าย คลื่นไส้อาเจียนและปวดหัว อีกหนึ่งอาการที่แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการดื่มน้ำที่มากเกินไป การดื่มน้ำมากเกินไปอาจทำให้ไตทำงานหนักและอาจเกิดภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ หรือถ้าเรียกในศัพท์แพทย์ก็คือภาวะน้ำเป็นพิษ ภาวะนี้ร่างกายก็จะส่งสัญญาณความผิดปกติออกมาด้วยเช่นกันคือ อาการปวดหัวเนื่องจากอวัยวะภายในร่างกายบวมน้ำ ร่างกายอ่อนล้าจากการที่ไตต้องทำงานหนักงานในการเอาน้ำส่วนเกินไปออก รวมถึงมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

ดังนั้นการดื่มน้ำให้เพียงพอที่ร่างกายต้องการต่อวันและทำให้การดื่มน้ำเป็นกิจวัตรประจำวันจะส่งผลดีที่สุดต่อร่างกาย เวลาที่ควรดื่มน้ำคือ หลังตื่นนอน หลังอาบน้ำและหลังทานอาหาร และควรจิบน้ำระหว่างวันเพื่อให้ร่างกายสดชื่นและเติมน้ำให้ร่างกายได้นำไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด 
-->