เช็คสิ! นี่เรา Multi-tasking หรือ “สมาธิสั้น” กันแน่

หลายคนเชื่อว่าการทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกันจะช่วยให้เราทำงานได้ไวขึ้น แต่ความจริงแล้วมันอาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ดีไม่ดีการทำพฤติกรรมเหล่านี้บ่อยๆ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราเป็นโรคสมาธิสั้นได้โดยไม่รู้ตัว 

เส้นบางๆ ระหว่าง Multi-Tasking กับ Unfocused
Edward M. Hallowell จิตแพทย์ชาวอเมริกันเคยเขียนไว้ในวารสารของ Harvard Business Review ว่า คนส่วนใหญ่มักจะแยกไม่ค่อยออกระหว่างการเป็นคนที่ทำอะไรได้หลายๆ อย่าง (Multi-tasking) กับการเป็นคนสมาธิสั้น (Unfocused) เพราะมันเป็นแค่เส้นบางๆ ซึ่งเราสามารถสังเกตพฤติกรรมหลักๆ ได้ว่าคนที่มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคสมาธิสั้น จะมีลักษณะแบบนี้ นั่นก็คือคนที่ทำงานประจำของตัวเองอยู่และมักมีงานด่วนงานอื่นเข้ามาแทรกเป็นระยะๆ ซึ่งพอมีพฤติกรรมในลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ ในที่สุดก็จะหลุดโฟกัสไปเลย เรียกว่าทำได้ไม่ดีซักอย่าง

และเพื่อความมั่นใจ เรามีลิสต์พฤติกรรมที่เป็นสัญญาณเตือนมาให้คุณได้รีเช็คตัวเองว่ากำลังมีแนวโน้มเสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้นอยู่หรือเปล่า เพื่อที่จะได้หาทางป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต...ถ้าพร้อมแล้ว มาดูกันเลย!

สัญญานเตือนที่ 1: “สมองตื้อ...คิดงานไม่ออก” 
คนที่มีอาชีพนักเขียน นักวิจารณ์หรือแม้แต่การเป็นนักเรียน ต่างก็ต้องอาศัยแรงจูงใจ ความคิด ความครีเอทีฟกันทั้งนั้น คุณเคยไหมที่จู่ๆ ความคิดกลับตันสนิท มืดมิดไปหมด คิดอะไรก็ไม่ออก เขียนงานไม่ได้ ยิ่งฝืนทำแบบถูๆ ไถๆ ยิ่งรู้สึกแย่ บางคนถึงกับท้อและเข้าใจว่าตัวเองเป็นคนไม่มีความครีเอทีฟ เลยเขียนงานออกมาได้ไม่ดี หรือถึงขั้นยอมแพ้เพราะคิดว่านี่คงไม่ใช่ทางของเรา ซึ่งความจริงแล้วมันอาจจะไม่ได้แย่ขนาดนั้น คุณอาจเพียงแค่ขาดสมาธิในการทำงาน หรือสมองหลุดโฟกัสไปชั่วขณะหนึ่งก็เท่านั้นเอง 



สัญญาณเตือนที่ 2: “วิเคราะห์โปรเจคทีไร...มุดหนีแทบไม่ทัน” 
เคยสังเกตมนุษย์จอมเกี่ยงงานมั้ย? โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์ กลัวคิดไม่ออกบ้างล่ะ ขี้เกียจใช้ความคิดบ้างล่ะ เบื่อกับการต้องใช้เวลาจดจ่อกับการพินิจพิเคราะห์จนทำให้ต้องหาวิธีหลีกหนี เพราะรู้อยู่เต็มอกว่าปัญหาที่ต้องแก้นี้ ต้องใช้ทั้งเวลาและความคิดอยู่นานพอสมควร เลยทำให้คนแบบนี้พยายามที่จะหนีให้สุดทาง ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดสมาธิสั้น  เพราะฉะนั้นบางครั้งที่เราเริ่มเลี่ยงงานประเภทนี้ อาจไม่ใช่เพราะเราเป็นคนขี้เกียจ แต่เรากำลังเริ่มขาดสมาธิจนไม่สามารถโฟกัสกับงานที่ได้รับมอบหมายได้จนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ต่างหาก 



สัญญาณเตือนที่ 3: “ยังไม่ทันข้ามวันเลย..ลืมอีกแล้ว” 
งานวิจัยเผยว่า หนึ่งอาการที่เห็นได้ชัดของคนเป็นโรคสมาธิสั้น คือการหลงลืมตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องของการจัดลำดับความสำคัญ เคยสังเกตไหมว่า บางครั้งที่เราวางของไว้ในที่จุดหนึ่ง แต่พอกลับมาเอาอีกทีก็ลืมซะสนิท เสียเวลาตามหาสิ่งของนานเป็นวัน  หรือบางทีจดบันทึกเอาไว้เพราะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ดันลืมอีกว่าจดไว้ที่ไหน  ถ้าคุณมีอาการแบบนี้แล้วละก็ ห้ามละเลยเป็นอันขาด รีบหาวิธีฟื้นความจำ และจัดลำดับความสำคัญให้ดีทันที 



สัญญาณเตือนที่ 4: “รู้ตัวอีกที พรุ่งนี้ก็เดทไลน์แล้วนะ” 
ความเครียดและความกดดันเป็นอีกสองสิ่งที่ส่งผลต่อการเกิดโรคสมาธิสั้น ขาดความมุ่งมั่นในการผลักดันให้งานไปถึงเป้าหมายได้ก่อนกำหนด จนเกิดเป็นภาวะ “ดินพอกหางหมูแบบขั้นวิกฤต” จนงานที่ดองไว้กองทัพตายคาที่ เพราะไม่สามารถที่จะเคลียได้ทัน เมื่อไหร่ที่รู้ตัวว่าเรากำลังเป็นคนแบบนี้  อย่าปล่อยให้สิ่งนี้ค้างคาเด็ดขาด เพราะนอกจากจะทำให้คุณดูไม่เป็นมืออาชีพแล้วในการทำงานแล้ว ยังอาจส่งผลต่อการจัดลำดับความสำคัญในชีวิตส่วนตัวได้อีก ทั้งการดูแลสุขภาพและการวางแผนชีวิตด้านอื่นๆ 



สัญญาณเตือนที่ 5: “โอ๊ย! น่ารำคาญจริง” 
คนที่สมาธิสั้นมักหมกมุ่นอยู่กับความรู้สึกของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไหนจะรู้สึกเบื่อ ไหนจะรู้สึกรำคาญบางสิ่งบางอย่างแบบไร้เหตุผล จนบางครั้งคนรอบข้างก็งงกับอารมณ์ที่แปรปรวนของคุณ ลองสังเกตดูว่าถ้าเมื่อไหร่เริ่มรู้สึกตัวว่าหงุดหงิดง่าย เห็นเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่ตลอดเวลา ดราม่าง่าย เครียดง่าย ระวังไว้ให้ดี เพราะคุณอาจจะไม่ได้แค่เสี่ยงว่าจะเป็นโรคสมาธิสั้นเท่านั้น แต่โรคซึมเศร้าก็อาจจะถามหาได้ด้วยเหมือนกัน 



เป็นยังไงกันบ้าง มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงกันไปกี่ข้อ เอาเป็นว่าเมื่อไหร่ที่รู้ตัวว่าเริ่มมีอาการผิดปกติ วีนเหวี่ยงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แล้วก็ยังไม่ใช่วันนั้นของเดือนด้วยแล้วล่ะก็ ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางแก้ไขให้เร็วที่สุดจะดีกว่า   




 
-->