เทคฮอร์โมนแล้วบริจาคเลือดไม่ได้ เพราะอะไรกันแน่



จากประเด็นร้อนแรงเรื่อง “เทคฮอร์โมนแล้วไม่สามารถบริจาคเลือดได้” แม้ว่าเลือดในคลังยังคงขาดแคลนเป็นจำนวนมากก็ตาม หลายคนอาจสงสัยว่าการเทคฮอร์โมนส์เกี่ยวข้องอะไรกับการบริจาคเลือด? วันนี้ รศ.ดร.นพ.อติวุทธ กมุทมาศ แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ทางเพศ โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์ จะมาเฉลยข้อสงสัยนี้ให้เข้าใจกันชัดๆ




เหตุผลที่คนเทคฮอร์โมนห้ามบริจาคเลือด
“เพราะการได้รับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในปริมาณสูงๆ อาจทำให้มีผลแทรกซ้อนในผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์และทารกได้ อย่างในทรานส์แมน (Transman) หรือคนข้ามเพศที่ต้องการข้ามจากหญิงมาเป็นชาย จำเป็นจะต้องได้รับเทสโทสเตอโรนปริมาณสูงเพื่อข้ามเพศ ซึ่งตัวฮอร์โมนที่ใช้สำหรับข้ามเพศนี้จะมีส่วนผสมของเสตียรอยด์อยู่ด้วย โดยปกติแล้วการจัดหาเลือดจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งผู้บริจาคและผู้ป่วยที่รับเลือดเป็นสำคัญ ฉะนั้นจึงต้องมีการคัดเลือกคนที่มีสุขภาพดีและไม่ได้รับการรักษาเป็นประจำด้วยยาชนิดใดชนิดหนึ่ง การเทคฮอร์โมนจึงกลายเป็นหนึ่งในข้อห้ามเช่นกัน” 

จะบริจาค ต้องงดการเทคฮอร์โมนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ 
“สำหรับคนที่ต้องการบริจาคเลือด จะต้องงดการเทคฮอร์โมนมาก่อนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ซึ่งในกรณีของคนที่ต้องการข้ามเพศ จำเป็นจะต้องเทคฮอร์โมนอย่างต่อเนื่องห้ามขาดช่วง ไม่อย่างนั้นอาจทำให้การข้ามเพศหยุดชะงักหรือไม่สำเร็จได้”

ด้วยกฎเกณฑ์ในการคัดกรองผู้บริจาคเลือดของสภากาชาดไทย แม้ว่าคนที่เทคฮอร์โมนจะยังไม่สามารถช่วยเหลือด้วยการบริจาคเลือดได้ แต่อีกหนึ่งวิธีที่เราจะสามารถช่วยได้คือการกระจายข่าวสารเกี่ยวกับการรับบริจาคเลือดเพื่อให้เกิดการรับรู้มากขึ้น อย่าลืมบอกต่อและรณรงค์ให้ผู้ที่มีความพร้อมไปบริจาคเลือดกันนะ 


 
-->