เทคโนโลยีรักษานิ้วล็อค ‘ปลายเข็มสะกิด’ หายได้ไม่ต้องผ่าตัด



สำหรับใครที่ชอบไถหน้าจอสมาร์ทโฟนชิทแชททั้งวัน รัวนิ้วบนแป้นพิมพ์ด้วยท่าเดิม คลิกเม้าส์เป็นเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนิ้วมือเมื่อยล้าจนเกิดปัญหา “โรคนิ้วล็อค” วันนี้ นพ.นรฤทธิ์ ล้วนจำเริญ แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพญาบาลพญาไทนวมินทร์ จะมาพูดคุยถึงโรคนิ้วล็อคให้ชาว Health Addict ได้หายสงสัย อะไรที่เป็นปัจจัยเสี่ยง? อาการเตือนเป็นยังไง? ไปจนถึงวิธีรักษาที่ช่วยให้หากจากโรคนิ้วล็อคได้แบบไม่ต้องผ่าตัด




โรคนิ้วล็อคคืออะไร?
นิ้วล็อค (Trigger Finger) เป็นอาการที่เมื่องอนิ้วแล้วไม่สามารถกลับมาเหยียดตรงได้ง่าย เกิดจากการอักเสบและการหนาตัวของปลอกเอ็นกล้ามเนื้อที่นิ้ว ทำให้เอ็นและกล้ามเนื้อที่อยู่ภายในปลอกไม่สามารถยืดหดได้ตามปกติ จนนิ้วก็เกิดการล็อคและไม่สามารถกลับมายืดตรงได้ตามปกติ 

ใครที่มีโอกาสเสี่ยง?
โรคนิ้วล็อคมักพบในคนที่มีอายุระหว่าง 40-60 ปี โดยเฉพาะมือที่ผ่านการใช้งานมาเยอะ คนที่ใช้งานมือหนักหน่วงอย่างอาชีพแม่บ้าน หรือวัยรุ่นวัยทำงานที่ใช้งานมือหนัก ถือของหนัก หรืออาจไม่ได้ใช้หนักแต่เป็นกิจกรรมที่ใช้มือซ้ำบ่อยๆ เช่นเล่นโทรศัพท์ พิมพ์งาน เขียนหนังสือ ก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นนิ้วล็อคได้เช่นกัน

รู้ทัน! สัญญาณเตือน “นิ้วล็อค”
โรคนิ้วล็อคจะมีอาการเริ่มต้นคือ “อาการปวด” ซึ่งเป็นจุดปวดเฉพาะ บริเวณโคนนิ้วมือฝั่งด้านหน้าฝ่ามือหลังจากมีการใช้งานมืออย่างหนัก หรือเริ่มมีอาการสะดุดเวลากำมือ-แบมือ หากมีอาการแบบนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อรักษา ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้จนเรื้อรังเพราะอาจทำให้ปลอกหุ้มเส้นเอ็นนิ้วมือเสียหายถาวร...แบบที่ว่าแม้จะรักษาด้วยการผ่าตัดก็อาจไม่ได้ผลดีเท่าทีควร ซึ่งอาการของโรคนิ้วล็อค แบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้

ระยะ 1  มีอาการปวดโคนนิ้วมือ เจ็บหรือบวมแดงนิดหน่อยจากการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นกล้ามเนื้อ ยังไม่ถึงขั้นนิ้วล็อค 
ระยะ 2  อาการเริ่มชัด คือมีการสะดุด มีเสียงกึกเวลากำมือ-แบมือ รู้สึกว่ามันไม่สมู้ทแต่ก็ยังไม่ถึงกับล็อค
ระยะ 3  เริ่มมีอาการสะดุดมากขึ้น เวลากำมือแล้วนิ้วล็อค ไม่สามารถเหยียดนิ้วออกมาได้ ต้องใช้มืออีกข้างช่วยงัดขึ้นมา 
ระยะ 4  ถ้าปล่อยให้มีอาการนิ้วล็อคไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้รักษา นิ้วอาจล็อคแข็งจนไม่สามารถเหยียดได้สุด และไม่สามารถกำนิ้วมือได้ 

ปลดล็อคนิ้ว...ด้วยการรักษา
คุณหมอเล่าให้ฟังว่าคนไข้ส่วนใหญ่ที่เข้ามารักษา มักจะมีอาการในระยะที่ 2-3 แล้ว เพราะในระยะที่ 1 จะเป็นอาการปวดซึ่งไม่ได้แสดงอาการนิ้วล็อคอย่างชัดเจน ซึ่งหากใครที่รู้ตัวเร็วและมารักษาในระยะแรกๆ ก็จะสามารถรักษาให้หายได้ง่ายกว่า โดยเริ่มจากการให้คนไข้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรืออาจมีการจ่ายยาลดอักเสบเป็นระยะสั้นๆ แต่หากอาการรุนแรงมากและยังไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องฉีดยาสเตียรอยด์หรือผ่าตัด 

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่แค่ได้ยินคำว่าผ่าตัดแล้วแทบจะเป็นลม...ในปัจจุบันยังมีอีกหนึ่งเทคนิคการรักษาโรคนิ้วล็อคที่เรียกว่า “ปลายเข็มสะกิด” ซึ่งไม่ใช่การผ่าตัด และใช้เวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้น! 

เทคนิค “ปลายเข็มสะกิด” รักษานิ้วล็อคได้ ไม่ต้องผ่าตัด!
สมัยนี้มีเทคนิคการรักษาโรคนิ้วล็อคทีเรียกว่า ปลายเข็มสะกิด โดยแพทย์จะใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์เพื่อความแม่นยำนำทางไปยังบริเวณที่มีอาการ และใช้ปลายเข็มสะกิดบริเวณปลอกหุ้มเอ็นนิ้วเพื่อตัดปลอกหุ้มที่รัดเส้นเอ็นให้ขาดออกจากกัน เพื่อรักษาโรคนิ้วล็อคและทำให้ไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก เทคนิคปลายเข็มสะกิด ใช้เวลาเพียง 5 นาที และนิ้วมือก็สามารถโดนน้ำได้ตามปกติหลังการรักษา 24 ชั่วโมง ต่างจากการผ่าตัดแบบเดิมที่ต้องเปิดแผล ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 1 ชั่วโมง และแผลห้ามโดนน้ำนาน 10-14 วัน 


ใครที่เริ่มมีอาการปวดโคนนิ้ว นิ้วตึง ข้อนิ้วยึดติด ให้รู้เอาไว้เลยว่านี่แหละความผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคนิ้วล็อค รีบไปรักษาแต่เนิ่นๆ จะดีกว่า แต่สำหรับใครที่กำลังมีปัญหานิ้วล็อคเรื้อรังไม่ว่าจะรักษาด้วยการกินยาก็แล้ว ฉีดสเตียรอยด์ก็แล้วแต่ก็ยังไม่หายขาด ปลายเข็มสะกิดถือเป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาที่ได้ผลดีและใช้เวลารวดเร็ว ลองดู แพ็คเกจสกิดนิ้วล็อค โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์ ช่วงนี้เขามีโปรโมชั่นลดราคาเอาใจชาวล็อคอยู่ด้วย! ตั้งแต่วันนี้ - 31 ธันวาคม 2563


 
-->