เปิดความจริง! ทำไมเราต้อง 'ตรวจสุขภาพ' ทุกปี

“ขนาดรถยังต้องเข้าอู่ แล้วร่างกายเราจะไม่ดูแลได้ยังไง” ยิ่งถูกใช้งานแบบไม่มีวันหยุดพัก ถ้าขืนยังไม่ดูแลให้ดี ขอเตือนก่อนเลยว่าพระจะต้องลงโทษอย่างหนัก ด้วยสารพัดปัญหาสุขภาพที่ตามมา เพราะฉะนั้นทางที่ดี...กว่า คือการดูแล ป้องกัน และรักษาให้ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ด้วย “การตรวจสุขภาพประจำปี” ซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้รู้ว่าตอนนี้มีเชื้อโรคอะไรที่แอบซุกซ่อนอยู่ในร่างกายบ้าง เพื่อจะได้จัดการได้ทันเวลาก่อนที่จะมาทำร้ายเรา



“ตรวจสุขภาพประจำปี” ดียังไง
ในยุคที่เชื้อโรคตีวงเข้ามาประชิดอยู่รอบด้าน และการดูแลตัวเองอย่างดี มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินแต่อาหารที่มีประโยชน์ พร้อมทั้งนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าจะไม่มีโรคภัยถามหา เพราะขนาดมั่นใจว่าดูแลตัวเองอย่างดีแล้วแท้ๆ แต่เชื้อโรคก็ยังแฝงเข้ามาอยู่ในร่างกายจนได้ แถมที่ร้ายไปกว่านั้นยังไม่แสดงอาการ จนเมื่อรู้ตัวอีกทีก็เกือบที่จะสายไป ดังนั้นการตรวจสุขภาพ จึงเป็นเหมือนเกราะวิธีการป้องกัน เพราะช่วยให้เราพบความผิดปกติของร่างกายได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะยิ่งทำการรักษาได้ง่าย และมีโอกาสหายสูงกว่า  โดยการตรวจสุขภาพทั่วๆ ไปจะประกอบด้วย
  • การวัดความดันโลหิต ชีพจร อัตราการหายใจ วัดส่วนสูง ชั่งน้ำหนัก การตรวจเลือด เพื่อดูระดับน้ำตาล ระดับไขมัน การทำงานของไต การทำงานของตับ เป็นต้น
  • การตรวจเอ็กซเรย์ทรวงอก การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง การตรวจปัสสาวะ
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสำหรับผู้หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไป 
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้หญิงวัย 40 ปีขึ้นไป 
  • การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง สำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย 

ตรวจสุขภาพตามวัย...ปลอดภัย รู้ (รักษา) เร็ว
เพราะแต่ละช่วงอายุต่างก็มีความเสี่ยง หรือปัจจัยในการเกิดโรค ที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ลิสต์รายการตรวจสุขภาพประจำปี จึงแตกต่างกันไปด้วย คือ
วัยเด็ก จะเป็นการตรวจร่างกาย เพื่อดูการเจริญเติบโตและคัดกรองพัฒนาการเป็นหลัก รวมถึงการฉีดวัคซีนตามช่วงอายุ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันการเกิดโรคต่างๆ
วัยทำงาน หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 18 - 60 ปี จะเป็นการตรวจร่างกาย เพื่อค้นหาความเสื่อมของอวัยวะและโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยจะมีการซักประวัติ เพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการคัดกรองหาความเสี่ยงโรค โดยเฉพาะบางโรคที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน ร่วมกับศึกษาพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกาย กินอาหารไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด เพื่อประเมินการตรวจที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น
วัยผู้สูงอายุ เมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป อวัยวะต่างๆ ก็ย่อมมีความเสื่อมมากขึ้น ดังนั้นการตรวจสุขภาพในช่วงวัยนี้จึงต้องหมั่นตรวจเป็นประจำทุกปี โดยเพิ่มรายละเอียดนอกเหนือจากการตรวจสุขภาพทั่วไป เช่น การทำงานของหัวใจ ไต สมอง อัลตร้าซาวด์ช่องท้อง รวมทั้งตรวจหาความเสี่ยงของโรคมะเร็งต่างๆ เช่น การส่องกล้องสำไส้ใหญ่

สิ่งนี้ที่รู้ได้จากการตรวจสุขภาพ
การตรวจสุขภาพเป็นประจำ ก็ไม่ต่างอะไรกับการเตรียมความพร้อมรับมือต่อโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเข้ามาจู่โจมได้ทุกเมื่อ เพราะจะทำให้เราสามารถรู้ได้ว่า...
  • สภาพร่างกายและระบบต่างๆ ภายใน ยังทำงานได้ปกติดีหรือไม่
  • เมื่อมีความผิดปกติ หรือมีภาวะเสี่ยงที่จะเกิดโรค ก็จะสามารถดูแลและหาทางป้องกัน เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคร้ายแรง โดยเฉพาะผู้ที่มีพฤติกรรมทำลายสุขภาพ  ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ จึงจำเป็นต้องดูแลและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
  • มีโอกาสหายขาด หากตรวจพบโรคในระยะเริ่มต้นและรีบทำการรักษา รวมทั้งหากเป็นโรคเรื้อรัง ก็จะช่วยป้องกันให้ไม่ลุกลาม ทั้งยังสามารถควบคุมและป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้ดีกว่า
  • ได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับแต่ละคน

ในเมื่อเชื้อโรคโจมตีไม่มีวันหยุดพัก ก็ต้องติดอาวุธ (ให้ร่างกาย) ไว้ป้องกันตัวบ้าง สนใจ แพกเกจตรวจสุขภาพ คลิก !
-->