เปิดลิสต์ 'โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์' ที่ไม่ควรละเลย

“คนไม่มีคู่ไม่รู้หรอก!” ก็แน่ล่ะ เพราะโรคหลายโรคก็ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถึงแม้จะมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร PLoS Biology โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในสหรัฐฯ พบหลักฐานว่า เชื้อแบคทีเรียชนิดที่มักพบในช่องปากคนเราซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคเหงือกและคราบหินปูน อาจทำให้เกิดสภาวะที่เหมาะสมต่อการเกิดโรคช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (bacterial vaginosis หรือ BV) นั่นแปลว่าโรคดังกล่าวอาจไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ถึงอย่างนั้นเชื้อแบคทีเรียจากการทำออรัลเซ็กส์อาจทำให้เกิดโรคช่องคลอดอักเสบ BV ได้อยู่ดี แบบนี้ต้องมาเช็กกันหน่อยแล้วว่ามีอะไรที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่อาจปล่อยผ่านได้บ้าง



เช็กสิ! โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีอะไรบ้าง
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือโรคที่ติดเชื้อ และแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งจากการร่วมเพศทางช่องคลอด ทางปาก หรือทวารหนัก ซึ่งสิ่งที่เป็นปัญหากว่าการเป็นโรคคือ คนไข้ส่วนใหญ่มักอายที่จะเข้ารับการรักษา จนเป็นเหตุให้โรคนั้นรุนแรงลุกลามกว่าที่ควร ซึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้น ได้แก่
  • เชื้อราในช่องคลอด
เกิดจากเชื้อรา แคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida Albicans) โดยปกติเป็นเชื้อที่อยู่ในช่องคลอดโดยไม่ทำให้เกิดโรค แต่ถ้าร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ได้รับยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน หรือมีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคเอดส์ หรือมีภาวะอับชื้นบริเวณอวัยวะเพศเป็นเวลานานๆ ก็จะทำให้เชื้อรามีปริมาณมากขึ้นจนก่อโรคได้
  • หนองใน
เกิดจากเชื้อหนองใน (Neisseria Gonorrhoeae) หรือเชื้อแบคทีเรียที่เติบโตได้ดีในที่ชื้น และที่อบอุ่นของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ตั้งแต่ปากมดลูก มดลูก ปีกมดลูก ท่อปัสสาวะ (ทั้งหญิง และชาย) นอกจากนี้หนองในยังสามารถเจริญในที่อวัยวะอื่นๆ เช่น เยื่อบุช่องปาก คอ ตา ทวารหนัก เกิดได้จากการสัมผัสเยื่อบุช่องคลอด ช่องปาก ทวารหนัก องคชาต (อวัยวะเพศชาย) โดยอาจมี หรือไม่มีการหลั่งน้ำอสุจิ และยังสามารถติดจากมารดาสู่ทารกในระหว่างการคลอดได้
  • ซิฟิลิส
เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้เกิดเฉพาะอวัยวะสืบพันธุ์เท่านั้น แต่สามารถเป็นได้ทุกแห่งของร่างกาย เช่น ลิ้น มือ แขน ขา รวมทั้งระบบประสาทหัวใจ เส้นเลือด ตา กระดูก ฯลฯ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ทรีโพนีมา พัลลิดุม (Treponema Pallidum) เป็นแบคทีเรียที่มีขนาดใหญ่ รูปร่างคล้ายเกลียวสว่าน ซิฟิลิสสามารถติดต่อโดยการร่วมเพศ ซึ่งเชื้อจะเข้าทางรอยถลอกหรือบาดแผลเล็กน้อย หรืออาจไชเข้าเยื่อบุผิวของท่อปัสสาวะ ทวารหนัก ช่องคลอด หรือ ช่องปาก
  • เอดส์ หรือ AIDS (Acquired Immune Deficiency Syndrome)
โรคร้ายที่เราเคยได้ยินมาแต่ไหนแต่ไร เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอดส์ (HIV) ซึ่งจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นแหล่งสร้างภูมิคุ้มกันโรคทำให้ติดเชื้อโรคอื่นๆ ได้ง่าย และเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต



ปลอดภัยกว่าถ้า “ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน” 
เพราะการแต่งงานถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างครอบครัว ซึ่งหากว่าเริ่มต้นดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง ซึ่ง “การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน” ก็ถือเป็นการเตรียมความพร้อม เพราะนอกจากจะเป็นการป้องกันการติดต่อโรคสู่คนรักแล้ว ยังเช็กความพร้อมของว่าที่คุณแม่ และดูแลความปลอดภัยของลูกน้อยด้วย เนื่องจากแพทย์จะทำการตรวจหาความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมที่อาจจะส่งผลต่อการมีบุตรในอนาคต เพื่อการวางแผนการใช้ชีวิตคู่และการมีบุตรอย่างปลอดภัยไร้กังวล ซึ่งประกอบด้วยการตรวจ ดังนี้
  • ตรวจกรุ๊ปเลือด เพื่อให้ทราบว่ามีเลือดกรุ๊ปใด เพื่อสะดวกในกรณีที่ต้องการเลือดฉุกเฉิน
  • ตรวจชนิดของเลือด (Rh Factor) เพื่อดูเลือดของว่าที่คุณแม่ ว่าเมื่อตั้งครรภ์แล้วจะมีความเสี่ยงต่อการแท้งลูก หรือมีปัญหาต่อลูกในครรภ์หรือไม่
  • ตรวจหาความผิดปกติของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ที่เป็นสาเหตุของโรคธาลัสซีเมีย เนื่องจากเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งหากพ่อและแม่เป็นพาหะก็มีโอกาสส่งผลกระทบต่อลูกน้อยได้
  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
  • ตรวจหาภูมิคุ้มกันและไวรัสตับอักเสบบี สามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ และมีผลต่อลูกในครรภ์
  • ตรวจหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน หากไม่มีภูมิ ควรฉีดวัคซีนและคุมกำเนิดไว้อย่างน้อยสามเดือน เพราะหากติดเชื้อในระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้ลูกน้อยพิการหรือเกิดภาวะแท้งได้
  • ตรวจหาเชื้อไวรัส HIV (เอดส์) หากพบเชื้อ ต้องป้องกันการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และต้องรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส เพื่อป้องกันการติดเชื้อฉวยโอกาส หากต้องการมีบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์
  • ตรวจหาเชื้อซิฟิลิส หากพบเชื้อสามารถรักษาให้หายขาดได้
  • ฝ่ายหญิงควรตรวจภายใน มะเร็งปากมดลูก และอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนล่างร่วมด้วย แต่ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์
เห็นไหม...ใครว่าคนมีคู่น่าอิจฉาไปซะหมด งานนี้คงต้องจูงมือกันไปตรวจสุขภาพกันสักหน่อยแล้ว

สนใจ แพ็กเกจตรวจสุขภาพ คลิก! 
-->