เพียงแค่เราหลับฝัน...ก็ช่วยให้ความทรงจำดีขึ้นได้

 
การนอน ถือว่าเป็นหนึ่งกิจวัตรที่จำเป็นมากต่อการดำรงชีวิต มากไปกว่านั้นคุณรู้หรือไม่ว่า การนอนในแต่ละครั้ง นอกจากจะวัดคุณภาพการนอนจากการหลับลึกแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่นำมาวัดคุณภาพการนอนได้อีกคือการหลับฝัน มาถึงจุดนี้อย่าเพิ่งตกใจไป สำหรับใครที่นึกได้ว่าไม่ได้หลับฝันมานานมาก เพราะที่จริงแล้วถ้าไม่อยู่ในภาวะที่นอนน้อยมากจริงๆ เราจะต้องมีภาวะหลับฝันกันทุกครั้ง แต่จะจำความฝันได้หรือไม่ได้นั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 


 
วันนี้ Health Addict จะมาแถลงให้กระจ่าง ว่าด้วยเรื่องการนอนหลับฝันช่วยเพิ่มความทรงจำให้ดีได้ยังไง รับรองเลยว่าพออ่านจบ จะต้องร้องว้าวไปตามๆ กันอย่างแน่นอน
 
ระหว่างการนอน...ระบบประสาทเรามีกลไกการทำงานอย่างไร
ข้อมูลจากนายแพทย์ชาญสิริ เสกสรรค์วิริยะ ผู้เชี่ยวชาญด้านหูคอจมูก อนุสาขาเวชศาสตร์การนอนหลับ โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี อธิบายว่า การนอนหลับของคนทั่วไปจะมี 3 ระยะ ได้แก่ ระยะการนอนหลับตื้น ระยะหลับลึก และระยะการหลับฝัน โดยทั้ง 3 ระยะนี้จะเกิดขึ้นทั้งหมด ใน 1 วงจรของการนอนหลับ โดยการนอนของคนเราคืนหนึ่ง ควรมีประมาณ 4-6 วงจร เพื่อให้ร่างกายพักผ่อนอย่างเต็มอิ่ม พร้อมสำหรับการทำงานในวันถัดไป
 
มากไปกว่านั้นจากการที่คนบางกลุ่มเข้าใจว่า ระหว่างการนอนในแต่ละครั้งนั้น สมองของคนจะหยุดการทำงานเพื่อเข้าสู่โหมดพักผ่อน อันที่จริงแล้วความเข้าใจนี้เป็นการเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิง เพราะสมองของเราคร่าวๆ จะแบ่งการทำงานเป็นสองส่วน คือส่วนที่ควบคุมระบบประสาทตอนตื่นและตอนนอน ดังนั้นตอนที่เรานอนนั้น ถึงแม้สมองส่วนที่ควบคุมร่างกายตอนตื่นจะค่อยๆ ชะลอการทำงาน แต่สมองที่ควบคุมระบบประสาทเรื่องการนอนจะตื่นขึ้นและทำงานสลับกัน เสมือนเวรยามที่คอยผลัดเปลี่ยนกันออกมาทำหน้าที่ เพื่อควบคุมระบบการทำงานของร่างกาย
 
ที่น่าว้าวกว่านั้นคือ ระหว่างที่เราอยู่ในห้วงแห่งนิทรานั้น ดวงตาของเราเป็นอวัยวะหนึ่งที่ยังทำงานอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดพัก ทำงานในที่นี้หมายถึงดวงตาของเราจะมีการเคลื่อนไหวไปมา โดยแบ่งได้ 2 ระยะคือ ในช่วงที่เราเริ่มล้มตัวลงนอน และร่างกายเริ่มอยู่ในช่วงที่หลับ ตาของเราจะมีการเคลื่อนไปมาซ้ายขวาช้าๆ หรือที่เรียกว่า Non-Rapid Eye Movement (NREM) หรือเรียกสั้นๆว่า ระยะ N ซึ่งเป็นระยะที่จะยังไม่เกิดความฝัน ซึ่งอาจแบ่งระยะการนอนหลับชนิดนี้ได้เป็นระยะหลับตื้นและระยะหลับลึก ในทางกลับกันถ้าการนอนของเราเริ่มเข้าสู่ระยะหลับฝัน ดวงตาของเราจะขยับไปมาเร็วขึ้น หรือที่เรียกว่า Rapid Eye Movement (REM) ดังนั้นต่อไปนี้ถ้าเห็นใครนอนหลับแล้วตาเค้ายังขยับไปมา ก็อย่าไปใส่ร้ายหรือเหมารวมว่าเค้าแกล้งหลับอีกนะ
 
ถ้าคนเรานอนหลับฝันจริง...ทำไมบางคนถึงจำความฝันได้แต่บางคนกลับจำไม่ได้
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าการนอนนั้นแบ่งออกเป็น 3 ระดับ โดยเมื่อคิดเป็นอัตราเปอร์เซ็นต์ให้เห็นภาพยิ่งขึ้นคือ ตลอดทั้งคืน คนปกติจะใช้เวลาในการนอนหลับลึกนั้นคิดเป็นประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการนอนหลับฝันนั้นคิดเป็นอัตรา ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ของการนอนทั้งหมด โดยเมื่อเริ่มเข้าสู่ห้วงภวังค์ช่วงครึ่งแรกของคืนนั้น เราจะเข้าสู่โหมดหลับลึกได้มากและนานกว่า ในทางกลับกัน เราจะเข้าสู่โหมดหลับฝันได้มากและนานกว่าในช่วงหลังของการนอน นั่นเป็นเหตุผลให้ทำไมคนส่วนใหญ่ มักจะตื่นมาในช่วงรุ่งเช้าพร้อมกับความฝัน 
 
มาถึงจุดนี้หลายคนก็ยังค้านในใจว่า ตัวเองไม่ได้หลับฝันมานาน เพราะไม่ว่าจะตื่นในช่วงเวลาไหนก็จำความฝันไม่ได้เลย มาถึงจุดนี้เราก็ขออธิบายเพิ่มว่า ถ้าเราตื่นขึ้นไม่ว่าจะด้วยมีคนปลุก หรือเราตื่นขึ้นเองในช่วงที่เราอยู่ในโหมดหลับฝัน เราก็จะจำความฝันได้ แต่ถ้าเราสะดุ้งตื่นในโหมดหลับตื้นหรือหลับลึก เราก็จะจำไม่ได้ว่าเราฝันอะไรไปเมื่อเวลาก่อนหน้า
 
การนอนหลับฝันนั้นมีประโยชน์อะไร
สิ่งหนึ่งที่มนุษย์อย่างเราๆ คุ้นชินกับความฝันคือ การฝันส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องราวต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตเรา ไม่ว่าจะเป็นความคิด ความรู้สึก ประสบการณ์ในระยะสั้นหรือระยะยาว  ซึ่งถ้าเรื่องราวไหนที่เราได้หวนนึกถึงบ่อยเป็นพิเศษระหว่างที่ใช้ชีวิตในช่วงตื่น เรื่องราวนั้นก็มักจะเกิดขึ้นอีกครั้งในความฝัน เพราะจริงๆ แล้วการนอนฝันนั้น คือระยะที่สมองทบทวนเรื่องราวต่างๆ คล้ายการฉายหนังซ้ำๆ และทำการบันทึกเป็นความทรงจำในระยะยาว จนในที่สุดสมองเราก็จะรับรู้ว่า ถ้าเราฝันเรื่องไหนบ่อยที่สุด แสดงว่านั่นคือเรื่องที่สำคัญ ความทรงจำนั้นจะถูกบันทึกลงสุดก้นบึ้งของสมองโดยทันที ทำให้บางครั้งที่เราเคยสงสัยว่า เรื่องดีดีทำไมไม่จำ แต่เรื่องที่เจ็บช้ำถึงจำได้ดี นั่นก็เป็นเพราะเราคอยย้ำคิดย้ำทำ จนเราหลับฝันเรื่องนั้นบ่อยๆ ยังไงล่ะ

เห็นรึยังว่าคำสอนของผู้ใหญ่ที่ได้พร่ำสอนว่าถ้าอยากเรียนหนังสือเก่งๆ ต้องนอนให้อิ่มนั้นเป็นเรื่องที่จริง เพราะเมื่อการนอนของเราเข้าไปแตะโหมดการนอนหลับฝันได้จำนวนครั้งมากเท่าไหร่ นอกจากร่างกายเราจะมีความพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในวันถัดไปแล้ว ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการยิงปืนเพียงนัดเดียวคือ เราจะได้ทบทวนบทเรียน และเรื่องราวต่างๆ ไว้ โดยที่เราไม่ต้องพยายามยัดเยียดเหมือนตอนเราตื่นได้เลยนะ คุ้มกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว
-->