เสพติดดราม่า…ระวังเสี่ยงเป็น “โรค PANIC” โดยไม่รู้ตัวนะ

ไลฟ์สไตล์ที่แอคทีฟกับความกดดันที่มาจากการทำงาน ชีวิตครอบครัว ดราม่าในหมู่เพื่อน ทุกอย่างถาโถมพุ่งชนจนทำให้ “ใจพัง ร่างพัง” และจัดการชีวิตตัวเองแทบจะไม่ถูก ถ้าผูกจิตกับดราม่าชีวิตนานๆ แบบนี้ ไม่แน่ว่า! ภาวะจิตของคุณอาจอยู่ในช่วงก้าวเข้าสู่โรคทางจิตเวชที่ชื่อว่า “แพนิค-แอทแทค” (Panic Attack) แบบไม่รู้ตัวก็ได้นะ แต่อย่าพึ่งตกใจไปล่ะ! เราอยากให้มาเช็คลิสต์ตัวเองและรู้วิธีหาทางแก้ที่ถูกต้อง…ก่อนที่ใจคุณจะพังไปมากกว่านี้ 

“อาการใจบางเกินไป”  ประตูบานแรกที่ต้อนรับคุณสู่ “ความแพนิค"
การเสียขวัญ ใจสลาย หรือถูกกดดันจากคนรอบข้าง ล้วนเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องพบเจอในชีวิตประจำวันกันอยู่แล้ว ถ้าคุณกำลังเป็นคนที่มีอาการใจบาง เช่น คิดมาก คาดเดาเรื่องที่ยังไม่เกิดว่าต้องเลวร้ายอยู่เสมอล่ะก็ ความกลัว ความไม่กล้าเผชิญอุปสรรคในด้านลบที่ความจริงมันอาจจะเลวร้ายมากๆ หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้นี้ จัดเป็นลักษณะของคนที่มีจิตใจบอบบาง และอ่อนแอ เมื่อกังวลมากๆ ก็เครียดจนทานไม่ได้ นอนไม่หลับ ไม่มีสติ นี่ล่ะ! คือประตูบานแรกสู่ความวิตกกังวลต่างๆ อย่าง ความซึมเศร้า รวมไปถึงโรคแพนิค-แอดแทคที่เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งได้

เว็บไซต์ผู้ผลิตแอปพลิเคชั่นที่ให้คำปรึกษาด้านปัญหาทางจิตวิทยาอย่าง ada.com บอกไว้ว่า อาการแพนิคนั้นมักเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด เพราะรับผลกระทบโดยตรงมาจากความวิตกกังวลที่มากเกินไป หรือความกลัว ร่างกายก็จะมีปฏิกิริยาต่างๆ ตามมาได้ เช่น หายใจเร็วมาก หรือ หายใจไม่อิ่ม แต่ยังไงก็ตาม มันก็ไม่ได้ทำให้เกิดโรคร้ายขึ้นหรอกนะ เพียงแค่จะรบกวนชีวิตประจำวันของคุณแบบสุดๆ ไปเลยล่ะ ซึ่งอาการของโรคจะเกิดขึ้นประมาณ 15-20 นาที

รู้มั้ย? หลายคนอาจเคยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาการของ “โรคหัวใจ” 
นายแพทย์มนตรี เจริญพานิชสันติ อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา อธิบายว่า อาการโรคแพนิคกับโรคหัวใจสร้างความสับสนให้กับหลายคนได้ ซึ่งหลักในการแยกความแตกต่างของสองโรคนี้ต้องดูที่ปัจจัยเสี่ยง “อาการของทั้งสองโรคจะค่อนข้างแยกจากกันได้ยาก หมอแนะนำให้พิจารณาด้วยหลักดังนี้ อันดับแรกหากมีปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ เช่น อายุมาก มีโรคประจำตัว อย่าง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือมีรูปร่างอ้วน สูบบุหรี่ มีประวัติโรคหัวใจในครอบครัวหรือเปล่า  แบบนี้ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคหัวใจไว้ก่อน 

อย่างที่สอง คือ ตัวกระตุ้น คือ ความเครียด โดยพบว่าทั้งสองโรคมีสาเหตุมาจากความเครียดทางจิตใจ โรคหัวใจอาการจะกำเริบถ้ามีความเครียดทางกาย เช่น ออกกำลังกายทำงานหนักเกิน เจ็บป่วยไม่สบายรุนแรง ในขณะที่โรค panic เวลาได้ออกกำลังกาย หรือทำงานเพลินๆ มักไม่มีอาการ และอาการจะดีขึ้นได้ถ้าจิตใจค่อยๆ รีแล็กซ์  ฉะนั้นคนที่เครียดมากๆ หรือเป็น panic ควรเข้ารับการตรวจหัวใจเป็นระยะ เพราะความเครียดคือปัจจัยอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจได้”

ค่อยๆ ลบความแพนิคในตัวคุณได้! ด้วยหลักง่ายๆ ตามนี้! 
เมื่อจิตใจกำลังว้าวุ่น และถึงทางตัน เราขอแนะนำให้คุณปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อย่างนักจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาไปเลย เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีช่วยให้ปัญหาทางสุขภาพใจของเราถูกเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะทางเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่นต่างๆ จำไว้! นี่ไม่ใช่เรื่องน่าอายอีกต่อไป และถ้าคุณยังปล่อยให้ความเครียด และอาการใจบางมาโอบอ้อมตัวเองไว้ ทุกอย่างจะไม่มีทางดีขึ้นได้เลยนะ นอกจากนี้อย่าลืมที่จะจัดลำดับความคิดให้เข้าที่เข้าทาง ค่อยๆ พินิจพิเคราะห์ และหาทางยอมรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ถึงแม้มันอาจจะไม่ตรงตามความต้องการก็ตาม ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ อ้อ! อย่าลืมที่จะคอยเตือนให้จิตใจออลเวย์สแฮปปี้และแจ่มใสอยู่เสมอด้วยล่ะ!  

และถ้ามีอะไรให้เราช่วย INBOX มาหากันได้เลยนะ  
-->