เหตุผลที่ต้องโทร 1669 เมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉิน



เพราะเหตุการณ์ไม่คาดฝันสามารถเกิดได้ทุกเมื่อ ลองคิดดูเล่นๆ ว่าถ้าคุณอยู่ในสถานการณ์ที่มีคนล้มป่วยฉุกเฉินซึ่งอาจเป็นคนในครอบครัวหรือคนรอบตัว สิ่งที่คุณจะทำเป็นอย่างแรกคืออะไร? กดโทรหาใคร? เบอร์อะไร? หากเป็นละครไทยหลายคนคงคุ้นเคยกับฉากนางเอกร้องไห้ตะโกนเรียก “ใครก็ได้เรียกรถพยาบาลมาให้หม่อมแม่ที” แต่จะมีใครรู้ว่าในชีวิตจริงแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือตั้งสติ เช็คการตอบสนองของผู้ป่วย และโทรไปที่เบอร์ 1669 ให้เร็วที่สุด



เหตุผลที่ต้องโทร 1669 เมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉิน
การโทร 1669 ดีกว่าพาผู้ป่วยฉุกเฉินไปส่งโรงพยาบาลด้วยตัวเองยังไง? สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติให้ข้อมูลว่า เพราะ 1669 คือเบอร์สายด่วนที่คอยให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตินอกสถานพยาบาล เมื่อมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินก็สามารถโทรแจ้งได้ทันที ไม่ต้องกังวลเรื่องบ้านไกลหรือรถติด เพราะเขามีการแบ่งเขตความรับผิดชอบอย่างทั่วถึง เมื่อเช็คจุดสถานที่ของเราแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะมีการประสานงานส่งหน่วยรถฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุดไปหา พร้อมให้คำแนะนำเบื้องต้นอีกด้วย

•   ได้มาตรฐาน รถบริการแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ในรถที่ได้รับรองมาตรฐาน 
•   มีความพร้อม พร้อมบริการและพร้อมให้ความช่วยเหลือ ตลอด 24 ชั่วโมง 
•   ลดการบาดเจ็บซ้ำ มีชุดปฏิบัติการที่ได้รับการฝึกอบรมในการช่วยชีวิต
•   รวดเร็ว มีระบบการประสานงานครอบคลุมทั้งด้านจราจรและโรงพยาบาล 
•   ไม่มีค่าใช้จ่าย บริการสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

ไม่ได้มีแค่รถพยาบาลฉุกเฉินนะจ๊ะ! แต่เขามีหน่วยแพทย์ฉุกเฉินพร้อมแสตนบาย ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางเรือ หรือทางอากาศ ซึ่งตามหลักแล้วเมื่อมีคนโทรเข้ามา เจ้าหน้าที่ก็จะประเมินอาการว่าเข้าข่ายอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือไม่ เข้าข่ายอาการแบบไหน ก่อนที่จะส่งทีมผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อเข้าช่วยเหลือนั่นเอง


สิ่งที่ต้องรู้ก่อนโทร 1669 
เมื่อพบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้รวบรวมสติและโทรแจ้ง 1669 และให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ในสายอย่างครบถ้วน 

niems.go.th


6 สัญญาณ อาการฉุกเฉินวิกฤติ
อาการเหล่านี้ส่งผลต่อชีวิตและอวัยวะสำคัญ ถ้าเจอให้รีบโทรแจ้ง 1669 ทันที

1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ ถ้าพบผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการเรียกหรือกระตุ้น ต้องได้รับการกู้ชีพทันที
2. ระบบหายใจมีอาการวิกฤติ ไม่สามารถหายใจได้ปกติ หายใจเร็วแรงและลึก หายใจมีเสียงดังผิดปกติ พูดได้แค่สั้นๆ หรือร้องไม่ออก ออกเสียงไม่ได้ สำลักอุดทางเดินหายใจกับมีอาการเขียวคล้ำ
3. การรับรู้และสติเปลี่ยนไป อยู่ๆ ก็บอกเวลา สถานที่ หรือคนที่คุ้นเคย ผิดเฉียบพลัน
4. ระบบไหลเวียนเลือดวิกฤติ คือต้องมีอาการอย่างน้อย 2 ข้อดังนี้ ตัวเย็นและซีด เหงื่อแตกท่วมตัว หมดสติชั่ววูบหรือวูบเมื่อลุกขึ้นยืน 
5. อวัยวะฉีกขาด เสียเลือดมาก เสี่ยงต่อการพิการ
6. เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง แขนขาอ่อนแรง ชักเกร็ง 


ท้ายที่สุดแล้วการรับมือกับสถานการฉุกเฉินได้อย่างดีคือการมีสติอยู่ตลอดเวลา ยิ่งใครที่มีความรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นติดตัวอยู่แล้ว ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ เพราะทุกวินาทีมีค่ามากๆ ในสถานการณ์วิกฤติแบบนี้

ใครที่อยากมีสกิลการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือใครที่มีผู้สูงอายุอยู่ในครอบครัว อยากรู้เทคนิคการดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกต้อง สามารถเข้าไปดูที่เว็บไซต์ศูนย์ฝึกอบรมปฐมพยาบาลและสุขภาพอนามัย ของสภากาชาดไทยได้ที่นี่เลย

 
 
-->