โรคกรดไหลย้อน vs โรคหัวใจ ทำไมคล้ายกันจนคนเข้าใจผิด ?

ถึงแม้กรดไหลย้อนจะไม่ใช่โรคที่รุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตทันที แต่ปัญหาคือ อาการแสบร้อนกลางหน้าอก (Heartburn) ที่เป็น Signature ของโรคกรดไหลย้อน มันดันไปคล้ายกับอาการเจ็บหน้าอก (Heart Attack) ของโรคหัวใจแบบพอดิบพอดี งานนี้เราเลยต้องไปคุยกับคุณหมอวิชัย อยู่ยงวัฒนา แพทย์จากคลีนิกโรคทางเดินอาหาร โรงพยาบาลพญาไท 2 ให้คุณหมอช่วยอธิบายกันหน่อย ว่าจริงๆ แล้ว 2 โรคนี้มันมีจุดสังเกตให้เห็นความแตกต่างได้ยังไงบ้าง




ตัวเลขสถิติชี้ สองโรคนี้อาการคล้ายกันจนหลาย Case วินิจฉัยผิด

New England Journal of Medicine เก็บสถิติของผู้ป่วยกว่า 10,000 ราย ที่ไปพบแพทย์ฉุกเฉินด้วยอาการเจ็บหน้าอก พบว่าผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 55 ปี มีโอกาสถูกวินิจฉัยผิดพลาด (Misdiagnosed) มากกว่าผู้ชายในช่วงอายุเดียวกันถึง 7 เท่า ที่น่าตกใจกว่านั้น คือมีคนไข้หลายรายที่แพทย์วินิจฉัยผิดพลาดจากโรคหัวใจเป็นโรคกรดไหลย้อน ทั้งๆ ที่คนไข้มีอาการเจ็บหน้าอกร่วมกับคลื่นไส้เหงื่อออก และร้าวบริเวณแขนซ้าย ด้วยเหตุผลที่ว่า คนไข้ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ เลยวินิจฉัยว่าเป็นกรดไหลย้อน โดยไม่ได้มีการตรวจร่างกายอย่างละเอียด นอกจากนี้ยังมีสถิติจาก Mayo Clinic สหรัฐอเมริกา ระบุว่าในแต่ละปี มีผู้ป่วยอย่างน้อย 60,000 คนที่ไปหาหมอหัวใจ ด้วยอาการเจ็บหน้าอก แต่หลังจากที่ได้รับการตรวจอย่างละเอียดแล้ว พบว่าเป็นแค่กรดไหลย้อนเท่านั้น ซึ่งด้วยความคล้ายคลึงกันของทั้ง 2 โรคนี้ จึงมี Case ที่วินิจฉัยผิดสลับกันไปมาอยู่เรื่อยๆ
 

“เจ็บหน้าอก” อาการที่เหมือนกันของโรคหัวใจและกรดไหลย้อน

อย่างที่รู้กันว่าอาการที่เป็นเหมือนคาแรคตอร์ของโรคกรดไหลย้อนมีอยู่สองอาการ คืออาการเรอเปรี้ยว (Acid Light Regurgitation) และแสบร้อนกลางอก (Heartburn) แต่ก็มีบางคนที่มีอาการนอกเหนือจากนี้ “อาการของโรคกรดไหลย้อนที่ไปเหมือนกับโรคหัวใจคืออาการเจ็บแน่นหน้าอก ซึ่งเราเรียกว่าเป็น Non-chadiac Chest Pain” โดยอาการเจ็บหน้าอกประเภทนี้มีความคล้ายคลึงกับการเจ็บหน้าอกของโรคหัวใจมาก ทั้งที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือดเลย ซึ่งโรคอื่นๆ อย่างโรคกระเพาะอาหาร โรคปอด ภาวะกระดูกซี่โครงอักเสบ ภาวะตับอ่อนอักเสบ หรือแม้กระทั่งโรคเครียดและวิตกกังวล ก็สามารถมีอาการเจ็บหน้าอกแบบนี้ได้เหมือนกัน “คราวนี้ประเด็นคือ ถ้าไปดูอาการเจ็บหน้าอกจากกรดไหลย้อนจริงๆ เนี่ย มันมีความหลากหลายตั้งแต่อาการแสบหน้าอกธรรมดาๆ ไปจนถึงอาการแน่นหน้าอกเหมือนโรคหัวใจเปี๊ยบเลย คือเหมือนมีอะไรมาบีบตรงกลางหน้าอก แล้วก็เป็นอยู่นานเป็นนาที”
 

แล้วเราจะแยกอาการยังไงล่ะ?

แต่ก็ไม่ใช่ว่าอาการมันจะเหมือนกันชนิดที่ว่าไร้จุดสังเกตขนาดนั้น มันยังมีทริคคร่าวๆ ที่พอจะใช้ดูได้ว่าที่เราเป็นอยู่นี้คือโรคหัวใจหรือกรดไหลย้อน “คืออาการเจ็บแน่นหน้าอกของกรดไหลย้อนเนี่ย มักจะสัมพันธ์กับการกิน Pain มักจะเกิดขึ้นหลังการกินอาหาร เพราะเวลาที่เรากินอาหารเข้าไปปุ๊บ ถ้ามันมีปริมาณที่เยอะเกินไป มันก็มีโอกาสที่จะ Reflux ดังนั้นอาการของกรดไหลย้อนมักจะ Relate กับการกิน” ซึ่งแตกต่างจากหัวใจที่ Pain มันจะเกิดขึ้นในขณะที่ออกแรง (On Exertion) “คือเนื่องจากเวลาเราออกแรงมากๆ หัวใจมันมีการสูบฉีดเยอะ ถ้ามีภาวะตีบของเส้นเลือดปุ๊บเนี่ย มันมักจะทำให้เกิดอาการมากขึ้นในช่วงที่เราออกแรง” ซึ่งถึงแม้ว่าสองโรคนี้จะมีอาการคล้ายคลึงกัน แต่ความอันตรายของโรคนั้นต่างกันราวฟ้ากับเหวเลย เพราะถ้าเป็นโรคหัวใจขึ้นมา แล้วไม่ได้รับการรักษา คนไข้มีโอกาสเสียชีวิตได้เลย “กลุ่มที่จะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้ คือกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ซึ่งถ้าเป็นคนกลุ่มนี้มีอาการเจ็บแน่นบริเวณกลางอก ให้คิดถึงโรคหัวใจไว้ก่อน”
 

Alert !! ประสบการณ์จริงที่เข้าใจผิดจนเกือบ Heart Attack

เรามี Case Study จากคนใกล้ชิดของผู้ป่วยตัวจริงเสียงจริงที่หลงคิดว่าตัวเองแสบร้อนกลางอกจากกรดไหลย้อน (Heartburn) ทั้งที่จริงๆ แล้ว คืออาการเจ็บหน้าอกของโรคหัวใจ (Heart Attack) “เมื่อประมาณหกเดือนที่ผ่านมา สามีเริ่มบ่นว่ามีอาการแสบร้อนกลางอก  ก็ไปหาซื้อยามากิน กินยาหลังทานอาหารเย็นทุกวัน แต่ก็ไม่ได้ไปหาหมอ แค่พยายามเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดกรดไหลย้อนเท่านั้น จนกระทั่งวันหนึ่งสามีทำงานเสร็จกำลังจะออกไปทานข้าวเที่ยง เขาก็รู้สึกแปลกๆ เริ่มมีอาการเหงื่อตก คลื่นไส้ พอได้ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ปรากฏว่าเป็นเส้นเลือดหัวใจอุดตัน” ซึ่ง Case นี้ก็ยังถือว่าโชคดีที่รักษาได้ทันเวลา ทำให้ไม่มีอันตรายถึงชีวิต แต่ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่ทุกคนนะที่จะโชคดีแบบนี้ ยังไงถ้ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุให้ชัวร์จะดีที่สุด
 
-->