ไขข้อสงสัย LGBTQ+ กับข้อจำกัดเรื่องการบริจาคเลือด

“บอกจริงๆ ว่าฉันไม่อยากเป็นคนไม่ดี และฉันไม่อยากทำตัวไม่ดี” เจอแบบนี้คงต้องขอยืมเพลงแม่ช่าแทนใจหน่อย เพราะไม่เข้าใจว่าทำไมจะทำความดีถึงได้ยากขนาดนี้ และเพียงแค่จะบริจาคเลือดยังไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่ก็มีผลการศึกษาพฤติกรรมการบริจาคโลหิตของผู้ที่มาบริจาคโลหิต ณ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย พบว่าประเทศไทยมีผู้บริจาคโลหิตไม่ถึง 1% ของประชากร น้อยกว่าประเทศพัฒนาซึ่งมี 5-10% แล้วจะห้ามทำไมก็แค่เทคฮอร์โมนอยู่ ไหนขอรู้เหตุผลหน่อยสิ!



#เทคฮอร์โมนแล้วบริจาคเลือดไม่ได้...เรื่องนี้มีที่มา
ด้วยเหตุว่าในกลุ่มคนข้ามเพศ จำเป็นต้องได้รับปริมาณเทสโทสเตอโรนสูงเพื่อการข้ามเพศ ซึ่งการได้รับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในปริมาณสูงๆ อาจทำให้เกิดผลแทรกซ้อนในหญิงตั้งครรภ์และทารกแรกคลอดได้ ยิ่งไปกว่านั้นตัวยาเทคฮอร์โมนที่ใช้สำหรับข้ามเพศก็มีส่วนผสมของสเตียรอยด์อยู่ด้วย ซึ่งการจะบริจาคเลือดนั้นจะต้องงดการเทคฮอร์โมนล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ แต่สำหรับกลุ่มคนข้ามเพศที่จำเป็นต้องเทคฮอร์โมนก็อาจทำได้ยาก เพราะหากหยุดยาหรือขาดการเทคฮอร์โมนอาจจะทำให้การข้ามเพศหยุดชะงักหรือไม่สำเร็จได้ 

#ชายรักชาย ทำไมถึงต้องระวังเรื่องบริจาคเลือด
สังเกตมั้ยว่าทำไมในแบบสอบถามคัดกรองก่อนที่จะบริจาคเลือด จะต้องมีคำถามที่ว่า “ท่านมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือไม่ (ตอบเฉพาะชาย)” นั่นก็เพราะเหตุผลของการปฏิเสธการรับเลือดจากกลุ่มคนเหล่านี้ คือเชื่อว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงของโรคติดต่ออย่างเอชไอวี หรือไวรัสตับอักเสบบีมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งเป็นโรคติดต่อในกลุ่มเกย์ หรือไบเซ็กชวล ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยยังคงปฏิเสธการบริจาคเลือดของกลุ่มเพศหลากหลายอยู่นั่นเอง แต่ถึงอย่างนั้นก็มีบางประเทศที่เริ่มผ่อนคลายความเข้มงวดของหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ที่จะบริจาคเลือดบ้างแล้ว ด้วยความเปิดกว้างทางสังคมที่มากขึ้น บวกกับภาวะขาดแคลนเลือด ซึ่งเป็นปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย

เอาหน่า! ถึงจะบริจาคเลือดไม่ได้ ก็ยังช่วยบอกต่อหรือรณรงค์ให้คนที่เขาพร้อมไปบริจาคได้อยู่นะ ไม่ต้องน้อยใจไป
-->