ไม่สูบบุหรี่ แต่ทำไมยังมีโอกาสเป็น ‘มะเร็งปอด’

 
การสูบบุหรี่นั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพ และเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอด ที่สิงห์อมควันถือว่ามีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปถึง 10 - 30 เท่า แต่ก็นับว่ามีบ่อยครั้ง ที่คนที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลย ต้องมาล้มป่วยลงด้วยโรคมะเร็งปอด ด้วยความจริงที่ว่า ไม่ใช่แค่คนสูบบุหรี่เท่านั้นที่มีโอกาสเป็นมะเร็งปอด คนไม่สูบก็เป็นได้เหมือนกัน

 
มะเร็งปอดมายังไง ปัจจุบันยังสรุปไม่ได้
ต้องบอกว่าในปัจจุบัน โรคมะเร็งหลายๆ ชนิดยังคงไม่สามารถสรุปแบบฟันธงได้ว่าเกิดจากอะไร โดยเฉพาะมะเร็งปอด ที่บางครั้งก็เกิดขึ้นแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย โดยเฉพาะกับคนที่ไม่สูบบุหรี่ ทำให้ไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคได้อย่างชัดเจน แต่บุหรี่ก็ถือเป็นปัจจัยที่จะไปเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดให้มีมากขึ้นไปอีก เนื่องจากสารพิษที่อยู่ในควันบุหรี่จะเข้าไปทำลายเซลล์ปอดโดยตรง ทำให้เซลล์เกิดความผิดปกติ ซึ่งความเสี่ยงก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาและปริมาณบุหรี่ที่สูบ
 
แต่ก็ถือว่าไม่แปลกที่คนไม่สูบบุหรี่จะเป็นมะเร็งปอด เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายปัจจัย ที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับสารพิษ หรือมลภาวะต่างๆ โดยเฉพาะคนที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ยังเชื่อว่ามะเร็งปอดสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยคนที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งปอด ก็จะมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป แม้จะไม่ได้สูบบุหรี่ ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้ก็จะเพิ่มขึ้นทุกๆ ปีตามอายุที่มากขึ้น
 
มะเร็งปอดรักษาได้ ถ้าตรวจเจอในระยะแรกๆ
ขึ้นชื่อว่ามะเร็ง ก็คงทำให้หลายคนจิตตกไปตามๆ กัน เพราะถือเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนมากเป็นอันดับต้น แต่จริงๆ แล้ว มะเร็งปอดนั้นสามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าตรวจพบเร็ว โดยมะเร็งปอดสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด
 
มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก พบเพียง 10 - 15% เป็นชนิดที่เชื้อแพร่กระจายค่อนข้างเร็ว มีอัตราการเสียชีวิตสูง แต่ก็สามารถรักษาได้ด้วยเคมีบำบัด และการฉายรังสี โดยสามารถแบ่งโรคได้เป็น 2 ระยะ
● ระยะจำกัด (Limited Stage) พบก้อนมะเร็งในปอด 1 ข้าง และต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงเท่านั้น
● ระยะลุกลาม (Extensive Stage) มะเร็งได้แพร่กระจายไปที่ส่วนต่างๆ ของร่างกายแล้ว
 
มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก พบมากถึง 85 - 90% เป็นชนิดที่แพร่กระจายได้ช้ากว่าแบบแรก สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัด ถ้าหากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ โดยสามารถแบ่งโรคได้เป็น 4 ระยะ
● ระยะที่ 1 พบมะเร็งที่บริเวณปอดเท่านั้น
● ระยะที่ 2 มะเร็งมีขนาดใหญ่เกิน 5 ซม. และแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มปอดชั้นนอก หรือผนังทรวงอก
● ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ห่างจากปอด รวมถึงอวัยวะข้างเคียง และอาจแพร่ไปยังอีกด้านของช่องอก
● ระยะที่ 4 มะเร็งได้กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายที่ไกลออกไป ไม่ว่าจะเป็นตับ ต่อมหมวกไต กระดูก หรือสมอง
 
ปัญหาคือมะเร็งปอดในระยะแรกๆ นั้นจะไม่ค่อยแสดงอาการ กว่าจะเริ่มมีอาการ โรคก็พัฒนาไปถึงระยะที่ 3 - 4 แล้ว โดยอาการที่พบได้บ่อยคือ ไอเรื้อรัง เสียงแหบ อาจมีเสมหะเป็นเลือด และเจ็บหน้าอกขณะไอ ร่วมกับปัญหาด้านการหายใจ หายใจลำบาก เหนื่อยหอบตลอดเวลาแม้นั่งอยู่เฉยๆ หรือหายใจมีเสียงวีด นอกจากนี้ยังอาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร กลืนลำบาก และน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุด้วย
 
การตรวจประจำปี คือคีย์สำคัญในการรับมือ
ถึงแม้ว่ามะเร็งปอดจะเป็นโรคที่มักจะไม่มีอาการในระยะแรกๆ และไม่สามารถตรวจคัดกรองได้ด้วยตนเองแบบมะเร็งเต้านม แต่มะเร็งปอดสามารถตรวจพบได้โดยการตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจเป็นประจำทุกปี เพราะถือว่าเป็นกลุ่มที่เริ่มมีความเสี่ยง
 
การตรวจจะตรวจด้วยวิธีการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (Low-dose Helical Computerized Tomography) ซึ่งถ้าแพทย์พบว่ามีความผิดปกติ ก็สามารถทำการตรวจวิธีอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย ไม่ว่าจะเป็นการตัดชิ้นเนื้อเพื่อวิเคราะห์ การตรวจด้วยวิธี CT Scan การตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการตรวจด้วยเครื่อง PET Scan ซึ่งจะให้ผลที่แม่นยำ ทำให้สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากโรคยังอยู่ในระยะเริ่มต้น
 
ต้องบอกว่ามะเร็งปอดนั้นเกิดได้จากหลายปัจจัยก็จริง ไม่ว่าจะกรรมพันธุ์ หรือไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดเซลล์มะเร็ง แต่บุหรี่ก็ยังถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับมะเร็งปอด การลด ละ เลิกบุหรี่ก็ยังถือว่าลดความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปอดไปได้เยอะอยู่ดี
-->