‘ด่างทับทิม’ ดีหรือโทษ อยู่ที่มือเรา


ใครที่เป็นแม่หญิงแม่ศรีเรือน ก็มักจะคุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ด่างทับทิม’ กันเป็นอย่างดี หรืออาจจะพอคุ้นกับภาพที่คุณแม่หรือพี่เลี้ยงเอามาใส่ลงในน้ำเพื่อแช่ผลไม้เวลาที่ซื้อกลับมาจากซุปเปอร์เพื่อฆ่าเชื้อโรค แต่รู้มั้ยว่าความจริงแล้ว ด่างทับทิม มีอะไรมากกว่านั้น


 
ด่างทับทิม = สารเคมีชนิดหนึ่ง
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับด่างทับทิมตามหลักการทางวิทยาศาสตร์กันหน่อย ด่างทับทิม หรือ โพแทสเซียมเปอร์แมงกาเนต (Potassium permanganate) คือสารเคมีประเภทอนินทรีย์ (Inorganic) ที่มีลักษณะเป็นเหมือนผลึกหรือเกล็ดสีม่วง ที่สามารถละลายน้ำได้ดี ซึ่งพอละลายลงไปในน้ำแล้ว ก็จะทำให้น้ำนั้นกลายเป็นสีม่วง หรือชมพูอมม่วงตามไปด้วย แต่เฉดสีจะเข้มจะอ่อนทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับปริมาณและความเข้มข้นของด่างทับทิมที่เราใส่ลงไปด้วย และถ้าในเชิงเคมีนั้นเขาก็ถือว่าด่างทับทิมเป็นเกลือชนิดหนึ่ง ที่มีฤทธิ์เป็นด่างอ่อนๆ และมีคุณสมบัติเป็นสารออกซิเดชั่น (Oxidation) ที่นอกจากมีการนำมาใช้ในครัวเรือนแล้ว ยังนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ อีก เช่น การฟอกย้อมสิ่งทอ การฟอกขาว ย้อมสีผ้าต่างๆ เป็นต้น

การนำ ‘ด่างทับทิม’ มาใช้ในห้องครัว
เนื่องจากมีความเชื่อว่าด่างทับทิมนั้นมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค เชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียได้เป็นอย่างดี ทำให้หลายๆ คนชอบที่จะนำด่างทับทิมมาผสมกับน้ำเผื่อแช่หรือล้างผักผลไม้ต่างๆ ที่ซื้อมาจากตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตเพื่อฆ่าเชื้อโรค ยาฆ่าแมลงและสารเคมีที่ตกค้างต่างๆ แต่ก็จะใช้ในปริมาณที่ไม่เยอะ ประมาณ 4-5 เกล็ด ผสมกับน้ำประมาณ 4-5 ลิตร 

ความเข้มข้นคือสิ่งที่ต้องระวัง
อย่างที่บอกว่าความเข้มข้นของสารนั้นอยู่ที่การผสม ก็คือถ้าสังเกตง่ายๆ เลเวลที่ปลอดภัยสุดคือเมื่อผสมน้ำแล้วกลายเป็นสีชมพูอ่อนๆ ซึ่งนั่นก็เพียงพอที่จะใช้ฆ่าเชื้อโรคแล้ว เพราะถ้าเข้มจนกลายเป็นสีม่วงหรือน้ำเงินเมื่อไหร่แล้วล่ะก็ นั่นอาจจะประเมินคร่าวๆ ได้ว่าความเข้มข้นน่าจะประมาณ 1:76,000 ซึ่งถ้าในเลเวลนี้น้ำนั้นสามารถเป็นอันตรายต่อผิวหนังได้ และโดยปกติถ้าต้องการใช้ด่างทับทิมเพื่อฆ่าเชื้อในน้ำ ก็ควรต้องทิ้งไว้อย่างน้อย 30 นาที นั่นคือในกรณีที่นำมาแช่ผักผลไม้นั้น ก็ควรแช่ทิ้งไว้ 30 นาที ก่อนนำไปล้างด้วยน้ำสะอาดอีกหลายๆ รอบ พอล้างเสร็จแล้วก็ต้องทิ้งไว้อีกอย่างน้อย 30 นาทีถึงค่อยนำมาทานเพื่อความปลอดภัย

อย่าวางใจ! ขึ้นชื่อว่าสารเคมี ยังไงก็มีพิษ
ครั้งหนึ่ง พาราเซลซัส (Paracelsus) ซึ่งเป็นบิดาแห่งสาขาวิชาพิษวิทยาได้กล่าวไว้ว่า ‘สารทุกชนิดมีพิษ ไม่มีสารใดเลยที่ไม่มีพิษ ปริมาณที่รับเข้าสู่ร่างกายต่างหากที่เป็นสิ่งที่แย่กว่าสารที่เข้าสู่ร่างกายนั้นว่าจะเป็นพิษหรือเป็นประโยชน์’ เพราะฉะนั้นแม้ว่าด่างทับทิมจะมีประโยชน์ในการฆ่าเชื้อโรค แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะเอามาตักเข้าปากทานเป็นลูกอมกันได้โดยไม่ทำอันตรายต่อร่างกาย และเนื่องจากด่างทับทิมเป็นสารเคมีที่ค่อนข้างมีฤทธิ์แรง จึงไม่ควรใช้มือจับหรือสัมผัสโดยตรง เพราะอาจทำให้ผิวแห้งเป็นขุยได้ หรือถ้ายิ่งโดนเลเวลที่เข้มข้นมากๆ ก็อาจมีอาการปวด เป็นแผลไหม้ได้เลยเหมือนกัน 

ใช้ประโยชน์ได้...แต่ก็ต้องระมัดระวังด้วย
ความจริงแล้วไม่ใช่แค่ด่างทับทิมเท่านั้น แต่ทุกสิ่งหากเรานำไปใช้ให้ถูกและเหมาะสมก็จะเกิดประโยชน์ แต่ถ้าไม่ระมัดระวังในการใช้ หรือใช้ผิดวิธีก็อาจก่อให้เกิดโทษได้เหมือนกัน สิ่งที่ต้องระวังมากๆ ในการใช้ด่างทับทิมคืออย่าใช้มือสัมผัสโดยตรง หรือระวังการปลิวเข้าตา เนื่องจากว่าเกล็ดของด่างทับทิมนั้นค่อนข้างเบา เวลาตักใช้จึงควรมีความระมัดระวังให้ดี เพราะหากพลาดเข้าตาแล้วล่ะก็ อาจทำให้มองเห็นไม่ชัดหรือถึงขั้นตาบอดได้ หรือแม้แต่การหายใจสูดกลิ่นเข้าไปก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้เช่นกัน และเนื่องจากด่างทับทิมเป็นสารออกซิไดซ์ที่แรง จึงสามารถทำให้เกิดการระเบิดได้เมื่อมีการสั่นสะเทือนอย่างแรง หรือถูกความร้อน เปลวไฟ หรือมีการเสียดสี เพราะฉะนั้นควรเก็บสารนี้อย่างมิดชิด ในที่แห้งและเย็น ที่มีการระบายอากาศได้ดี พยายามหลีกเลี่ยงการเก็บไว้บนพื้นไม้ และแยกออกจากสารอื่นๆ จะดีที่สุด

เห็นมั้ยว่าของใกล้ตัวที่บางทีเรามองข้ามอย่าง ‘ด่างทับทิม’ ถ้าเรานำมาใช้ให้ถูกที่ถูกทาง ถูกวิธี มันก็ช่วยชะล้างสารเคมีตกค้างในผักผลไม้ได้ แต่เมื่อไหร่ที่ผสมจนเข้มมากจนเกินไปมันก็อาจทำร้ายเราได้เหมือนกัน คราวนี้เราเชื่อว่าชาว HA ก็คงรู้จักสารตัวนี้กันมากขึ้นแล้ว และรู้ว่าจะต้องใช้ยังไงให้เกิดประโยชน์มากกว่าโทษ
-->