‘ท้องเสีย’ แบบไหนธรรมดา แบบไหนต้องหาหมอ

ท้องเสียเป็นอาการเจ็บป่วยที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่ค่อยหนัก และสามารถหายได้เองโดยใช้เวลาไม่นานนัก แต่บางครั้ง อาการท้องเสียก็อาจรุนแรง และจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ คำถามคือ เมื่อท้องเสียหนักแค่ไหน ถึงจำเป็นต้องไปหาหมอ



ถ่ายหนักขนาดไหน... เรียก ‘ท้องเสีย’
โดยปกติแล้ว แต่ละคนจะมีลักษณะการขับถ่ายที่เฉพาะตัว แตกต่างกันไปตามปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน ปริมาณน้ำที่ดื่มน้ำ กิจกรรมที่ทำ หรือแม้แต่ฮอร์โมนของแต่ละคนเอง การจะบอกได้ว่าเราเริ่มมีการขับถ่ายที่ผิดปกติ ต้องอาศัยการอ้างอิงจากลักษณะการขับถ่ายปกติของตัวเราเอง บวกกับจุดสังเกตอาการท้องเสีย อย่างการถ่ายเหลว และมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน บางรายอาจมีอาการปวดเกร็งในช่องท้อง ร่วมกับรู้สึกอ่อนเพลีย และมีไข้อ่อนๆ ด้วย ซึ่งถ้าหากว่ามีอาการประมาณนี้ ก็พอจะบอกได้ว่าเราเริ่มมีอาการท้องเสียแล้ว

ท้องเสียไม่หนัก สามารถหายเองได้
อาการท้องเสียสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่จะเกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ทั้งเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และปรสิต ซึ่งเป็นอาการท้องเสียแบบเฉียบพลัน ถ้าอาการไม่หนักก็ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่ในกรณีที่มีการถ่ายบ่อย ควรดื่มผงเกลือแร่สำหรับผู้ป่วยท้องเสีย (ORS) เพื่อชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไป และควรกินยาที่ช่วยดูดซับสารพิษในระบบทางเดินอาหาร โดยส่วนใหญ่แล้วอาการก็จะค่อยๆ ดีขึ้นและหายเป็นปกติใน 3 - 7 วัน

นอกจากเรื่องการติดเชื้อแล้ว อาการท้องเสียแบบเฉียบพลันยังอาจเกิดได้จากปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด หรือความวิตกกังวล ที่อาจส่งผลให้ลำไส้แปรปรวนจนมีอาการท้องเสีย การดื่มแอลกฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป การแพ้อาหาร หรือแม้แต่ไส้ติ่งอักเสบ ก็ทำให้มีอาการท้องเสียได้เช่นกัน ซึ่งการจะแก้อาการท้องเสียในลักษณะนี้ ก็ต้องไปแก้ที่สาเหตุนั้นๆ

ท้องเสียแค่ไหน ควรรีบไปหาหมอ
ถ้าอาการท้องเสียเฉียบพลันไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน และยังมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น ควรรีบไปโรงพยาบาล เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำและช็อคได้ หรือหากมีอาการปวดบริเวณช่องท้องอย่างรุนแรง มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส หรือมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ ก็ไม่ควรปล่อยไว้เช่นกัน เพราะอาการเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า อาการท้องเสียที่เราเป็นนั้น ไม่ใช่แค่ท้องเสียธรรมดาแล้ว จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษา และอาจจะต้องมีการให้ยาฆ่าเชื้อด้วย

ส่วนอาการท้องเสียอีกประเภทหนึ่งคือท้องเสียแบบเรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ส่วนใหญ่จะเกิดจากความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร อาจจะเป็นลำไส้อักเสบ ลำไส้แปรปรวน ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง หรืออาจจะรุนแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็ได้ ควรจะไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ และอาจมีการตรวจเลือด ตรวจอุจจาระ หรือส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร ซึ่งจะสามารถบอกความผิดปกติที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย และทำการรักษาได้อย่างตรงจุด

อาการท้องเสียที่มาจากการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิต เป็นอาการท้องเสียที่พบได้บ่อย โดยเราสามารถป้องกันอาการท้องเสียแบบนี้ได้โดยการทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ปรุงสุก สะอาด และมาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ที่สำคัญควรล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังทานอาหาร และไม่เอามือไปจับบริเวณหน้าหรือปาก ก็จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้
 
-->