“วูบหลับ” อาจไม่ใช่แค่สัญญาณเตือนว่าร่างกายอ่อนเพลีย

 
บางคนอยากนอนก็นอนไม่หลับ ในขณะที่บางคนยังไม่อยากหลับก็ดันวูบหลับไปเฉยๆ ถึงแม้ว่าการนอนหลับพักผ่อนจะเป็นสิ่งที่ดี รวมไปถึงการงีบหลับเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ในตอนกลางวันก็ช่วยให้ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย โดยยืนยันได้จากงานวิจัยของดร.ฮาร์วีย์ ไซม่อน ผู้ทำแม็กกาซีน Harvard Men’s Health Watch ซึ่งได้ทำการศึกษาจากพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน 200 คน พบว่าการนอนหลับในช่วงเที่ยงวันนั้น จะสามารถลดภาระการทำงานหนักของหัวใจ ลดอัตราการเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลันได้ร้อยละ 30 ทั้งยังเสริมการทำงานที่มีประสิทธิภาพในช่วงบ่ายได้ด้วย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าอาการที่อยู่ๆ ก็เกิดวูบหลับไปเหมือนกดปิดสวิตช์ชัทดาวน์ตัวเองจะเป็นเรื่องดีหรอกนะ เพราะอาการแบบนี้ดูทรงแล้วคงไม่ใช่แค่การงีบหลับธรรมดา แต่เป็นไปได้ว่าร่างกายอ่อนเพลียขั้นสุด หรืออาจจะมากกว่านั้น!

 
วูบหลับ...อาการนี้มีที่มา
อาการวูบหลับเป็นอาการส่วนหนึ่งของโรคลมหลับ (Narcolepsy) ซึ่งเป็นความผิดปกติด้านการนอนที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง ผู้เป็นโรคนี้จะรู้สึกง่วงอย่างมากในช่วงกลางวันและมักหลับไปโดยไม่รู้ตัว เห็นภาพหลอนในขณะนอนหลับหรืออยู่ในภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น มีอาการคล้ายผีอำ ในบางรายก็อาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงกะทันหันร่วมด้วย สามารถเกิดขึ้นได้จากการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างฉับพลัน โดยในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการไม่ให้รุนแรงขึ้นได้ด้วยการรับประทานยาและปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม 

Credit: www.nejm.org

ซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มแสดงอาการผิดปกติตั้งแต่ช่วงอายุ 10 - 25 ปี โดยอาการอาจค่อยๆ รุนแรงมากขึ้นใน 2-3 ปีแรก หรืออาจเกิดขึ้นภายในเวลาเพียง 2-3 สัปดาห์หลังเริ่มแสดงอาการ ซึ่งแม้จะสังเกตอาการได้ค่อนข้างลำบาก เพราะโรคดังกล่าวมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน แต่ก็พอจะตั้งข้อสงสัยได้จากอาการดังนี้
1.ง่วง เหงา หาว นอนตลอดทั้งวัน
2.วูบหลับอย่างเฉียบพลัน
3.กล้ามเนื้ออ่อนแรง
4.ตากระตุกขณะนอนหลับ
 
ปัญหาที่ตามมาจาก “ลมหลับ”
แน่นอนว่าปัญหาแรกที่ต้องเจอแน่นอนเลยคือ ปัญหาด้านความสัมพันธ์ ซึ่งอาการที่จู่ๆ ก็วูบหลับไปดื้อๆ อาจทำให้คนอื่นเข้าใจผิด ตามมาด้วยปัญหาด้านการทำงาน เพราะเมื่อความง่วงเข้ามาทักทายอยู่ตลอดเวลา ประสิทธิภาพในการทำงานจึงลดลงอย่างไม่ต้องสงสัย นอกจากนี้ยังมีปัญหาของโรคอ้วนด้วย เพราะผู้ป่วยโรคลมหลับอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาบางชนิด การละเลยการออกกำลังกาย การกินอาหารในปริมาณมากเกินไป หรือภาวะขาดไฮโปเครติน แต่ที่เป็นปัญหาสำคัญ และทำให้ผู้ป่วยโรคนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน คือ การเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ เพราะหากเกิดอาการวูบหลับในขณะขับรถ หรือทำอาหาร ก็ย่อมจะทำให้เกิดการบาดเจ็บ หรืออันตรายถึงชีวิตได้


การดูแลรักษาตัวเองเบื้องต้นของคนเป็นลมหลับ
แม้ว่าจะยังไม่มีวิธีการป้องกันโรคลมหลับที่ได้ผล แต่การรับประทานยาบางชนิดและการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม ก็สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดอาการได้
• เพิ่มการงีบหลับอย่างน้อยวันละ 10 - 15 นาที
• ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เสิรมสร้างนิสัยการดูแลสุขภาพ โดยการออกกำลังกายและรับประทานอาหารให้ตรงเวลาเสมอ รวมถึงหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน งดการสูบบุหรี่
• จัดตารางการนอนหลับของตัวเองในแต่ละวัน โดยพยายามตื่นนอนและเข้านอนในเวลาเดิมเป็นประจำทุกวัน
• พยายามงดทำกิจกรรมที่เป็นอันตราย เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บซึ่งอาจเกิดขึ้นตามมาเมื่อมีอาการ
• ทำสุขภาพจิตให้แข็งแรง อารมณ์ดีอยู่เสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดความเครียด
-->