ไม่มีขาทั้งสองข้าง ก็ดำน้ำ เล่นเซิร์ฟ โดดร่มได้ คุยกับน้องธันย์ ณิชชารีย์



ลองจินตนาการดู ถ้าคุณคือเด็กวัยรุ่นอายุ 14 กำลังไปเรียนซัมเมอร์ต่างประเทศ สนุกกับประสบการณ์ชีวิตใหม่ๆ กำลังค้นพบความฝันที่อยากจะทำ แล้วก็...ครืนนน ฟื้นอีกที คุณไม่มีขาทั้งสองข้างแล้ว จากอุบัติเหตุรถไฟใต้ดิน 
 
ถ้าจะบอกว่านั่นคือเรื่องโชคร้าย เราอยากให้มาคุยกับสาวน้อยคิดบวกคนนี้ 
น้องธันย์ ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ หลายคนจำได้แม่นเรื่องข่าวอุบัติเหตุรถไฟใต้ดินของเด็กไทยในสิงคโปร์เมื่อ 11 ปีก่อน และถ้าคุณกำลังสงสัยว่าตอนนี้สาวน้อยคนนั้นจะเป็นยังไงบ้าง 

 
นี่ค่ะ เธอกำลังทำงานเป็น ผู้สำรวจความสุข นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ และเป็นนักดำน้ำที่ไม่มีขาแต่มีความสุขมากที่สุดคนนึง
 
ธันย์ ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์, 25 ปี ผู้สำรวจความสุข 
 

“ธันย์ไม่ได้เอาความโชคร้ายเหล่านั้นมาใช้ในการดำเนินชีวิต แทบจะเก็บมันไว้จนลืมไปแล้วว่ามันคือความโชคร้าย เก็บไว้เหมือนเก็บของใส่ลิ้นชักแล้วลืมไป เพราะเรามามองอีกด้านนึงของชีวิตมากกว่า ซึ่งพอเรามองอีกด้านนึงแล้วมันดี มันทำให้เราใช้ชีวิตต่อได้ มันไปได้สวย เราเลยได้ทำอีกหลายสิ่งหลายอย่างแล้วมันออกมาดี จนทำให้เรารู้สึกว่าเราอยากทำสิ่งเหล่านี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ”


 
ดำน้ำ เล่นเซิร์ฟ โดดร่ม อะไรที่ทำให้ธันย์ลุกมาทำสิ่งเหล่านี้ 
“จริงๆ ธันย์ว่ามันเป็นความรักก่อนอย่างแรก ย้อนกลับไปตอนที่ธันย์อยู่โรงพยาบาล ธันย์เคยรู้สึกว่าทำไมคุณค่าชีวิตเรามันหยุดอยู่ตรงนี้ แค่ในโรงพยาบาลนี่หน่ะหรอ แต่เรายังอยากทำในสิ่งที่เราอยากทำนะ แล้วตอนเกิดอุบัติเหตุมันทำให้เรามองเห็นคุณค่าของเวลา คุณค่าของชีวิตมากขึ้น เหมือนเราผ่านการเฉียดตายมา แล้วเราได้เห็นว่ามีอีกหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตที่เรายังไม่ได้ทำเยอะมาก เลยทำให้เราตระหนักคิดได้ว่า อยากใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้เต็มที่ที่สุด แต่ไม่ได้กดดันตัวเองนะคะ แค่รู้สึกว่าถ้ามีเวลาจะทำให้เต็มที่ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง เหมือนเหตุการณ์ที่เจอมันสอนให้เรามีวิธีคิดที่โตขึ้น ทำให้เรามองชีวิตแตกต่างออกไป จากเมื่อก่อนที่คิดว่าอายุเท่านี้ยังมีเวลาทำอะไรอีกเยอะ เดี๋ยวค่อยทำ แต่ตอนนี้ไม่มองแบบนั้นแล้ว คืออยากทำอะไรเราจะทำเลย แล้วสิ่งที่อยากทำ เราก็จะต้องหาหนทางเพื่อจะทำมันให้ได้ เพราะถ้าไม่ทำตอนนี้ ก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นอีก”  
 


ความยากอยู่ตรงไหน
“ความยากของการเริ่มต้นจะดำน้ำสำหรับธันย์ มันมีสองส่วน ส่วนแรกคือ เรื่องของสภาพจิตใจตัวเราเอง ว่าเรากล้ามั๊ย ส่วนที่สองคือฝ่ายของคนที่จะสอนเรา หรือพูดง่ายๆ คือฝ่ายของสังคม คือเราไม่แน่ใจว่าว่าเราจะไปเรียนแล้วเขาจะรับสอนเรามั๊ย อย่างถ้าเป็นคนธรรมดาทั่วไป จะไปเรียน คือมีตังค์ ซื้อคอร์ส จ่ายเงิน สอน จบ แต่ของเรา เหมือนเราก็ไม่รู้ว่าคนอื่นเขาคิดยังไง เขาจะตั้งกำแพงไว้กับเราแล้วหรือเปล่าว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่ปลอดภัย อะไรแบบนี้ แต่โชคดีที่เราก็เป็นคนที่โอเพ่นตัวเองให้ลองให้เรียนรู้ แล้วครูกับโรงเรียนที่สอน เขาก็พร้อมจะสร้างปรากฏการณ์ใหม่กับเราพอดี มันก็เลยเหมือนเรามาจับมือกันได้” 

“ซึ่งตอนนั้นธันย์ได้เริ่มเรียนดำน้ำที่มหาลัย เพราะตอนนั้นเรียนอยู่ธรรมศาสตร์ เราก็เอาเวลาหลังเลิกเรียนไปเรียนดำน้ำ ความที่ครูเขาก็อยู่ที่ธรรมศาสตร์อยู่แล้ว เขาก็จะเห็นวีลแชร์เราไปๆ มาๆ อยู่ แล้วเขาคงสอนคนปกติมาจนเบื่อแล้วมั้งคะ เขาก็เลยมาลองสอนเรา เราเลยได้มีโอกาสเรียน”



ครั้งแรกของการลงน้ำ
“ครั้งแรกของการดำน้ำ เรารู้สึกว่ามันทลายกำแพงทุกอย่าง จากที่คิดว่ามันต้องใช้ขา มันต้องว่ายน้ำเป็น กลับไม่ใช่ ทุกอย่างมันอยู่ที่การเรียนรู้ ณ ตอนนั้นเลย เราพร้อมเรียนรู้อุปกรณ์มั๊ย เราสามารถจะมีสติกับเหตุการณ์มั๊ย เราสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้มั๊ย ซึ่งกิจกรรมต่างๆ มันก็สอนเราเกี่ยวกับการใช้ชีวิต ว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับว่าเรามีขาหรือไม่มีขา มันแค่ว่า ถ้าเรามีขาจะช่วยให้ตีฟินได้เร็ว ถ้าไม่มีขาคุณก็ใช้มือแทนได้ มีอุปกรณ์ที่ใส่กับมือแล้วเราก็ช่วยให้เราเคลื่อนที่ได้ ดังนั้นมันแค่เราต้องมีสติตลอดเวลา” 

“ตอนเรียนดำน้ำ ธันย์ก็เจอปัญหาเหมือนที่คนทั่วไปเจอ เรื่องเคลียร์หูไม่ได้ เรื่องเคลียร์หน้ากากไม่ได้ แต่ธันย์ก็พยายามฝึกให้เยอะ ลงสระให้บ่อย ยิ่งธันย์มีปัญหามากที่สุดเรื่องของการลอยตัวกลางน้ำ (Buoyancy) เพราะธันย์ไม่มีขาที่จะตีฟิน ดังนั้นเวลาเจอกระแสน้ำแรงมากๆ ธันย์จะว่ายไม่ไหว ต้องใช้แรงเยอะกว่าคนอื่น พอใช้แรงเยอะก็จะยิ่งหายใจเร็ว ตัวก็ยิ่งลอยขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ เราก็ต้องหาทางแก้ ฝึกให้ได้”



“การทำกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ มันทำให้เราเรียนรู้อย่างนึงว่า การจะทำอะไรก็ตามมันไม่ได้อยู่ที่บรรทัดฐานทางสังคม ที่มาตัดสินว่าเราทำอะไรได้ อะไรไม่ได้ แต่มันอยู่ที่ตัวเรา อยู่ที่การเรียนรู้ของเรา มันก็ทำให้เราเอาทัศนคติแบบนี้จากการทำกิจกรรมต่างๆ มาใช้กับการทำงานกับการเรียน ว่าต่อให้ Barrier แรกคือจะมีคนมาตัดสินว่าเราทำไม่ได้หรอก เราเดินไม่เก่ง เราไม่ถนัด แต่สุดท้ายมันอยู่ที่การเรียนรู้ ความสามารถของเราเองต่างหาก”

Dive Site ที่ธันย์ชอบที่สุด: สิมิลันค่ะ จริงๆ เป็นทริปออกทะเลทริปแรกเลย ชอบธรรมชาติที่นั่นกับกิจกรรมที่เราไปทำร่วมกับกลุ่มเพื่อนหลายคน 

สิ่งที่ทำให้ธันย์ Panic: เมื่อเคลียร์หน้ากากไม่ได้ แว่นมัว หรือน้ำเข้าตา 



กิจกรรมอื่นๆ ที่ชอบ: นอกจากดำน้ำธันย์ชอบทำกิจกรรมโลดโผน ความเร็ว อะไรที่รู้สึกท้าทาย มีไปเล่นเซิร์ฟ  โดดร่ม Sky dive เล่น Paraglider ร่มร่อน ธันย์ไม่ได้คิดว่าต้องใช้ชีวิตแบบสุดโต่งนะ ธันย์แค่คิดว่าอยากใช้ชีวิตให้มันสนุก พยายามจะไม่มีทัศนคติที่ว่าไม่เอาอ่ะมันอันตราย ไม่เอาอ่ะมันร้อน อะไรแบบนี้ 

เวลาว่างๆ ธันย์จะทำอะไร: ธันย์ชอบดู Youtube ฟังบทสัมภาษณ์ของคนที่สร้างแรงบันดาลใจจากเรื่องของตัวเอง เปิดฟังไปเรื่อยๆ ตอนอยู่บ้าน มันให้ความรู้สึกเหมือนเราได้คุยกับคนเวลาเราออกไปเจอคนอื่น ไปฟังเรื่องเขา 

หนังที่ชอบที่สุด: เรื่อง Perfect World เป็นหนังญี่ปุ่น ผู้ชายนั่งรถเข็นวีลแชร์ ผู้หญิงเดินได้ เรื่องนี้ทำให้เราเห็นชัดถึงบรรทัดฐานทางสังคมที่ตัดสินกัน ดูแล้วมันเข้าใจเลย ยิ่งเราเจอมาเรายิ่งเข้าใจเลย 



Thun’s Wisdom: มีประโยคนึงที่ธันย์ใช้กับชีวิตตัวเองบ่อยมากๆ คือ หลายคนอาจจะบอกว่า คนเราต้องรอจังหวะและรอโอกาสที่เหมาะสม แต่ธันย์ไม่เคยเชื่ออย่างนั้นเลย เพราะธันย์เชื่อว่า โอกาสมันสร้างได้ จะให้มันมาเร็วมาช้า มันอยู่ที่ตัวเรา ดังนั้นทุกวันนี้ ถ้ามีความฝันอะไร ให้ทำไปก่อน แล้วโอกาสมันก็จะมาเอง เหมือนถ้าเราคิดว่าเราจะรอโอกาส นั่นแปลว่าเราจะ Stop แล้วอยู่เฉยๆ เพื่อรอคนอื่นเอาโอกาสมาให้ แต่ในทางกลับกันถ้าเราออกไปสร้างโอกาสเองล่ะ แค่ออกไปเจอผู้คน เกิดการบอกต่อ ต่อยอดไปได้จนเกิดเป็นโอกาสมากมายในการทำสิ่งต่างๆ 


 
-->