กินบุฟเฟ่ต์ยัง ให้ได้ความคุ้มและความเฮลธ์ตี้

เมื่อนึกถึงคำว่าบุฟเฟ่ต์ คงปฎิเสธไม่ได้ว่าเป็นมื้ออาหารที่คนส่วนใหญ่นึกถึงความคุ้มค่าในการกิน ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายของอาหารคาวหวาน บวกกับบางร้านมีเครื่องดื่มหวานๆ ชื่นใจแถมให้ด้วย อย่างไรก็ตามร้านอาหารส่วนใหญ่ก็จะมี condition เพื่อไม่ให้สายกินถล่มอาหารซะหมดร้านด้วยการจับเวลา
 
วันนี้ Health Addict จะมาเผยเคล็ดลับการกิน Buffet ยังไงให้คุ้มที่สุด ยังไม่หมดแค่นั้นเราจะมาบอกอีกว่าสายสุขภาพทั้งหลายที่ห่วงเรื่องรูปร่าง การกินบุฟเฟ่ต์ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด 
 
คุ้มที่ 1...เตรียมกระเพาะยังไงให้พร้อมที่สุด
เชื่อว่าคนส่วนใหญ่เมื่อนึกถึงมื้อบุฟเฟ่ต์จะต้องนึกถึงมื้อเย็นแน่นอน เพราะเป็นมื้อที่เราเหนื่อยมาทั้งวัน และถึงเวลาแล้วที่ต้องเติมความฟินผ่านทางลิ้นเพื่อให้กระเพาะยิ้มร่าเริง บางคนถึงกับอดอาหารทั้งวันเพื่อมื้อบุฟเฟ่ต์ตอนเย็น โดยหวังว่าจะเป็นมื้อที่เจ้าของร้านต้องจ้างให้ลุกจากโต๊ะ เพราะถ้าปล่อยไว้นานกว่านี้อาหารที่หายวับไปอย่างกับธรณีสูบนั้น เจ้าของร้านต้องน้ำตารินเพราะขาดทุนแน่นอน
แต่รู้หรือไม่ว่า การอดอาหารทั้งวันเพื่อถล่มบุฟเฟ่ต์มื้อเย็นนั้น เป็นการตัดสินใจที่ผิดมหันต์ เพราะตามธรรมชาติของกระเพาะอาหารแล้ว จะสามารถขยายและแฟ่บตัวได้ และลองนึกภาพตามสิว่า ระหว่างวันที่เราหมายมั่นปั้นมืออดอาหาร เพื่อไปทำการชิงแชมป์กินคุ้มตอนเย็น ขณะนั้นกระเพาะอาหารจะอยู่ในสภาพหดตัว และเมื่อกริ่งเวลาของบุฟเฟ่ต์เริ่มขึ้น ภาพที่ออกมาคือเราจะนำทุกอย่างบนโต๊ะกรูเข้าปากให้เร็วที่สุดเพราะกลัวจะไม่ทันเวลา และเมื่ออาหารที่รังสรรค์คัดเลือกมาได้อันตรธานหายไป แต่กลับไปอยู่ในกระเพาะที่กำลังหดตัว ก็ขอบอกเลยว่ากินแป้บๆ คุณก็จะอิ่มแน่นอน เพราะฉะนั้นการอดอาหารเพื่อถล่มมื้อเดียวควรเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงถ้าคุณอยากได้ความคุ้ม
 
คุ้มที่ 2...บุฟเฟ่ต์ช่วงไหนคุ้มที่สุด
คุ้มที่ 1…คุ้มเพื่อสุขภาพ อย่างที่บอกว่าเมื่อนึกถึงอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ ต้องยกให้ช่วงมื้อเย็นเป็นมื้อยอดนิยม ซึ่งปกติก็จะเริ่มประมาณ 6 โมงเย็นเป็นต้นไป จากสถิติของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลเปิดเผยว่า ช่วง 2 ปีให้หลังระหว่างปี 2560-2562 มีผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน (Gerd) เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยหลักก็มาจากพฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่เหมาะสมกับร่างกาย เช่น การทานอาหารแล้วนอนเลย หรือการทานอาหารมากเกินไปในหนึ่งมื้อ
มาถึงจุดนี้ก็คงไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติมว่า เพื่อสุขภาพที่ดีทำไมเราถึงไม่ควรทานบุฟเฟต์มื้อเย็น เพราะเมื่อถึงเวลาเข้านอน บางครั้งอาหารที่เราเพิ่งโหมกระหน่ำกินไปยังไม่ทันย่อย ก็เกิดไหลย้อนกลับขึ้นมา บางครั้งน้ำย่อยบางส่วนก็ติดสอยห้อยตามขึ้นมาด้วย และเมื่อมีพฤติกรรมนี้บ่อยๆ สุดท้ายก็ไม่รอดพ้นกับโรคกรดไหลย้อน
คุ้มที่ 2...เพื่อปริมาณ มื้ออาหารที่ควรจัดบุฟเฟ่ต์มากที่สุดคือมื้อ Brunch หรือมื้ออาหารควบระหว่างมื้อเช้าและมื้อเที่ยง เพราะเป็นการทานอาหารที่ไม่อิ่มจากมื้ออื่นและไม่อดจนหิวโซจนเกินไป จึงทำให้มื้อนี้จะเป็นมื้อที่เราทานอาหารได้เยอะที่สุด เพื่อเป็นขุมพลังงานให้เรามีแรงตลอดทั้งวัน 
 
คุ้มที่ 3...อยากกินได้เยอะ ห้ามกินสิ่งนี้
เคยสงสัยกันมั้ยว่า ทำไมร้านอาหารที่เป็นบุฟเฟ่ต์ส่วนใหญ่จะชอบให้เราซื้อน้ำเปล่า แต่สำหรับน้ำหวานหรือน้ำอัดลมจะแถมมาในคอร์ส ทั้งๆ ที่ต้นทุนของเครื่องดื่มเหล่านั้นน่าจะสูงกว่า เหตุผลคือน้ำหวานทุกอย่างที่เราดื่มเข้าไปจะทำให้เราอิ่มเร็วขึ้นยังไงล่ะ ข้อมูลจากเวปไซต์ snacknation ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ความหวานที่เรารู้จักนั้น เกิดจากน้ำตาลหลายชนิด เช่น น้ำตาลฟรุกโตส(Fructose) กลูโคส(Glucose) หรือแล็กโทส(Lactose) ซึ่งน้ำตาลเหล่านั้นเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวและมีขนาดเล็ก จึงทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมและนำไปใช้ได้ทันที ดังนั้นสมองจะสั่งงานให้เราอิ่มทันทีเมื่อร่างกายเรามีปริมาณน้ำตาลที่สูงเกินไป และจนกว่าที่น้ำตาลจะค่อยๆ ลดลงในลิมิตที่เหมาะสม ก็จะถึงช่วงหมดเวลาของบุฟเฟ่ต์พอดี 
พูดเรื่องการกินบุฟเฟ่ต์ให้คุ้มในเรื่องปริมาณไปแล้ว ต่อไปจะเป็นการพูดถึงการกินบุฟเฟ่ต์ยังไงให้ดีต่อสุขภาพ ซึ่งก็ขอพูดจุดนี้เลยว่า คนที่รักสุขภาพแบบจ๋าๆ นั้น การกินบุฟเฟต์ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมเลย แต่เอาเถอะน่า คนออกกำลังกายยังต้องมีวัน Cheating Day เราก็ได้เตรียมวิธีรับมือกับการกินบุฟเฟ่ต์ เพื่อไม่ให้ทำร้ายสุขภาพมากเกินไปมาฝากด้วยเช่นกัน
 
Healthy Rule #1...อย่าอัดเยอะไปจนไม่เหลือที่ให้ไฟเบอร์
หลังจากที่อัดอาหารหมวดโปรตีนจากเนื้อสัตว์ หรือคาร์โบไฮเดรตจากข้าวหรืออาหารจำพวกเส้นไปแล้ว สิ่งหนึ่งที่เรามักจะพลาดตกม้าตายในช่วงท้ายของมื้อบุฟเฟ่ต์คือ ไม่เหลือแม้แต่พื้นที่จะหายใจเข้าให้เต็มปอด พฤติกรรมการกินแบบนั้นนอกจากจะทำให้เราอึดอัดจนต้องปลดเข็มขัดออกแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคกรดไหลย้อนให้เราได้อีกด้วย แต่อาการหรือความเสี่ยงเหล่านั้นจะลดลง ถ้าเรารู้ลิมิตการกินของตัวเอง โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ในอัตรา 50:30 และ 20 โดยให้ส่วนของ 50 เป็นส่วนของอาหารหลัก หรืออาหารจำพวกเนื้อและคาร์โบไฮเดรต อีก 30 เป็นส่วนของอาหารจำพวกไฟเบอร์จากผักและผลไม้ เพราะอาหารจำพวกนี้จะช่วยลดการดูดซึมอาหารในกระเพาะและลำไส้ และเมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะลดการตกค้างของอาหาร ส่งผลให้ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งกระเพาะและลำไส้ไปในตัว และส่วนของ 20 สุดท้าย ก็เพื่อให้เราพอพยุงร่างลุกออกจากโต๊ะ เดินกลับบ้านไปได้โดยไม่ต้องพะวงว่าตะขอหรือซิปจะแตกหรือไม่
 
Healthy Rule #2...คิดจะกินบุฟเฟ่ต์ ต้องหาตัวช่วยย่อย
ด้วยความหลากหลายของร้านอาหารประเภทบุฟเฟ่ต์ ที่ต่างก็หากลเม็ดสารพัดมาดึงดูดลูกค้า โดยเฉพาะตัวเลือกของอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารฝรั่ง อาหารจากแดนอาทิตย์อุทัย หรือแม้กระทั่งอาหารจากบ้านเกิดแดจังกึมก็ถือว่าได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ดังนั้นเมื่อเรามีตัวเลือกหลากหลาย เราก็ต้องนำสิ่งเหล่านี้มาสร้างประโยชน์ให้มากกว่าความอร่อย สิ่งที่ Health Addict อยากแนะนำให้เหล่าผู้ชื่นชอบบุฟเฟ่ต์คือ ระหว่างการทานให้กินกิมจิไปด้วยเรื่อยๆ จากการวิจัยด้านอาหารจากศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลว่า ในกิมจิหรือผักดองแบบเกาหลีนั้น จะมีกระบวนการสร้างกรดตามธรรมชาติ เช่น กรดแลคทิก (Lactic) นอกจากนั้นยังมีการสร้างจุลินทรีย์อีกหลายชนิดจากกรดดังกล่าว เช่น แล็กโทบาซิลลัส (Lactobacillus) ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้จะช่วยลดอาการท้องอืดหลังตะบี้ตะบันกินบุฟเฟ่ต์อย่างไม่ลืมหูลืมตา และยังมีฤทธิในการช่วยในการขับถ่ายในวันถัดไป
 
Healthy Rule #3...เมื่อกลไกตามธรรมชาติเอาไม่อยู่ ต้องพึ่งตัวช่วย
สำหรับใครที่ไม่ว่าจะสรรหาทุกวิถีทาง เพื่อลดอาการจุกเสียดแน่นท้องหลังกินบุฟเฟ่ต์แต่ไม่ได้ผล ยังพอมีอีกหนึ่งตัวช่วยนั่นก็คือยาสามัญประจำบ้านที่ทำมาจากสมุนไพรไทย ที่มีฤทธิในการลดอาการจุกเสียด แน่นท้อง สมุนไพรตัวนั้นก็คือขมิ้นชัน ซึ่งในปัจจุบันสามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป ที่สำคัญควรทานตามปริมาณบนฉลากเท่านั้น อย่าเบิ้ลตามความพองของพุง หรือใครบางคนที่พอจะหายากลดกรดชนิดอื่นก็สามารถใช้ทดแทนกันได้ 
เป็นยังไงบ้างกับวิธีการกินอาหารบุฟเฟ่ต์ให้คุ้มในเรื่องปริมาณ แต่ด้วยความเป็นห่วงจากใจจริง ควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารบุฟเฟ่ต์ หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ให้ทานแต่พอดี และอย่าเห็นแต่ความคุ้มค่า จนลืมไปว่าสุขภาพก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน
 
-->