กินปลามากเกินไป...ใช่ว่าจะดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์

โปรตีน โอเมก้า น้ำมันปลา ไขมันดี วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งในบรรดาสารอาหารที่พบได้ใน ‘ปลา’ ซึ่งเป็นสัตว์ที่ได้ชื่อว่ามีคุณค่าทางอาหารสูง และเป็นวัตถุดิบสุดโปรดสำหรับคนรักสุขภาพ แต่ล่าสุด บทความจาก BBC ที่อ้างอิงข้อมูลจาก Nation al Health Service (NHS) สหราชอาณาจักร ได้ออกมาเตือนว่า การกินปลามากเกินไปอาจไม่เป็นผลดี โดยเฉพาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะอาจได้รับสารพิษส่งผ่านไปถึงลูกน้อยเป็นของแถม



ทำไมในปลาถึงมีสารพิษ?
เรื่องนี้ต้องเล่าย้อนกลับไปในช่วงก่อนทศวรรษที่ 1980 มีสารเคมีตัวหนึ่งที่ชื่อว่า โพลีคลอรีนไบฟีนิล (PCBs) เป็นสารเคมีอันตรายที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งแม้ว่าภายหลังจะมีการแบนสารเคมีชนิดนี้ไปแล้วในหลายๆ ประเทศทั่วโลก แต่ตัวสารเคมีก็ยังตกค้างอยู่ในพื้นดิน รวมถึงในมหาสมุทร และถูกดูดซับโดยไมโครพลาสติกที่มาจากขยะพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก หรือบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เมื่อสัตว์กินไมโครพลาสติกพวกนี้เข้าไป PCBs ก็จะเข้าไปอยู่ในร่างกายของสัตว์ และส่งต่อถึงมนุษย์เป็นทอดๆ ซึ่งในบรรดาสัตว์ทะเลนั้นปลาถือว่าเป็นสัตว์ที่มี PCBs ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว

ด้วยพิษของ PCBs ที่ค่อยๆ สะสมในร่างกาย และส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว โดยอาจร้ายแรงถึงขั้นทำให้เกิดมะเร็งได้เลย ทาง NHS เลยออกมาเตือนคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ รวมถึงคุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ให้จำกัดปริมาณการบริโภคปลาต่อหนึ่งสัปดาห์ไม่เกิน 280 กรัม ซึ่งปลายอดฮิตอย่างแซลม่อน ซาดีน หรือกะพงขาว ก็ไม่ได้รับการยกเว้น ทั้งนี้ก็เพื่อลดความเสี่ยงในการรับสารพิษ และเพื่อความปลอดภัยของตัวคุณแม่และลูกน้อยเอง

‘สารปรอท’ ก็ต้องระวัง
สิ่งที่น่ากลัวอีกอย่างคือ สารปรอท ซึ่งเป็นสารที่เป็นพิษต่อระบบประสาทและสามารถส่งผลต่อพัฒนาการเด็กในครรภ์ นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับการเกิดโรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคหัวใจด้วย โดยกว่า 78% ของปรอทที่เรารับเข้าไปในร่างกายในแต่ละวันนั้น มาจากปลาและอาหารทะเล ทำให้ทางคณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐอเมริกา (FDA) เค้าก็ออกมาเตือนคุณแม่ตั้งครรภ์เหมือนกันว่าควรลงปริมาณการบริโภคปลาลงให้เหลือ 1 หน่วยบริโภคต่อสัปดาห์ เพื่อป้องกันการได้รับสารปรอทในปริมาณที่มากเกินไป

นอกจากนี้ ปริมาณสารปรอทในทะเลมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จากหลักฐานที่บ่งชี้ว่าระดับของสารปรอทที่พบในมหาสมุทรนั้นสูงขึ้นตามอุณหภูมิโลก โดยงานวิจัยได้อธิบายว่า การละลายของน้ำแข็งในขั้วโลกใต้ทำให้สารปรอทที่อยู่ใต้น้ำแข็งกระจายลงสู่น้ำทะเล

ปลาญี่ปุ่นก็ไม่รอด เจอไมโครพลาสติกอื้อ!
ญี่ปุ่นถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่กินปลากันเป็นหลัก โดยคนญี่ปุ่นเชื่อกันว่าปลาเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพอันดับต้นๆ แต่จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยโตเกียวในปี 2011 พบไมโครพลาสติกซึ่งมีสารพิษปนเปื้อนอยู่ในลำไส้และทางเดินอาหารของปลาราว 80% ของจำนวนปลาในทะเลญี่ปุ่นเลย ซึ่งอาหารของคนที่ได้รับ PCBs เข้าไปในปริมาณเกิน 1 กรัม ก็จะเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เปลือกตาบวม ผิวหนังและเล็บมีสีคล้ำ เกิดฝีและตุ่มเล็กๆ ตามผิวหนัง ในคนไข้บางคนอาจมีอาการอยู่ได้นานเป็นปีๆ เลย ส่วนทารกที่ได้รับสารพิษจากแม่ ก็จะมีอาการทางผิวหนัง และน้ำหนักตัวที่น้อยกว่าปกติ

ยังไงก็ตาม ปลายังถือเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายมากมาย แต่ทางที่ดีก็ไม่ควรที่จะกินมากเกินไป พยายามกินอาหารให้หลากหลาย ไม่กินอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไปก็จะเป็นผลดีต่อสุขภาพมากที่สุด
-->