กินหมู (ดิบ) แล้วหูดับ...ทำยังไง

 
หูดับไม่ใช่แค่เรียกแล้วไม่ได้ยิน ถึงจะฟังดูคล้ายกัน แต่บอกเลยว่าเป็นคนละเรื่อง (เดียวกัน) เพราะหูดับหรือไข้หูดับนั้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลย โดยโรคไข้หูดับนี้แม้จะพบในประเทศไทยมา 50-60 ปีแล้ว แต่ระยะหลังความถี่ในการเกิดโรคเพิ่มขึ้น อย่างเร็วๆ นี้ก็มีข่าวอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยในจังหวัดพิษณุโลกวัย 49 ป่วยโรคไข้หูดับเสียชีวิต หลังซื้อเนื้อหมูมาทำหมูกระทะ และได้หั่นหมู ทั้งที่มือเป็นแผล จนทำให้เชื้อเข้าไปในกระแสเลือด รวมถึงก่อนหน้านี้ที่มีข่าวมาเป็นระยะๆ ก็ทำให้ต้องมอบมงให้โรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ (Emerging) อีกโรคหนึ่งที่ต้องระวัง

 
กินหมูแล้วหูดับ...ได้ยังไง?
สำหรับคำถามนี้ พญ.วรรนธนี อภิวัฒนเสวี แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลพระรามเก้า ได้ให้คำตอบไว้ว่า “โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1. เกิดจากการบริโภคเนื้อและเลือดหมูที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ 2. การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค จากทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา หรือสัมผัสเลือดของหมูที่กำลังป่วย”
 
ไข้หูดับกับปัญหาการได้ยินเกี่ยวกันมั้ย?
เมื่อพูดถึง ไข้หูดับ ก็อาจทำให้นึกไปถึงปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน ซึ่งจริงๆ แล้วก็อาจจะพอเกี่ยวกันอยู่บ้าง เพราะสาเหตุที่เรียกโรคนี้กันว่าโรคไข้หูดับนั้น เพราะอาการเด่นของโรคนอกจากจะมีไข้สูงแล้ว ยังมีภาวะสูญเสียการได้ยิน หรือเข้าใจง่ายๆ ว่าหูดับนั่นเอง โดยโรคไข้หูดับนี้ ถูกพบครั้งแรกที่ประเทศเดนมาร์ก ในปี พ.ศ. 2511 หลังจากนั้นก็พบในอีกหลายประเทศ ก่อนที่ในปี พ.ศ.2548 จะเกิดการระบาดครั้งใหญ่ในประเทศจีน โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ล้วนมีประวัติการสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเรา พบโรคนี้ครั้งแรกในปี พ.ศ.2530 จากผลการสํารวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปี 2561 พบว่ามีการติดเชื้อกระจายเกือบทุกภาค โดยเฉพาะภาคเหนือ เนื่องจากมักทำอาชีพเลี้ยงหมูและมีเมนูอาหารพื้นบ้านที่เป็นของดิบ 
 
กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังไว้
เพราะเป็นโรคที่เกิดจากการกินและสัมผัสเนื้อหมูดิบ ดังนั้นกลุ่มแรกที่ต้องระวังคือ คนที่มีอาชีพเกี่ยวกับการเลี้ยงหมู หรือต้องใกล้ชิดกับหมู รวมถึงใครที่ชอบกินสุกๆ ดิบๆ รวมถึงผู้ติดสุราเรื้อรัง เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายอ่อนแอติดเชื้อได้ง่ายแล้ว อาหารดิบยังเป็นเมนูกับแกล้มของโปรดของสายดื่มอีกด้วย เช่นเดียวกับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ หรือเคยตัดม้ามออก เพราะหากติดเชื้อจะมีอาการป่วยรุนแรง เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำ
 
อาการนี้ชี้ชัดว่าหูดับ
ส่วนมากแล้วอาการของโรคจะเกิดขึ้นหลังจากกินเนื้อหมู หรือสัมผัสเลือดของหมูที่กำลังป่วย 3-5 วัน โดยจะมีอาการ 
• มีไข้สูงเฉียบพลัน
• ปวดเมื่อยตามเนื้อตัวและข้อ
• ปวดเวียนศีรษะ จนรู้สึกอยากอาเจียน
• มีจ้ำเลือดตามตัวและผิวหนัง
• ซึม คอแข็ง และอาจรุนแรงถึงขั้นชัก 
• หากไม่ได้ทำการรักษา จะทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง ประสาทหูชั้นในทั้งสองข้าง และกระแสเลือด จนมีอาการรุนแรง ทำให้เยื่อหุ้มสมอง หัวใจ ข้อ และม่านตาเกิดการอักเสบ เป็นหนองบริเวณปลายประสาทรับเสียง และปลายประสาททรงตัว รวมถึงเกิดอาการหูตึงหรือหูดับ จนเป็นโรคหูหนวก
 
ฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่มีอาการที่ว่ามานี้ อย่ารอช้า ให้รีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการกินหมูดิบและสัมผัสเนื้อหมู เพื่อที่จะได้รักษาได้ทันเวลา
-->