คุณหมอช่วยเคลียร์ ปวดท้องทุกทีที่มีประจำเดือน อาการแบบนี้ผิดปกติรึเปล่า

 
หนึ่งในความยากลำบากของการเป็น “ผู้หญิง” คงจะหนีไม่พ้นการมีประจำเดือน เพราะนอกจากจะทำให้อารมณ์แปรปรวนหงุดหงิดง่ายแล้ว ยังมีอาการทางร่างกายอย่างเช่นอาการปวดท้องน้อย ซึ่งสำหรับผู้หญิงบางคนอาจมีอาการปวดท้องน้อยถึงขั้นรุนแรงจนไม่สามารถลุกขึ้นมาใช้ชีวิตประจำวันได้เลยทีเดียว 


 
ด้วยความสงสัยรูปแบบอาการปวดท้องของผู้หญิงไทย Health Addict เลยได้ไปทำการสำรวจและพูดคุยกับผู้หญิงวัยทำงานอายุระหว่าง 23-40 ปี จำนวน 51 คน ถึงอาการปวดประจำเดือนของแต่ละคน ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลและทำการจัดกลุ่มออกมาคร่าวๆ ทำให้เราพบว่า อาการปวดประจำเดือนของผู้หญิงที่เราได้ทำการสำรวจนั้นมีอยู่ประมาณ 4 รูปแบบหลักๆ คือ ปวดเฉพาะวันแรก (41%), ปวดมากกว่าหนึ่งวัน (24%), ปวดทุกวันที่มีประจำเดือน (4%), และไม่ปวดเลย(31%)
 
จุดนี้ยิ่งทำให้เราสงสัยหนักกว่าเดิม ว่าทำไมผู้หญิงถึงมีอาการปวดประจำเดือน และปัจจัยที่ทำให้แต่ละคนมีรูปแบบการปวดที่ไม่เหมือนกัน เราเลยขอพุ่งตัวไปคุยกับ พญ.ถนอมศิริ สติฐิต สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลพญาไท 2 เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้หายข้องใจกัน
 
 
ปวดประจำเดือน...มีสาเหตุจากอะไรกันแน่
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจรูปแบบของอาการการปวดท้องประจำเดือนกันก่อน ซึ่งคุณหมอได้อธิบายว่า ในทางการแพทย์นั้นการปวดประจำเดือนมีอยู่เพียง 2 รูปแบบ คือ

1.  ปวดแบบไม่มีรอยโรค (primary dysmenorrhea) คืออาการปวดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของร่างกาย เกิดจากสารเคมีที่เรียกว่า โพรสตาแกลนดิน (prostaglandins) ซึ่งร่างกายของเราจะมีการหลั่งสารตัวนี้เพื่อไปกระตุ้นทำให้มดลูกบีบตัว เพื่อให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน
 
2.  ปวดแบบมีรอยโรค (secondary dysmenorrhea) เป็นอาการปวดที่จะเกิดจากรอยโรคในร่างกาย เช่น มีเนื้องอกมดลูก มีการอักเสบในอุ้งเชิงกราน หรือมีเรื่องของเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งรูปแบบนี้มักจะเป็นกลุ่มใหญ่ที่เราจะพบเจอ
 

วิธีสังเกตอาการ!  ปวดแบบมีโรค vs. ปวดแบบไม่มีโรค
ทีนี้เราจะรู้ได้ยังไงว่าอาการปวดประจำเดือนของเราถูกจัดอยู่ในกลุ่มไหน นี่คือเช็กลิสต์ที่จะช่วยเช็กว่าอาการปวดแบบนี้เข้าข่ายปวดแบบผิดปกติหรือเปล่า

1. ปวดแบบไม่มีรอยโรค คนกลุ่มนี้มักจะมีอาการปวดมาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นและมีอาการปวดเท่าๆ เดิม ไม่ได้มีอาการปวดมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่มีได้ในผู้หญิงบางคน
 
2. ปวดแบบมีรอยโรค ส่วนกลุ่มนี้มักจะเป็นหลังอายุ 20 ขึ้นไป และ Level อาการปวดมักจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากที่เราอาจใช้แค่กระเป๋าน้ำร้อนหรือกินยาแก้ปวดวันสองวันก็หาย แต่หลังๆ กินยาแก้ปวดแล้วก็ยังไม่หาย แถมอาการปวดยังรุนแรงมากขึ้น บางทีปวดจนไปทำงานไม่ได้ หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น
 
● ประจำเดือนมาผิดปกติ คือรอบของประจำเดือนเร็วกว่า 21 วัน หรือห่างเกิน 35 วัน  
● ประจำเดือนมามากกว่า 7 วัน
● ปริมาณประจำเดือนมากผิดปกติ เช่น ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 2 ชั่วโมง หรือต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยแถบกาวแบบ 40 ซม. มากกว่า 3 ชิ้นต่อวัน
 
 ซึ่งคุณหมอบอกเลยว่า ถ้าใครที่มีอาการปวดเพิ่มมากขึ้นหรือประจำเดือนมาผิดปกติแบบนี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการปวดให้แน่ชัด ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้
 

กินยาแก้ปวดประจำเดือน มีผลข้างเคียงหรือเปล่า?
หลายคนแทบจะเป็นเพื่อนสนิทกับยาแก้ปวด “ยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs หรือ non-steroidal anti-inflammatory drugs) จะช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้ค่อนข้างดี เพราะเป็นยาที่ขัดขวางการสร้างโพรสตาแกลนดิน ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดท้องประจำเดือน แต่ยังไงก็ต้องระวัง เพราะยาในกลุ่มนี้บางตัวอาจกัดกระเพาะอาหารได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นหากจะทานยานี้ ควรจะต้องทานหลังอาหารทันที และก็ควรสอบถามรายละเอียดการใช้ยาจากเภสัชกรผู้จ่ายยาทุกครั้ง ที่สำคัญที่คุณหมออยากจะเตือนหนักๆ เลยก็คือ “ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง” เพราะอาจมีการแพ้ยาและมีอาการแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้ 
 
 
‘ยาคุมกำเนิด’ ล่ะ ช่วยลดอาการปวดได้มั้ย? 
“หลายคนอาจจะเข้าใจว่าการทานยาคุมกำเนิดทำให้อาการปวดประจำเดือนหายไปได้ นั่นเป็นเพราะยาคุมกำเนิดจะไปยับยั้งการตกไข่ ซึ่งโดยปกติกระบวนการตกไข่ มันก็จะไปกระตุ้นสารเคมีที่ทำให้มดลูกหดตัว ทำให้เกิดอาการปวดประจำเดือนได้” พอจะเห็นภาพกันมากขึ้นมั้ย มันก็เหมือนกับการที่เราไปแก้ปัญหาที่ต้นทาง คือรู้ว่าถ้ามีการตกไข่ ก็จะมีสารเคมีที่ทำให้มดลูกเกิดการหดตัว ซึ่งเมื่อมดลูกหดตัวก็ทำให้เกิดอาการปวดท้อง เพราะฉะนั้นจึงมีการใช้ ‘ยาคุมกำเนิด’ เข้ามาช่วย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นยาคุมกำเนิดแบบเม็ดสำหรับทาน แบบแผ่นแปะ แบบฝัง หรือแบบฉีดยา ก็จะใช้หลักการเดียวกัน
 
 
ข้อดีของ “ยาคุมกำเนิด” ที่มีมากกว่าเรื่องปวดท้องประจำเดือน
แล้วการกินยาคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่องจะมีผลข้างเคียงหรือเปล่า? นี่อาจเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจของสาวๆ ซึ่งคุณหมอถนอมศิริก็ได้ให้คำตอบว่า “ไม่มีผลข้างเคียงอะไรค่ะ เพราะยาคุมกำเนิดเดี๋ยวนี้มันเป็นฮอร์โมนต่ำและเป็นฮอร์โมนที่ค่อนข้างเหมือนธรรมชาติ การกินยาคุมกำเนิดนานๆ มีข้อดีคือป้องกันมะเร็งรังไข่และป้องกันมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ แต่จะไม่สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ เพราะฉะนั้นในผู้หญิงที่กินยาคุมกำเนิด ยังไงก็ควรต้องตรวจเช็กมะเร็งปากมดลูกอยู่ดี” ถึงยาคุมกำเนิดดูจะมีข้อดีอยู่มาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ควรต้องให้ผู้เชี่ยวชาญหรือเภสัชกรที่มีความรู้เป็นผู้จ่ายยาและให้คำแนะนำในการทานที่เหมาะสม
 
แต่ถ้าใครที่ไม่อยากกินยาคุมทุกวัน ยาคุมแบบฉีดก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับสาวๆ หลายคน ซึ่งพญ.กรพินธุ์ รัตนสัจธรรม สูตินรีแพทย์ จากรพ.สมิติเวช ชลบุรี ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ยาคุมแบบฉีดมี 2 ชนิด คือแบบฉีดทุกเดือน กับแบบฉีดทุก 3 เดือน ซึ่งข้อดีของยาคุมแบบฉีดทุกเดือนคือไม่ต้องกินยาคุมทุกวัน และประจำเดือนก็ยังมาปกติทุกเดือน ส่วนแบบฉีดทุก 3 เดือน ข้อดีก็คือไม่ต้องฉีดบ่อยแต่จะมีข้อเสียตรงที่ประจำเดือนที่เคยมาปกติเป็นรอบๆ จะไม่มาแล้ว และมักจะมีเลือดออกกระปริดกระปรอยได้บ่อย เป็นๆ หายๆ อยู่เป็นปี หรือไม่มีประจำเดือนเลย เพราะฉะนั้นใครที่แพลนจะมีลูกเร็วๆ นี้ หมอจะไม่แนะนำให้ใช้ยาแบบฉีดทุก 3 เดือน เพราะกว่าไข่จะกลับมาตามตกปกติบางคนใช้เวลาเป็นปี และไม่มียาอะไรที่สามารถเร่งให้ประจำเดือนกลับมาได้
 

 
การออกกำลังกาย...อีกหนึ่งทางออกดีๆ ที่เห็นผลได้ทันตา
บางครั้งการทานยามากๆ ก็อาจส่งผลต่อตับได้ แต่ยังมีอีกหนึ่งวิธีที่ดูเวิร์กสุดๆ แถมยังเหมาะกับสาวๆ สายเฮลธ์ตี้อย่างเราๆ นั่นก็คือ ‘การออกกำลังกาย’ ซึ่งคุณหมอได้อธิบายความสัมพันธ์ของการออกกำลังกายกับการปวดประจำเดือนให้ฟังว่า “การออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายเกิดการหลั่งของสารเอนโดรฟิน ซึ่งสามารถต้านฤทธิ์ของโพรสตาแกลนดินได้ ช่วยลดอาการปวดและทำให้การบีบตัวของมดลูกบีบตัวไม่แรงมาก” ซึ่งหลังจากที่ได้พูดคุยกับสาวๆ หลายคนที่ก่อนหน้านี้มีอาการปวดท้องประจำเดือนอยู่ตลอด แต่หลังจากหันมาออกกำลังกายแล้ว ก็กลับไม่รู้สึกปวดอีกเลย 
 
แต่สำหรับบางคนที่กังวลว่าถ้าออกกำลังกายแล้วจะยิ่งทำให้ประจำเดือนมามากกว่าปกติ  ความจริงแล้วปริมาณโดยรวมของประจำเดือนยังเท่าเดิม แต่ระหว่างที่ออกกำลังกายเราจะมีการขยับตัวทำให้ประจำเดือนมีโอกาสออกมาได้มากกว่า ตรงกันข้ามกับตอนนอน หลายคนสงสัยว่าทำไมตอนกลางคืนประจำเดือนมาน้อยกว่าตอนกลางวัน นั่นเป็นเพราะบางคนนอนนิ่งๆ และมดลูกอาจไม่ได้มีการบีบตัวตอนกลางคืน ทำให้ไม่มีเยื่อบุมดลูกหลุดลอกออกมา แต่โดยทั่วไปหากประจำเดือนมาตรงและมาไม่เกิน 7 วันก็ถือว่าปกติ  
 
สำหรับใครที่ปวดประจำเดือนมากๆ คุณหมอแนะนำให้มาตรวจหาสาเหตุ ว่าอาการปวดเกิดจากอะไร เกิดจากรอยโรคหรือเปล่า โดยคุณหมอจะทำการตรวจภายใน หรืออาจทำอัลตราซาวด์เพื่อดูตำแหน่งของเนื้องอกมดลูก เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างตรงจุด 
 
นอกจากปวดท้องน้อยแล้ว การมีประจำเดือนยังทำให้ตัวบวม ท้องอืด ปวดหัว ปวดหลัง หิวบ่อย และอารมณ์แปรปรวนง่าย นี่คือ 8 วิธีดูแลตัวเองช่วงมีประจำเดือน ให้สาวๆ พร้อมรับมือกับสถานการณ์วันแดงเดือดได้อย่างมืออาชีพ!


 
-->