จริงมั้ย?...ที่ว่ากันว่าการสูบบุหรี่ช่วยคลายความเครียดได้

 

เปิดหัวข้อมาแบบนี้ ใครที่เมื่อสูบบุหรี่แล้วรู้สึกตัวเบา ความเครียดที่มีถูกกำจัดหายไปในพริบตา นั่นคือสิ่งที่ถูกต้องแล้วของกลไกร่างกายเมื่อได้รับสาร นิโคติน “Nicotine” แต่คุณรู้หรือไม่ว่าข้อมูลจากเวปไซต์ Health Line บอกว่า การสูบบุหรี่ไม่ได้ทำให้รู้สึกผ่อนคลายสำหรับทุกคน ถ้าเป็นคนที่เพิ่งสูบแรกๆ หรือสูบบ้างเป็นครั้งคราว คนกลุ่มนี้จะรู้สึกเวียนศีรษะ คลื่นไส้ มีอาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม แต่ถ้าใครที่สูบบุหรี่แล้วรู้สึกฟินมาก ความรู้สึกเหล่านั้น เป็นสัญญาณเตือนว่า คุณอาจกลายเป็นผู้ติดการสูบบุหรี่ไปแล้วโดยไม่รู้ตัว

 

 

เพื่อนสนิทของนิโคตินที่ต้องทำงานกันเป็นทีม

ผ่านมาในยุค 2020 แล้ว เราเชื่อว่าทุกคนรู้จักดีกับชื่อสารนิโคติน ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในใบยาสูบ และทุกครั้งที่มีการเผาไหม้ของมวนบุหรี่ และมนุษย์ได้หายใจเข้าลึกๆ เพื่อสูดสารนี้เข้าไป นิโคตินจะพรุ่งปรี้ดด้วยความไวประหนึ่งว่ากำลังวิ่งแข่งระยะสั้น พุ่งตรงเข้าไปที่ถุงลมในปอดก่อนอันดับแรก จากนั้นสารตัวนี้จะกระจายตัวโดยการแทรกซึมเข้าไปในกระแสเลือด และไหลเวียนไปปลุกเพื่อนสนิทอีก 2 ตัวในสมองให้ตื่นขึ้น ซึ่งใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 7 วินาที 

เมื่อเพื่อนสนิทอย่างนิโคตินมาเยือน..เหล่าบรรดาผองเพื่อนก็ดี๊ด๊า

หลังจากที่เลือดได้นำนิโคตินขึ้นไปยังสมอง เพื่อนสนิท 2 ตัวที่ชื่อว่า โดปามีน (Depomine) และ นอร์อิพิเนฟริน(Norepinephrine) ก็จะถูกหลั่งออกมา สำหรับสารโดปามีนเมื่อหลั่งออกมาแล้ว จะทำให้ร่างกายรู้สึกร่าเริง ลั้นลามีความสุข และสำหรับสารนอร์อิพิเนฟริน เมื่อหลั่งออกมาแล้วจะทำให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว กระชุ่มกระชวย มีเรี่ยวแรงมากกว่าปกติ ซึ่งถ้าใครนึกภาพไม่ออกก็นึกถึงตอนที่บ้านไฟไหม้และมีคนยกตู้เย็นใบใหญ่ออกจากบ้านได้อย่างง่ายดาย นั่นก็เป็นเพราะร่างกายหลั่งสารตัวนี้ออกมานั่นเอง

แล้วเพราะอะไรบางคนมีความสุข..แต่กับบางคนถึงมีอาการตรงกันข้าม

อีกหนึ่งกลไกของร่างกายที่คนสูบบุหรี่ไม่ค่อยรู้คือ ภาวะไฮพอกเซีย (Hypoxia) ขณะการสูดควันเข้าไป พูดถึงแล้วภาวะนี้เป็นภาวะที่ค่อนข้างไกลตัว ซึ่งบางครั้งเราก็อาจพอเคยเป็นบ้างแต่ไม่ถึงกับ 100 เปอร์เซ็นต์ เช่น มีอาการหน้ามืด แต่ถ้าใครเคยมีอาการเป็นลม หมดสติ นั่นแหละคืออาการจากภาวะ Hypoxia แบบเต็มรูปแบบ ซึ่งภาวะนี้คือภาวะที่ร่างกายและสมองพร่องออกซิเจน อาการก็จะเริ่มจากเคลิ้มฝัน รู้สึกล่องลอย ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างช้า หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด 

โดยปกติแล้วการหายใจเข้าทุกครั้ง จะเป็นการนำออกซิเจนรอบข้างเข้าไปในปอดเพื่อกระจายตัวเข้าสู่เลือด และเลือดก็จะส่งต่อออกซิเจนไปเลี้ยงสมองตามลำดับ แต่เมื่อคนที่สูบบุหรี่หายใจเข้าโดยการสูดควันเข้าไป ควันและอากาศส่วนนั้นจะไม่ได้มีแค่สารนิโคติน แต่จะเป็นก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์แทนที่จะเป็นออกซิเจน ทำให้ผู้สูบบุหรี่เกิดภาวะ Hypoxia ชนิดเริ่มต้นชั่วขณะ และเมื่อร่างกายเกิดอาการเคลิ้มฝันจากภาวะนี้ บวกกับสารแห่งความสุขที่ถูกกระตุ้นด้วยสารนิโคติน จึงทำให้รู้สึกฟินยังไงล่ะ 
สำหรับคนที่เพิ่งหัดสูบ เมื่อสูดเข้าไปแทนที่จะรู้สึกฟิน บางรายอาจเกิดอาการหน้ามืด ปวดหรือเวียนศีรษะ เพราะร่างกายจะไม่คุ้นชินกับสารนิโคติน และยังไม่คุ้นชินกับภาวะ Hypoxia แต่เมื่อสูบไปไม่กี่ครั้ง สารตัวนี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายได้โดยง่ายและใช้ระยะเวลาอันสั้น


ไม่ใช่แค่ปอดและหัวใจที่บาดเจ็บ...แต่สมองก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน

สิ่งที่เรารู้กันอยู่แล้วคือเมื่อสูบบุหรี่ สารเคมีต่างๆ รวมถึงควันที่สูดเข้าไปจะส่งผลโดยตรงต่อถุงลม ปอดและหัวใจ ตามภาพสื่อและโฆษณาที่ปรากฎอยู่หน้าซองบุหรี่ แต่อีกหนึ่งโรคที่ค่อยๆ คืบคลานและปรากฏขึ้นคืออาการทางสมอง มีผลวิจัยจากโรงพยาบาลศิริราชให้ข้อมูลว่าผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์มากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า มากไปกว่านั้นสถาบันเวชศาสตร์การบินกองทัพอากาศให้ข้อมูลเรื่องภาวะ Hypoxia ว่าผู้ที่เกิดภาวะนี้บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับเริ่มต้นหรือขั้นรุนแรง จะทำให้เกิดอาการหน้ามืด เป็นลม และหมดสติง่ายกว่าปกติจนนำไปถึงการเสียชีวิต ยังไม่หมดแค่นั้น ผศ.นพ.สุพจน์ ตุลยาเดชานนท์ หน่วยประสาทวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยผลวิจัยว่าการสูบบุหรี่ทำให้เกิดการแตกของเส้นเลือดในสมองที่โป่งพองเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งสอดคล้องกับการเก็บสถิติเกี่ยวกับโรคนี้ของนายแพทย์ Anil Can จากโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์เนอรัล ประเทศสหรัฐอเมริกา

เมื่อมีอาการหรือรอยโรคแล้ว...มีทางแก้อะไรบ้าง

นายแพทย์เดนนิส บุ้ยส์ ภาควิชาประสาทศัลยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซ์สเวนเทิร์น ดัลลัส ให้แนวคิดง่ายๆ ว่า เมื่อต้นเหตุของโรคเกิดจากอะไร สิ่งที่ง่ายที่สุดคือการเลิกทำสิ่งนั้น ซึ่งก็หมายถึงการเลิกสูบบุหรี่นั่นเอง โดยการเลิกควรเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะการที่เลิกบุหรี่แบบเฉียบพลัน บางรายก็ใช้ได้ผล แต่สำหรับบางคนกลับเกิดผลเสียซะมากกว่า ซึ่งอาการมักจะปรากฏในรูปแบบของการแสดงออกด้านอารมณ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่าสารนิโคตินในบุหรี่คือสารเสพติดชนิดหนึ่ง ที่เมื่อร่างกายคุ้นชินแล้วหากไม่ได้รับ ผู้สูบบุหรี่จะเกิดอาการ อารมณ์แปรปรวน โกรธหรือหงุดหงิดง่าย ปวดมึนศีรษะ หรือที่เรียกง่ายๆ ว่าพิษจากการถอนบุหรี่หรือนิโคติน แต่ถ้าผ่านพ้นช่วงนั้นไปได้ ร่างกายที่เคยมีปัญหาเรื่องสุขภาพรุมเร้าจะเห็นพัฒนาการในทางที่ดีอย่างชัดเจน โดยเฉพาะระบบการทำงานของการหายใจ

อย่าปล่อยให้โครงการเลิกบุหรี่...ฮิตแค่ในคนรุ่นใหม่

โครงการรณรงค์เลิกบุหรี่ เป็นโครงการที่มีอย่างต่อเนื่องประมาณ 15 ปี ช่วงแรกๆ อาจจะใช้แทบไม่ได้ผลเลย แต่จากสถิติ 3 ปีย้อนหลังตั้งแต่ปี 2017 – 2020  สถิติการเลิกบุหรี่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี อย่างไรก็ตามคนส่วนใหญ่ที่เลิกบุหรี่ ก็ยังคงเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการทางปอด สมอง และหัวใจชนิดรุนแรงจากการสูบบุหรี่ ซึ่งส่วนนี้ก็เข้าข่ายกับสำนวนไทยที่ว่า วัวหายล้อมคอก

สำหรับวัยรุ่นหรือกลุ่มอายุตั้งแต่ 18-25 ปี แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่อยากเลิกบุหรี่ กับกลุ่มที่ทางทีมงาน สสส. หมายมั่นปั้นมือว่าจะทำให้วัยรุ่นกลุ่มนี้ห่างไกลจากบุหรี่ตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งทั้งสองโครงการถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีโดยเฉพาะกลุ่ม New Smoker ที่มีอัตราลดลงอย่างเด่นชัด



จากข้อมูลหลายภาคส่วนที่ยืนยันแล้วว่าบุหรี่ให้โทษกับร่างกายมากกว่าประโยชน์ รวมไปถึงจากประสบการณ์ตรงของผู้สูบบุหรี่ หรือคนรอบข้างที่พบเจอการเจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่ ก็คงเป็นตัวอย่างที่ดีแล้วว่า หากคุณมีโอกาสที่จะป้องกัน ย่อมเป็นไปได้และทำได้ง่ายกว่าการรักษา เพราะบางครั้งคุณอาจไม่ได้เป็นคนโชคดีที่รักษาแล้วหาย

 

-->