ชวนจัดกระเป๋ายา ต้องพก (พา) อะไรในการเดินทางบ้าง

เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปีช่วงเวลาที่หลายคนรอคอย เพราะจะได้ออกเดินทางพักผ่อนหลังจากลุยงานหนักมาทั้งปี โดยมีผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัย Surrey ในสหราชอาณาจักร บอกว่าคนเราจะมีความสุขมากเมื่อรู้ว่าจะได้ท่องเที่ยว และเพียงแค่การเตรียมตัวหรือนึกถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดก็ทำให้มีความสุขได้แล้ว นี่ไงเลยเป็นผลทำให้เสื้อผ้าแอคเซสเซอรี่ และพร็อพถ่ายรูปถูกจัดเตรียมไว้พร้อมชนิดที่ว่าให้ออกเดินทางตอนนี้เลยยังได้ แต่เดี๋ยวนะ! ก่อนจะปิดกระเป๋า ลืมไปหรือเปล่าว่ายังมีกระเป๋ายาที่ต้องพก...พาไปด้วย เพราะเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้นมาระหว่างทริป ระวังจะหมดสนุกเพราะต้องทนทุกข์ทรมานเหมือนตกนรกอเวจีปอยเปตสามล้านภพสามล้านชาติ นะคะ นะคะ นะคะ



ยาสามัญประจำ “ทริป” 
เพราะการเจ็บป่วยหรือเรื่องอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ยากจะคาดเดา เราเลยต้องเตรียม (ตัว) ให้พร้อมไว้อยู่เสมอ พวกที่คิดจะไปหาเอาข้างหน้า ขอเตือนว่าอย่าเลยเชียว เพราะเกิดไม่มีขึ้นมาแล้วจะยุ่ง ทีเสื้อผ้าข้าวของยังขนไปได้อย่างกับย้ายบ้าน จะเจียดพื้นที่ในกระเป๋าติดยาสำคัญเหล่านี้ไปสักหน่อยไม่ได้เลย (เหรอ!?)
  • ยาโรคประจำตัว สำคัญมากสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เพราะจำเป็นต้องกินต่อเนื่อง
 
  • กลุ่มยาแก้ปวด อย่างพาราเซตามอล ที่ควรพกติดไป เผื่อกรณีมีไข้ ใช้ 1 – 2 เม็ดทุก 4 – 6 ชั่วโมง
 
  • ยาแก้แพ้ เพราะการเดินทางไปต่างที่ อาจต้องเจอกับสิ่งแปลกปลอมที่ทำให้แพ้แบบที่เราก็อาจไม่รู้ตัวมาก่อน ทำให้อยู่ๆ เกิดอาการแพ้ จาม มีน้ำมูกไหล หรือคันขึ้นมา ก็สามารถกินยาแก้แพ้เพื่อลดอาการได้
 
  • ยาแก้ท้องเสีย รวมไปถึงผงเกลือแร่ และผงถ่านเพื่อลดอาการท้องเสีย ซึ่งในการเดินทางไปในสถานที่ใหม่ๆ ก็ทำให้ต้องเจอกับอาหารการกินเมนูใหม่ๆ ที่ร่างกายอาจยังไม่คุ้นชินจนเกิดอาการท้องไส้ปั่นป่วนขึ้นมาได้ แต่สิ่งที่ต้องระวังในการใช้ผงถ่าน คือ ควรกินห่างจากยาตัวอื่นอย่างน้อย 2 ชม. เพื่อไม่ให้ฤทธิ์ของผงถ่านดูดซึมยาตัวอื่น
 
  • ยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ มาคู่กันกับยาแก้ท้องเสีย เพราะในระหว่างการท่องเที่ยวอาจเผลอกินตามใจปากจนอึดอัดแน่นท้องขึ้นมา ก็ต้องให้ยาแก้ท้องอืดช่วย แต่อย่าลืมดูที่คำแนะนำการใช้ยา เพราะบางตัวต้องเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มที่
 
  • ยาแก้ปวดลดอักเสบ ในการท่องเที่ยวถึงจะสร้างความสุข และก็อาจจะมาคู่กับอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการเดินที่มากเกินไปได้เช่นกัน ซึ่งหากปวดเมื่อยมากจนถึงขั้นต้องกินยา ให้ดื่มน้ำตามมากๆ เพราะยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหาร
 
  • ยาแก้เมา เราหมายถึงเมารถ เรือ เครื่องบิน หรือยานพาหนะต่างๆ หรอกนะไม่ได้หมายถึงของมึนเมา ซึ่งถ้ารู้ตัวว่าเป็นสายเมา (ยานพาหนะ) ควรกินยาก่อนเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมง เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ในระหว่างการเดินทาง 
 
  • ยากันยุงและแมลง รวมถึงยาหม่อง ต้องมีติดกระเป๋า โดยเฉพาะสายแคมป์ สายเดินป่า
 
  • ชุดทำแผลสด ไม่ว่าจะเป็นสำลี ผ้าก๊อซ และยาใส่แผลสด ถ้าจะมีติดไปด้วยสักหน่อยก็คงจะอุ่นใจกว่า
 
  • เจลแอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัย ปิดท้ายด้วยสองไอเทมสำคัญที่ขาดไม่ได้ ซึ่งไม่ว่าจะเจ็บป่วยหรือไม่ ยังไงก็ได้ใช้งานอยู่ดี

ขนาดที่บ้านยังต้องมียาสามัญติดไว้ แล้วนี่ออกเดินทางจะไม่พกพาไปได้ยังไง...จริงมั้ย?
-->