ชั่วโมงการทำงาน กับคุณภาพชีวิตที่แตกต่าง




โจ โรบินสัน ( Joe Robinson ) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Work to Live: the Guide to Getting a Life บอกว่าไว้ หากคนเราทำงานมากถึง 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สมองจะเพิ่มความเครียดเป็นสองเท่า  ดังนั้นถ้ามีโอกาสเลือก เราควรเลือกงานที่มีชั่วโมงการทำงานน้อยกว่านั้น หรืออย่างน้อยก็ควรเป็นงานที่เรารักและสนุกกับมัน โดยมีเวลาผ่อนคลายระหว่างชั่วโมงทำงานด้วย

วันนี้ คนไทยทั่วไปยังมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยราว 51 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งถือเป็นชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยสูงสุดในเอเชียเลยทีเดียว และถ้ามองไปทั่วโลกก็จะพบว่า ส่วนใหญ่จะมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ 40-44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น นี่ยังไม่นับรวมคุณภาพและเวลาที่ใช้ในการเดินทางไป-กลับระหว่างที่พักกับที่ทำงาน ซึ่งเชื่อแน่ว่าคนไทย โดยเฉพาะใครที่ทำงานในกรุงเทพฯ น่าจะได้รับความเครียดจากการเดินทางมากกว่าประชากรในอีกหลายๆ ประเทศ

แต่ชั่วโมงการทำงานที่มากกว่าก็อาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของคนไทย เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับ...  ประเทศญี่ปุ่นที่มีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยไม่ถึง 33 ชั่วโมงด้วยซ้ำ กลับพบว่า มีพนักงานบริษัทในญี่ปุ่นจำนวนมากเสียชีวิตจากภาวะทำงานหนักเกินไป หรือที่เรียกว่า คาโรชิ -KAROSHI (過労死) ซึ่งนั่นอาจจะสะท้อนถึงความมุ่งมั่น ความเอาจริงเอาจัง การแข่งขันที่หนักกว่าการทำงานแบบไทยๆ ที่ทำไปเรื่อยๆ ชิลๆ

อย่างไรก็ดี ชั่วโมงการทำงานกลายเป็นสิ่งที่ทั่วโลกเริ่มตระหนัก โดยเฉพาะในยุโรปที่มีแนวความคิดเรื่องการทำงานสัปดาห์ละ 4 วันออกมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หรือแม้แต่การลดชั่วโมงการทำงานในแต่ละวัน โดยปัจจุบัน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประชากรส่วนใหญ่ทำงานกันแค่สัปดาห์ละ 30 ชั่วโมงเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ประเทศนี้จะได้ชื่อว่า มีประชากรที่มีความสุขที่สุดในโลก แม้ตัวเลขนี้จะไม่ได้นับรวมการทำงานนอกเวลาก็ตาม

ตัวอย่างที่ดีอีกอันหนึ่งในการเล็งเห็นคุณภาพชีวิตของพนักงานหรือคนทำงานก็คือ ในประเทศฝรั่งเศสได้มีกฎหมายห้ามนายจ้างคาดหวังหรือบังคับให้พนักงานตอบอีเมล หรือทำการอันใดที่เป็นการทำงานนอกเหนือจากเวลางานที่ตกลงกันไว้ ซึ่งน่าจะต่างกับการทำงานแบบไทยๆ ที่ยังสั่งงานกันได้แม้แต่ทาง line ตลอด 24 ชม.

ท้ายที่สุด ปัจจัยที่จะนำมาซึ่งความสุขในการทำงาน นอกจากชั่วโมงทำงานแล้ว ก็ยังต้องหมายรวมถึงสุขภาพกายและสุขภาพจิต  ที่เกิดจากความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชา สิ่งแวดล้อมในการทำงาน เงินเดือน ค่าตอบแทน รวมไปถึงค่าล่วงเวลา เงินรางวัล สวัสดิการ ความรู้สึกปลอดภัย เวลาเข้าและออกงานที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต วันหยุดพักร้อนหรือวัดหยุดตามเทศกาล ซึ่งคนไทยก็มีไม่น้อยกว่าประเทศไหนๆ เลย

 
-->