ดึงสติให้ทัน ก่อนเสพติดช้อปปิ้งออนไลน์จนหมดตัว

 
สาย F สาย (คอน) เฟิร์ม (อย่าเข้าใจผิด ไม่ใช่ฟิตแอนด์เฟิร์มนะ) หมดกันไปเท่าไหร่แล้วกับคำว่า “รับค่ะ/ครับ” นี่ยังไม่นับรวมกับอีกเป็นสิบชิ้นที่กดใส่ตะกร้าไว้ เรียกว่าวันๆ หัวบันไดบ้านแทบไม่แห้ง ไม่ใช่เพราะว่าเนื้อหอมหรอกนะ แต่เป็นคนส่งพัสดุที่เรียงแถวกันมาต่างหาก ถึงแม้ผลการวิจัยจาก  GlobalData บริษัทวิจัยระดับโลกจะระบุไว้ว่า การซื้อเสื้อผ้าออนไลน์สามารถช่วยเรื่องของอารมณ์ได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคอายุน้อยและวัยทำงาน ที่ถูกยกเลิกวันหยุดหรือกิจกรรมทางสังคม บวกกับว่าในช่วงที่ออกไปไหนไม่ได้ การดูไลฟ์ขายของ หรือไถหน้าจอโทรศัพท์ แล้วคอยกด F ให้ทันดูจะเป็นกิจกรรมที่สร้างความบันเทิงให้ได้อยู่ ก็อยากให้หยุดสักนิดแล้วคิดอีกสักที เพราะบางทีคุณอาจไม่ได้ต้องการของชิ้นนั้นจริงๆ แต่กำลังเสพติดการช้อปปิ้งออนไลน์อยู่โดยไม่รู้ตัว
 

 
ช้อปเก่ง หรือ เสพติดช้อปปิ้ง?
Shopaholic เป็นโรคทางจิต หมายถึงคนที่มีอาการเสพติดการซื้อโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความจำเป็น หรือแม้แต่สถานะทางการเงินของตัวเอง โดยจะมีความอยากช้อปปิ้งตลอดเวลา และจะรู้สึกดีขึ้นเพียงแค่ได้เดินดูหรือกดดูของ ยิ่งถ้าได้ซื้อก็จะรู้สึกดีมากขึ้น แต่หลังจากนั้นไม่นานจึงค่อยรู้สึกผิดกับสิ่งที่ทำลงไป ซึ่งอาจเป็นเพราะการช้อปปิ้งเกินความจำเป็นหรือซื้อมาซ้ำกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว จนทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา และแม้ว่าอาการนี้สาวๆ จะมีโอกาสเป็นได้มากกว่า แต่ตอนนี้หนุ่มๆ เองก็ไม่น้อยหน้าแล้วเหมือนกัน โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเสพติดช้อปปิ้งก็มีทั้งสาเหตุมาจากตัวบุคคลเอง คือ มีภาวะซึมเศร้า ขาดความภูมิใจในตัวเอง ควบคุมตัวเองไม่ได้ มีความวิตกกังวล หรือสมาธิสั้น และเหตุปัจจัยทางสังคม ยิ่งเมื่อมีช่องทางออนไลน์ที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ซื้อ ก็ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดภาวะเสพติดการช้อปปิ้งได้ง่าย รวมถึงสื่อโฆษณาต่างๆ ที่เข้าถึงผู้ซื้อได้ทุกช่องทางด้วย 
 
เช็กหน่อย! อาการนี้แสดงว่า...เสพติดช้อปปิ้งเข้าให้แล้ว


 คิดถึงการช้อปปิ้งตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ก็ตามจะต้องเข้าเว็บช้อปปิ้ง ซึ่งอาจจะยังไม่ถึงขั้นตกลงซื้อ แต่แค่ได้เลื่อนดูก็แฮปปี้แล้ว
มีเวลาทำกิจกรรมอย่างอื่นน้อยลง เพราะมัวแต่ช้อปปิ้งออนไลน์ โดยสามารถใช้เวลาหมดไปกับเว็บไซต์ช้อปปิ้งต่างๆ ได้นานนับชั่วโมง
หยุด F ไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะได้มีการคิดทบทวนแล้ว แต่ก็ยังหาเหตุผล (ข้ออ้าง) ในการซื้อของชิ้นนั้นๆ ได้อยู่ดี จนสุดท้ายก็กดจ่ายเงินไปแบบงงๆ 
หงุดหงิดเมื่อไม่ได้ของตามที่ตั้งใจ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรที่มาขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคต่อการช้อปปิ้ง ก็เป็นต้องทำให้อารมณ์เปลี่ยน จากที่เลือกดูของเพลินๆ ก็กลับกลายเป็นหัวร้อนขึ้นมา เพราะกลัวจะพลาดของชิ้นนั้นไป
ยอดการใช้จ่ายสูงขึ้นเรื่อยๆ ตอนที่ใช้อาจยังไม่ทันได้คิด กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เมื่อตอนที่เปิดดูบิลเรียกเก็บค่าบัตรเครดิตนั่นล่ะ ซึ่งอาการนี้อาจตามมาด้วยความเครียดจากการเป็นหนี้บัตรเครดิตได้
มีแต่รายการของที่ไม่จำเป็น เพราะการช้อปแบบขาดสติ ที่อาจเห็นแก่ส่วนลดเล็กๆ น้อยๆ ทำให้คุณลืมคิดไปว่าของชิ้นที่เพิ่งจะ F ไปนั้นจำเป็นต้องใช้จริงๆ หรือเปล่า กว่าจะรู้ว่าไม่จำเป็นก็ตอนที่ไปนอนกองรวมกับอีกหลากหลายชิ้นในห้องเก็บของ หรือวางตั้งไว้ให้ฝุ่นเกาะนั่นแหล่ะ
เสียดายทีหลัง  ด้วยเหตุว่าของที่ซื้อมาไม่ใช่สิ่งจำเป็นหรือที่อยากได้จริงๆ จึงทำให้ต้องเก็บมาคิดเสียดายทีหลัง พร้อมกับบอกตัวเองว่าจะไม่ซื้ออีกแล้ว แต่สุดท้ายพอเวลาผ่านไปก็ซื้อมาอีก...จนได้
 
เรียกสติก่อนเสียสตางค์! 
อาการเสพติดช้อปปิ้งออนไลน์ที่ว่านี้ ไม่ต้องไปเลิกหรือบำบัดที่ไหนไกล เพียงแค่เริ่มจากตัวเอง ด้วยการ...


 
►ลบข้อมูลบัตรเครดิต เพื่อที่ว่าก่อนจะกดจ่ายเงิน คุณจะได้มีเวลาคิดทบทวนอีกสักนิดว่าของที่กำลังจะจ่ายเงินซื้อไปนั้นจำเป็นจริงๆ แล้วหรือไม่
► จดรายการใช้จ่ายสินค้าออนไลน์แต่ละเดือน และทุกครั้งก่อนที่จะทำการซื้อของต่างๆ ให้กลับมาดูรายการนี้ เพื่อที่จะได้รู้ตัวเองว่าได้ใช้จ่ายกับอะไรไปบ้างแล้ว และเป็นของที่ซ้ำกับที่เคยซื้อไปแล้วหรือเปล่า
► ลบแอปฯ ช้อปปิ้งออนไลน์จากมือถือ รวมทั้งอันฟอลโลวเฟซบุ๊ก ไอจี และบล็อกไลน์ร้านค้าต่างๆ สำหรับคนที่ต้องการหักดิบ เพื่อเป็นการเพิ่มความยากในการเข้าถึง 
► ปิดการแจ้งเตือน หรือยกเลิกอีเมลโปรโมชันต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการเรียกสติแบบซอฟๆ เพราะเป็นการช่วยตัดตัวกระตุ้นต่อมความอยากช้อปปิ้งไปได้ทางหนึ่ง
► สำรวจของที่มีอยู่ สำหรับคนที่มีเวลาว่างแล้วไม่รู้จะทำอะไร ก็เลยเลือกที่จะหยิบมือถือขึ้นมาเข้าแอปฯ ช้อปปิ้ง ให้เอาเวลานี้ไปลองสำรวจของที่เคยซื้อๆ มา ไม่แน่ว่าคุณอาจะได้เจอกับของหลายๆ ชิ้นที่ยังไม่เคยใช้งาน หรือดีไม่ดีอาจจะยังไม่ได้แกะออกมาเลยด้วยซ้ำ เพื่อที่จะได้ย้ำกับตัวเองว่าอะไรที่ไม่ควรซื้ออีกแล้ว หรืออาจนำออกมาขายเพื่อหารายได้ชดเชยจากที่เคยเสียไปได้อีกต่างหาก
-->