ดื่มน้ำแร่ทุกวัน สุขภาพปังหรือพังกันแน่




มีใครเคยสงสัยบ้างว่าการดื่มน้ำแร่เนี่ย มันดีกว่าดื่มน้ำเปล่าปกติยังไง ดื่มแล้วช่วยเรื่องสุขภาพและความงามเหมือนที่อยู่ในโฆษณาได้จริงเหรอ สำหรับใครที่กำลังสงสัยอยู่ เรามีคำตอบ





จริงๆ แล้วน้ำแร่ที่วางขายอยู่ทั่วไปก็คือน้ำบาดาลที่มาจากแหล่งธรรมชาติ ซึ่งอาจมาจากพื้นที่ที่มีแร่ธาตุบางชนิดมากเป็นพิเศษ หลักๆ แล้วจะมีแร่ธาตุอยู่ 5 ชนิด นั่นก็คือแคลเซียม แมกนีเซียม โซเดียม โพแทสเซียม และกำมะถัน แต่จะมีแร่ธาตุชนิดไหนมากกว่ากันก็ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของน้ำ ซึ่งรสชาติก็อาจจะแตกต่างกันออกไปตามปริมาณของแร่ธาตุแต่ละชนิดอีกด้วย

ความแตกต่างระหว่าง น้ำแร่ VS น้้ำเปล่า 
ความจริงแล้วน้ำแร่กับน้ำเปล่าไม่ได้แตกต่างกันมากเท่าไหร่ เพราะในน้ำเปล่าก็มีแร่ธาตุเหมือนกันกับที่อยู่ในน้ำแร่ เพียงแต่มีปริมาณน้อยกว่าเท่านั้นเอง หากเราไม่ได้เจ็บป่วยหรือขาดแร่ธาตุตัวใด ร่างกายของเราก็ได้รับวิตามินและแร่ธาตุจากอาหารที่ทานทุกวันอยู่แล้ว 

แร่ธาตุมีประโยชน์ก็จริง แต่ไม่ควรดื่มทุกวัน
หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าการดื่มน้ำแร่ทุกวันจะทำให้สุขภาพดี จริงอยู่ที่น้ำแร่อาจมีแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่การดื่มน้ำแร่ทุกวันกลายเป็นโทษซะอย่างนั้น หลังจากที่นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ออกมาเตือนสำหรับคนที่ดื่มน้ำแร่เป็นประจำทุกวัน เพราะน้ำแร่มีส่วนประกอบของแร่ธาตุชนิดต่างๆ หากดื่มทุกวันจะทำให้ร่างกายเสียสมดุล และเกิดผลเสียตามมาได้

ก่อนซื้อ สังเกตุฉลากสักนิด
ก่อนที่เราจะซื้อน้ำแร่มาดื่มเพื่อดับกระหาย กรมทรัพยากรน้ำบาดาลยังแนะนำให้อ่านฉลากก่อนว่ามีแร่ธาตุอะไรเป็นส่วนประกอบบ้าง มีปริมาณเกินมาตรฐานหรือเปล่า เพราะแร่ธาตุมีผลต่อร่างกายเรา เช่น ในน้ำแร่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ สามารถช่วยบำรุงรักษาฟันและกระดูกได้ ซึ่งค่ามาตรฐานของฟลูออไรด์ไม่ควรเกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร หากเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด จะกลายเป็นส่งผลเสียต่อฟันและกระดูก โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 7 ขวบจะทำให้ฟันตกกระ ส่วนในผู้ใหญ่หากได้รับฟลูออไรด์เกินมาตรฐาน จะทำให้เกิดอาการกระดูกผิดปกติได้ ซึ่งค่ามาตรฐานที่ควรสังเกตุมีดังนี้
  • ฟลูออไรด์ ไม่ควรเกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร
  • ธาตุเหล็ก ไม่ควรเกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร
  • แมงกานิส ไม่ควรเกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร
  • ทองแดง ไม่ควรเกิน 1.0 มิลลิกรัมต่อลิตร
  • สังกะสี ไม่ควรเกิน 5.0 มิลลิกรัมต่อลิตร
  • ซัลเฟต ไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร
  • ไนเตรด ไม่ควรเกิน 45 มิลลิกรัมต่อลิตร
  • คลอไรด์ ไม่ควรเกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร
น้ำแร่ไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน 
น้ำแร่อาจจะดีสำหรับใครหลายๆ คนที่ต้องการเสริมแร่ธาตุให้กับร่างกาย แต่มันก็ไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคนหรอกนะ โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับไตหรือทางเดินปัสสาวะ เพราะแร่ธาตุสามารถตกตะกอนและทำให้เกิดนิ่วในท่อปัสสาวะได้ หรือคนที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ อาจต้องระวังโพแทสเซียมซึ่งอาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติได้ 

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความพอดี ทานอาหารครบ 5 หมู่ และเลือกทานอาหารให้หลากหลายและดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ เพียงเท่านี้ร่างกายของเราก็จะได้รับสารอาหารและแร่ธาตุอย่างครบถ้วนแล้วล่ะ  



 
-->