ตื่นมาฉี่กลางดึก... แบบไหน ที่ไม่ปกติ



หลายคนที่เจอปัญหานี้อาจแก้ด้วยการดื่มน้ำให้น้อยลง ซึ่งสำหรับบางคนก็อาจช่วยตัดปัญหาตื่นมาฉี่กลางดึกได้จริง แต่สำหรับบางคนแล้วปัญหาไม่ได้หายไปไหน

อยากรู้มั้ยว่าปัญหานี้มีต้นเหตุได้จากอะไรบ้าง และอาการแบบไหนที่เราต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด


 
1. ก่อนนอนกินน้ำเยอะเกิน: มันแน่อยู่แล้ว ในเมื่อคุณกินน้ำหรือเครื่องดื่มเข้าไปเยอะ ไตของคุณก็ต้องทำงานหนักเพื่อขับถ่ายของเหลวออกมา... ปัญหานี้แก้ได้ เพียงแค่งดดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มต่างๆ ก่อนเข้านอน 2-3 ชั่วโมง ก็ลดปัญหาให้คุณได้แล้ว 
 
นอกจากนี้ แคลร์ มอร์ริสัน แพทย์ที่ปรึกษาของ MedExpress ยังบอกอีกว่า เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีนยังมีฤทธิ์ขับน้ำออกจากร่างกาย ซึ่งการดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้จะยิ่งเพิ่มปริมาณปัสสาวะ ทำให้คุณต้องลุกเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น
 
2. ยาบางตัว ก็มีผลเหมือนกัน: เช่น ยาลดความดัน, ยากลุ่ม alpha-blockers ที่ช่วยขับนิ่ว, ยาคลายกล้ามเนื้อ รวมถึงยาระงับประสาทบางประเภท ก็ทำให้คุณต้องเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น

3. มีปัญหาหยุดหายใจขณะหลับ ก็ตื่นมาฉี่บ่อยขึ้น: ถ้าคุณตื่นมาฉี่หลายครั้ง อาจเป็นสัญญาณของ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือ obstructive sleep apnea (OSA) ที่คุณเจออยู่แต่ยังไม่รู้ตัว ซึ่ง 84% ของผู้ป่วยภาวะนี้จะตื่นมาฉี่มากกว่าปกติ
 
และอย่าเพิ่งคิดว่าภาวะนี้เกิดกับคนอ้วนหรือคนแก่เท่านั้น... เอมิลี่ คลิออนสกี้ นักวิจัยจากศูนย์ระบบประสาทคลิออนสกี้ แมสซาชูเซตส์ บอกว่า ภาวะนี้เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย และไม่จำเป็นว่าต้องมีน้ำหนักเกินเหมือนกัน
 
4. ตั้งท้องรึป่าว: ที่คนท้องต้องฉี่บ่อย เพราะจะมีการหลั่งฮอร์โมน human chorionic gonadotropin (hCG) หรือที่รู้จักในชื่อฮอร์โมนตั้งครรภ์ ซึ่งจะทำให้เลือดไหลเวียนไปที่ไตมากขึ้น ทำให้มดลูกขยายตัวขึ้นจนไปเบียดกับกระเพาะปัสสาวะยังไงล่ะ
 
5. อายุที่เพิ่มขึ้น ก็มีผล: ที่เป็นแบบนี้เนื่องจากยิ่งแก่ตัวลง กระเพาะปัสสาวะก็ยิ่งหดตัว ทำให้คุณต้องเข้าห้องน้ำบ่อยกว่าปกติทั้งที่ดื่มน้ำปริมาณเท่าเดิมกับเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว จึงเป็นเรื่องปกติของการตื่นมาเข้าห้องน้ำกลางดึก

ริต้า สตาร์ริตต์ อายุรแพทย์จากซานดิเอโก บอกอีกว่า เมื่อเราแก่ตัวลงก็มีแนวโน้มว่าจะไม่หลับลึกเหมือนแต่ก่อน ดังนั้นการปวดฉี่ก็จะปลุกเราให้ตื่นง่ายขึ้น นอกจากนี้หญิงวัยทองและวัยหมดประจำเดือนยังฉี่บ่อยกว่าปกติเพราะเนื้อเยื่อของท่อปัสสาวะเปลี่ยนแปลงไป ทำให้อั้นฉี่ไม่ได้นั่นเอง
 
6. ขาบวม เกี่ยวกับฉี่ยังไง: หลายคนสงสัย ขาบวมเกี่ยวอะไรกับตื่นมาฉี่บ่อย?... มาร์เซลีนา ริเวร่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินปัสสาวะจากมหาวิทยาลัยอินเดียนน่า บอกว่า เมื่อคนที่มีปัญหาขาบวมเข้านอน ของเหลวที่สะสมบริเวณขาจะไหลกลับสู่กระแสเลือด จากนั้นไตก็จะทำหน้าที่ขับของเหลวออกจากร่างกายในรูปของปัสสาวะ ซึ่งการยกขาให้สูงขึ้นเช่นจากเดิมที่นั่งห้อยขา อาจจะลองใช้หมอนมาหนุนให้ขาอยู่สูงกว่าปกติ

แต่ที่ต้องกังวลคือ "ขาบวม" อาจเป็นสัญญาณของโรคหัวใจและหลอดเลือด... เอส.อดัม รามิน ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินปัสสาวะจากลอสแอนเจลิส บอกว่า การที่ระบบหัวใจและหลอดเลือดอ่อนแอลง ทำให้ไม่สามารถปั๊มเลือดจากปลายเท้าได้แรงพอจนถึงหัวใจ ผลก็คือขาบวมและมีของเหลวสะสมอยู่ที่ส่วนล่างของร่างกายเยอะกว่าปกติ

7. โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ/ ต่อมลูกหมากมีปัญหา: ถ้าปวดฉี่แบบทันทีทันใดหรือรู้สึกแสบร้อนเวลาฉี่ อาจเป็นไปได้ว่าป่วยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหรือต่อมลูกหมากมีปัญหา ซึ่ง เอส.อดัม รามิน บอกว่า การที่ต่อมลูกหมากโตจะทำให้ผนังของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะหนาขึ้น เมื่อหนาขึ้นแล้วความจุของกระเพาะปัสสาวะก็จะน้อยลงและความยืดหยุ่นก็น้อยลงด้วย ทำให้ปวดฉี่บ่อยขึ้น
 
8. ฉี่บ่อยเพราะป่วยเป็นโรคบางอย่าง: การปวดฉี่บ่อยๆ อาจเป็นสัญญาณของโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง เช่น โรคจิตเสื่อม พาร์กินสัน เนื้องอกในสมอง เคยมีประวัติเส้นเลือดในสมองแตก เคยฉายแสงหรือผ่าตัดสมอง ทั้งยังเป็นสัญญาณแรกเริ่มของโรคเบาหวานได้อีกด้วย
  • แล้วพฤติกรรมการฉี่แบบไหน ที่เราต้องกังวล
แคลร์ มอร์ริสัน บอกว่าถ้าคุณเริ่มสังเกตว่าตัวเองตื่นมาฉี่กลางดึกมากกว่าที่เคย ให้เป็นลองจดบันทึกปริมาณเครื่องดื่มที่กินเข้าไปและความถี่ในการเข้าห้องน้ำ “ถ้าใน 1 วันฉี่มากกว่า 8 ครั้งนั้นถือว่ามากเกินไป และถ้าคุณหรือคนใกล้ตัวที่มีอายุระหว่าง 65-70 ปีตื่นมาฉี่มากกว่า 2 ครั้งต่อคืน ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะได้แล้ว” 
 
นอกจากนี้ ยูดีน แฮร์รี แพทย์องค์รวมจากฟลอริดา บอกว่า ถ้าอาการฉี่บ่อยเกิดร่วมกับความกระหายน้ำที่มากขึ้น น้ำหนักลดหรือความอยากอาหารมากกว่าปกติ ก็ควรไปหาหมอ และหากปัสสาวะมีเลือดปนออกมาด้วย หรือฉี่บ่อยแต่ออกมาน้อยมากๆ ก็ควรรีบไปหาหมอเหมือนกัน
 

ถ้าคุณหรือคนใกล้ตัวมีปัญหานี้ แล้วลองแก้ที่ต้นหตุแต่ละอย่างแล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าที่เคยเป็นล่ะก็ ถึงเวลาต้องหาหมอตรวจร่างกายอย่างจริงจังแล้วล่ะ 



 
 
-->