นอนน้อย ปาร์ตี้หนัก ระวัง Holiday Heart Syndrome

“หยุดต่อเลยได้ไหม” เนื้อเพลงแปลงที่ร้องกันจนติดปากทุกวันหยุด ซึ่งหากว่าเจ้านายได้ยินเป็นต้องไม่ถูกใจสิ่งนี้ แต่รู้หรือเปล่าว่าไม่ใช่แค่เจ้านายที่จะไม่ถูกใจ แต่ร่างกายก็อาจรับไม่ไหวจนต้องขอบาย โดยเฉพาะกับสายปาร์ตี้ที่ดื่มหนัก เพราะได้มีงานศึกษาล่าสุดในวารสารการแพทย์ The Lancet พบว่า แอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตของประชากรในช่วงอายุ 15-49 ปี หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 10 ของสาเหตุการตายทั่วโลก ยิ่งบวกกับปัจจัยเสริมอื่นๆ ทั้งการขาดการพักผ่อน ความเครียด รวมถึงโรคประจำตัวด้วยแล้ว ก็อาจจะนำมาซึ่ง Holiday Heart Syndrome หรือ ภาวะหัวใจฉุกเฉิน ที่ นพ.จีระศักดิ์ สิริธัญญานนท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 3 ได้ออกมาเตือน เพื่อที่วันหยุดจะได้เป็นวัน (แห่งความ) สุขที่แท้ทรู



เพราะอะไรทำให้ (โรค) หัวใจถามหา (ใน) วันหยุด
ได้หยุดพักผ่อนทั้งที แทนที่จะเป็นเรื่องดี กลับเป็นเหตุให้มีโรคตามมา โดยเรื่องนี้หากว่าไม่ใช่สายปาร์ตี้ก็คงไม่มีอะไรต้องกังวล  แต่ถ้าเป็นคนชอบโซเชี่ยลก็อาจจะต้องระวัง ยั้งๆ มือไว้หน่อย เพราะ นพ.จีระศักดิ์ ได้ตอบข้อสงสัยถึงความเชื่อมโยงของวันหยุดและภาวะโรคหัวใจฉุกเฉินนี้ไว้ว่า  “ภาวะหัวใจหรือโรคหัวใจที่เกิดขึ้นในวันหยุดพักผ่อน ซึ่งเป็นเวลาที่ได้หยุดอยู่กับบ้าน ไม่ต้องไปทำงาน ก็ทำให้หลายคนเลือกที่จะใช้เวลานี้ไปสังสรรค์กับเพื่อน ซึ่งก็มีโอกาสที่จะทำให้ร่างกายได้รับแอลกอฮอล์จนเกินลิมิต ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจ ทำให้วงจรไฟฟ้าเต้นผิดจังหวะ หรือเกิดความดันโลหิตสูง จนเป็นที่มาของโรคหัวใจในที่สุด โดยหากพูดถึงโรคหัวใจ ปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ก็จะเป็นเรื่องของการสูบบุหรี่ รวมถึงการรับประทานอาหารจำพวกของมัน และแป้ง เป็นผลให้มีน้ำตาลในเลือดสูง ยิ่งไปกว่านั้นหากมีเรื่องของการใช้ยาเสพติด เช่น แอมเฟตามีน โคเคน ยาไอซ์ หรือยาบ้า ก็จะปัจจัยเสริมที่เหนี่ยวนำทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ตามมาด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวได้ในที่สุด”

แอลกอฮอล์ = ศัตรูของหัวใจ
แม้ว่าแอลกอฮอล์กับงานสังสรรค์เป็นสิ่งที่มักจะมาคู่กัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าขาดกันไม่ได้ เพราะคุณหมอจีระศักดิ์ได้บอกถึงความรุนแรงของแอลกอฮอล์สามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจฉุกเฉินได้ในวันเดียวกันถ้าหากว่าร่างกายได้รับแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก 

“ระดับความรุนแรง หรือระยะเวลาแสดงอาการก็จะขึ้นอยู่กับปริมาณที่ร่างกายได้รับ แต่ถึงแม้ว่าจะยังไม่แสดงอาการ ก็ยังสามารถสะสมอยู่ในร่างกาย กระทบต่อหัวใจ ทำให้หลอดเลือดเสื่อม เกิดเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นตามมา ซึ่งก็จะเป็นลักษณะของอาการเรื้อรัง ที่ค่อยๆ เป็น อาจจะใช้เวลาเป็นปีหรือสองปีก็ได้ แต่จริงๆ โรค Holiday Heart นี้ส่วนใหญ่ก็มักจะเกิดอยู่ไม่กี่ครั้ง บางทีอาจจะเกิดวันนั้นเลยก็ได้ โดยการสะสมปริมาณพิษสุราไปเรื่อยๆ หรือปล่อยให้หัวใจเต้นผิดจังหวะนานวันเข้า กล้ามเนื้อหัวใจก็จะอ่อนแรงด้วย เพราะตัวสุรานี่มีฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง ถ้ามีการสะสมไปเรื่อยๆ สุดท้ายกล้ามเนื้อหัวใจก็จะพองโต หรือกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงเนื่องจากตัวพิษของสุรา ยิ่งถ้ามีความดันโลหิตสูง ก็หมายถึงว่าแรงเสียดทานหรือแรงต้านทานของหลอดเลือดมีความยืดหยุ่นน้อยลง เลือดมีความแข็งตัว หัวใจก็ต้องทำงานหนัก เหมือนท่อปลายทางที่มันแข็ง ปั๊มน้ำก็ต้องทำงานเยอะขึ้น เช่นเดียวกัน พิษสุราก็จะทำให้หลอดเลือดแข็งตัว หัวใจก็ต้องทำงานหนักขึ้น เพราะอย่างนั้นการดื่มสุราก็มีพิษต่อหัวใจโดยตรง ส่วนความดันโลหิตสูงทำให้หลอดเลือดเกิดอาการทำงานที่เสื่อมลง หัวใจก็จะล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจก็จะยืดออก คนไข้ก็จะมีภาวะบวม ต้องหยุดดื่มสุราเด็ดขาด”



อาการแบบนี้ที่บอกว่าโรคหัวใจ (ในวันหยุด) ถามหา
วันหยุดทีไรเป็นต้องเปิด (ปาร์) ตี้ พฤติกรรมนี้ชวนให้โรคหัวใจถามหาดีนักล่ะ โดยเรื่องนี้คุณหมอจีระศักดิ์ได้อธิบายถึงอาการของโรค Holiday Heart Syndrome นี้ว่า 

“การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากจะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น จนเกิดการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ หรือที่เรียกว่า AF มาจาก Atrial Fibrillation คือการเกิดการพลิ้วของวงจรไฟฟ้าในหัวใจห้องบน ทำให้ปริมาณการสูบฉีดโลหิตลดลงกว่าคนทั่วไป 30% เพราะฉะนั้นถ้าหัวใจเกิดเต้นพลิ้วก็คือการบีบตัวไม่สัมพันธ์กันระหว่างหัวใจห้องซ้ายบนกับซ้ายล่าง จนเป็นเหตุให้เลือดที่สูบฉีดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายลดลง ซึ่งถ้าเป็นแบบเฉียบพลัน คนไข้ก็อาจจะรู้สึกเหนื่อยหรือเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ แต่ถ้าการเต้นพลิ้วนี้คนไข้สามารถอดทนได้ ก็อาจจะกลายเป็นอาการเรื้อรัง ซึ่งคนไข้ก็อาจจะรู้สึกเหนื่อยง่ายนิดหน่อยเวลาออกแรง หรือเวลาทำกิจกรรมเยอะๆ หรือบางคนก็จะมาด้วยอาการของลิ่มเลือด เพราะว่าการเต้นพลิ้วนี่มันก็จะเป็นแอ่ง เหมือนเป็นน้ำวนที่ทำให้เลือดตกตะกอน มีลิ่มเลือดอุดตันที่ขาและสมองแบบนี้ เป็นต้น”

ดื่ม (แบบพอ) ดี...ก็ดี (ต่อ) ใจ
ในเมื่อถ้ารักจะปาร์ตี้ก็ควรจะต้องมีการดูแลตัวเอง โดยคุณหมอได้ให้คำแนะนำในเรื่องนี้ไว้ว่า ควรจะดื่มอย่างพอดี ควบคู่ไปกับการดูแล (หัว) ใจ 

“ทุกอย่างก็ควรจะต้องมีทางสายกลาง การดื่มสุราก็คงจะประมาณพอสมควร อย่าดื่มจนมากเกินไป ซึ่งบางทีเราห้ามยาก ถ้าเป็นไปได้เมื่อรู้ตัวว่ามีโรคหัวใจแล้วก็ควรหลีกเลี่ยง แต่ถ้าคนที่ยังแข็งแรงมาตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ ก็อาจจะดื่มได้ แต่ดื่มในปริมาณที่กำหนดตามเกณฑ์ ผู้ชายอาจจะไม่เกิน 20 กรัม ผู้หญิงอาจจะ 10 กรัม หรือถ้าเป็นไวน์ผู้ชายก็ไม่ควรเกิน 2 แก้ว ผู้หญิงก็ไม่ควรเกิน 1 แก้ว หรืออาจจะเพิ่มได้นิดหน่อย เพราะฉะนั้นการมาตรวจสุขภาพ เพื่อขอคำแนะนำจากแพทย์ แล้วก็รับประทานทุกอย่าง อย่างพอดีก็อาจจะช่วยทำให้เรามีสุขภาพที่ยืนยาวได้ รวมถึงหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ ในกรณีนี้คือ ถ้าอยู่ๆ ก็มีอาการหัวใจเต้นแรง หรือเต้นเร็วทั้งๆ ที่ไม่ได้ออกกำลังกาย เหมือนไปวิ่งกลับมาหรือเหมือนม้าควบ ลักษณะนี้ก็พอจะสังเกตได้ว่ามีหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือเปล่า เพราะถ้าหัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะก็จะเหนื่อยง่าย เนื่องจากว่าเลือดถูกสูบฉีดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายน้อยกว่าคนทั่วไป ก็จะรู้สึกเหนื่อยง่าย หน้ามืด เวียนหัว เป็นลม หรือออกแรงนิดหน่อยก็เหนื่อย ส่วนบางคนก็อาจจะมีอาการบวม เพราะเวลาที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ เลือดก็จะค้างอยู่ในปอด เนื่องจากไม่สามารถสูบฉีดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ ก็จะทำให้เกิดภาวะบวม หัวใจล้มเหลวได้”

ใครที่คิดว่าตัวเองมีภาวะเสี่ยงหรือเป็นคนที่ใช้ร่างกายหนัก อย่างเช่น นอนน้อย ปาร์ตี้อย่างหนักหน่วงเลยเนี่ย ทางที่ดีควรจะไปตรวจสุขภาพ ตรวจหัวใจกันดูบ้างนะ เพื่อความสบายใจและร่างกายที่ยืนยาวในอนาคตอีกด้วย และเดี๋ยวนี้หลายๆ โรงพยาบาลเขาก็ออกแพกเกจตรวจเช็คสุขภาพในราคาดี แบบที่ screening ทั้งหัวใจ สมอง และมะเร็ง เพราะการรู้เท่าทันความเสี่ยง ก็จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้อีกด้วย 

-->