ผักดิบ VS ผักสุก กินแบบไหน...ปลอดภัยกว่า


หนุ่มสาวสายเฮลธ์ตี้ที่คุมน้ำหนัก เวลาจะกินผักก็อาจสับสน...จะกินดิบหรือกินสุกดี ซึ่งบอกเลยว่าผักบางอย่างก็กินดิบได้ แต่บางอย่างก็ไม่ควร เพราะนอกจากให้ประโยชน์อาจกลับสร้างโทษให้ร่างกายเราแบบไม่รู้ตัว ว่าแต่จะมีอะไรบ้าง มาดูกันเร๊ววว

ถั่วงอก
ที่เราไม่อยากให้คุณกินถั่วงอกดิบก็เพราะขั้นตอนการเพาะถั่วงอกนั้นจะต้องใช้ความชื้นและควบคุมอุณหภูมิ ทำให้ระหว่างนั้นอาจมีเชื้อโรคบางอย่างเติบโตแพร่ขยายไปพร้อมๆ กัน เช่น เชื้อแบคทีเรีย อย่าง "อีโคไล" ซึ่งบางสายพันธุ์ก็เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะหรือปอดอักเสบได้ หรือถ้าเป็นสายพันธุ์ซาลโมเนลลาก็ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษได้เหมือนกัน

ซึ่งถั่วงอกที่เห็นขาวๆ สวยๆ นั้นก็อาจมีสารโซเดียมซัลไฟต์ ที่ฟอกสีและเพิ่มอายุความสดให้ถั่วงอก ซึ่งบางคนอาจแพ้สารนี้ หากกินเข้าไปมากๆ ก็จะทำให้คลื่นไส้ หายใจขัด ความดันโลหิตต่ำ หรืออาจปวดท้องได้ เพราะฉะนั้นถ้าคุณเป็นคนชอบกินถั่วงอกดิบ อาจจะลองเปลี่ยนมากินแบบสุกจะดีกว่า เพราะความร้อนจากการปรุงจะช่วยฆ่าเชื้อโรค ลดความเสี่ยงได้มากทีเดียว
 
ถั่วฝักยาว
ถั่วฝักยาวมักมีการปนเปื้อนของ  ยาฆ่าแมลง กลุ่มไพรีทรอยด์และคาร์บาร์เมต โดยเฉพาะไซเพอร์เมทรินและเมโทมิล  ซึ่งหากกินดิบๆ อาจเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียหรือท้องอืดได้ แต่ถ้าจำเป็นต้องกินแบบดิบจริงๆ ก็ควรล้างน้ำให้สะอาดโดยใช้มือถูรูดไปตามเส้นถั่ว แล้วหั่นเป็นท่อนๆ แช่น้ำไว้นานๆ สัก 1-2 น้ำก่อนกินดีกว่า
 
กะหล่ำปลี
กะหล่ำปลีดิบมีสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ออกซาเลต ซึ่งหากได้รับมากๆ มันจะไปจับกับแคลเซียมที่กรวยไต ทำให้เสี่ยงเป็นโรคนิ่วในไต หลายคนอาจไม่รู้ว่าในกะหล่ำปลีก็มีน้ำตาลชนิดหนึ่งที่สร้างปัญหาให้กับบางคนจนเกิดอาการท้องอืด แน่นท้อง การผัดหรือต้มกะหล่ำปลีให้สุกจะทำให้น้ำตาลที่ว่านี้เปลี่ยนเป็นโมเลกุลให้ย่อยง่าย จึงไม่ทำให้ท้องอืด
 
มีข้อควรระวังสำหรับคนที่เป็นไฮเปอร์ไทรอยด์ เนื่องจากสารกอยโตรเจนในกะหล่ำปลีดิบจะไปยับยั้งการสร้างฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ ร่างกายจึงดึงไอโอดีนจากเลือดไปใช้ได้น้อยกว่าปกติ จนเป็นสาเหตุให้เกิดโรคคอพอกได้ ซึ่งกอยโตรเจนนี้จะสลายไปเมื่อโดนความร้อน
 
หน่อไม้
กระทรวงสาธารณสุขเคยรายงานว่า ในหน่อไม้สดมี ไซยาโนจินิกไกลโคไซด์ ซึ่งหากได้รับในปริมาณมากมันจะไปจับตัวกับฮีโมโกลบิน จนทำให้เกิดอาการขาดออกซิเจน หมดสติ และถึงขั้นเสียชีวิตได้ การต้มหน่อไม้ 10 นาทีก่อนกินหรือก่อนนำไปดอง ความร้อนจะช่วยสลายไซยาโนจินิกไกลโคไซด์ได้ การกินหน่อไม้สุกจึงปลอดภัยกว่า
 
แม้พืชผักต่างๆ มักจะมีสารตกค้าง ยาฆ่าแมลง หรือสารที่เป็นอันตรายหากกินดิบๆ แต่เราก็ไม่ได้บอกว่าจะต้องกินแต่ผักสุกเท่านั้น การล้างให้สะอาด และไม่กินผักดิบบ่อยเกินไปหรือมากเกินไป ก็เป็นทางหนึ่งที่จะทำให้เรากินผักได้อย่างมีความสุข แต่ถ้าจะให้ปลอดภัย ผัก 4 ชนิดนี้... กินสุกดีกว่านะ

 
-->