ฝากความยินดี ใน “ภาวะสิ้นยินดี”



ใครเคยมีอาการ…หรือรู้สึกอะไรทำนองนี้บ้าง?
 
#เบื่อกิน ไม่เสาะหา แค่ “กินเพื่ออยู่” ไม่ได้ “อยู่เพื่อกิน” ไม่ได้มีความสุขกับการกินอย่างเคย
#เบื่อเที่ยว จากที่เคยชอบ อยากไปที่นั่นที่นี่ ทริปล่าสุดกลับไม่รู้สึกว้าวว! อะไรเลย
#เบื่อเม้าท์ ที่เคยสนุกคุย ทุกวันต้องหาเรื่องเม้าท์ โปรดปรานข่าว Gossip มาตอนนี้ใครเม้าท์อะไรให้ฟังก็เฉยๆ
#เบื่อเซ็กส์ ไม่รู้ว่าจะมีไปทำไม 

อาการและความรู้สึกทั้งหมดนี้ หากเป็นการเบื่อชั่วครั้งชั่วคราวแบบเบื่อๆ อยากๆ ไปตามอารมณ์ ก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ถ้าอาการและความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วอยู่นานจนไม่มีท่าทีจะหายไป ไม่สามารถรู้สึกยินดียินร้ายหรือหาความสุขจากสิ่งเหล่านี้ไม่ได้อีกเลย คุณอาจจะตกอยู่ใน “ภาวะสิ้นยินดี” ที่เป็นอาการ “ป่วย” รูปแบบหนึ่ง
 
ในทางจิตวิทยา ภาวะสิ้นยินดี (anhedonia) เป็นภาวะที่บุคคลไม่สามารถเกิดความพึงพอใจในกิจกรรมต่างๆ ที่เคยพึงพอใจเมื่อได้ทำ เช่น ได้กิน ได้เที่ยว ได้พูดคุย หรือแม้กระทั่งได้มีเซ็กส์ ซึ่งภาวะนี้เป็นหนึ่งในอาการสำคัญของผู้ที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ (mood disorder) ชนิดภาวะซึมเศร้า (depression) และยังสามารถพบได้ในโรคที่เป็นความผิดปกติทางจิตอื่นๆ อีกด้วย

ภาวะสิ้นยินดี อาจเริ่มจากการที่ใครคนหนึ่งเคยใช้ชีวิตได้อย่างปกติ มีความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ มีอารมณ์หลากหลายกับทุกๆ อย่าง ต่อมากลับรู้สึกเฉยๆ ไม่ยินดียินร้าย ไม่มีอารมณ์ร่วม ไม่อยากเกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนั้นอีก เพราะรู้สึกว่าทำไปก็ไม่ได้อะไร ทุกอย่างมันว่างเปล่า ดูไร้สาระ แม้แต่การลุกขึ้นมาแต่งหน้าทำผมแบบที่เคยทำทุกวันก็ไม่รู้จะทำไปทำไม เริ่มถอยออกจากสังคม เก็บตัวมากขึ้น ไม่มีแพชชั่นกับอะไรทั้งนั้น
 
ถ้าอาการเหล่านี้เกิดจากการ “ป่วยจริง” สาเหตุหลักๆ จะมาจากความผิดปกติของสารในสมองที่ไปกดอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ไว้ แม้กระทั่งอารมณ์ความรู้สึกทางเพศ แบบนี้ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทาง เพราะหากปล่อยไว้อาจนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า หรือคุณอาจจะเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ก็เป็นได้
 
แต่สำหรับบางคนอาการและความรู้สึกที่ว่านี้ อาจจะไม่ได้เกิดจากการเจ็บป่วยของสมอง แต่เป็นเรื่องของประสบการณ์ชีวิต มีความเบื่อหน่ายสังคมที่วุ่นวาย และเห็นสัจธรรมบางอย่าง จนมีความรู้สึกอยากหลีกหนี อยากวางเฉย อยากหลุดพ้นจากเรื่อง รัก โลภ โกรธ หลง ไม่อยากรู้สึกสุขหรือทุกข์ กับ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อีกต่อไป อย่างไรก็ตาม เราคงไม่สามารถวินิจฉัยได้เองว่า เราป่วยหรือไม่ป่วย เพราะเรื่องของจิตใจและพฤติกรรมนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน
 
แม้ในทางจิตวิทยา หากเรายังใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ยังสามารถไปเรียน ไปทำงานหาเลี้ยงชีพ อยู่กับเพื่อนกับครอบครัวได้อย่างไม่แปลกแยก และไม่ได้เป็นทุกข์กับความรู้สึกต่างๆ นั้นจะบอกว่าเรายังปกติอยู่ เพียงแต่อาจจะมีบุคลิกของคนวางเฉย มองอะไรเป็นกลางๆ วางเฉยไปเสียหมด สีสันของชีวิตและความหวือหวาของอารมณ์จึงขาดหายไป
 
หรือท้ายที่สุด แม้เราจะรู้ว่า ความสุข ความทุกข์ ความรู้สึกต่างๆ เป็นเรื่องชั่วคราว แต่ในสังคมมนุษย์ก็ยังจำเป็นต้องเติมสีสันให้ชีวิตเพื่อการดำรงอยู่อย่างมีตัวตนในสังคม การใช้ชีวิตที่บาลานซ์สุขทุกข์ได้ดี ย่อมน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการกดความรู้สึกเอาไว้จนกลายเป็นคนเฉยชา
 
การรู้สึกยินดีแต่พอดีในขณะที่มีความสุข รู้สึกเศร้าโศกแต่พอดีในขณะพบความทุกข์ นั่นคือ “การมีสติทุกขณะ” รักและซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง ไม่ต้องกดไว้ เพียงแต่ต้องฝึกเอาตัวเองออกมาดูตัวเองให้เป็น เป็นผู้ดู ไม่ใช่ผู้โลดแล่น เราก็จะสามารถยินดีใน “ภาวะสิ้นยินดี” แบบที่ไม่ใช่อาการ “ป่วย” ได้ เมื่อเวลาที่เหมาะสมมาถึง


 
-->