มือ เท้า ปาก หลากวิธีรับมือเพื่อลูกน้อย

ฝนมาที่ไรคนเป็นพ่อแม่แทบไม่ไหวจะเคลียร์ เพราะไหนจะต้องดูแลร่างกายตัวเองให้แข็งแรงแล้ว ยังจะต้องรับมือกับสารพัดเชื้อไวรัสที่จ้องจะเข้ามาโจมตีลูกน้อยอีก เพราะเหตุนี้เลยต้องให้ แพทย์หญิงพลอย พัฒนากิจสกุล กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลรามาธิบดี มาให้คำแนะนำการรับมือกับโรคมือเท้าปาก เพื่อที่อย่างน้อยจะได้ปลอดภัยไปแล้วหนึ่งโรค



มือเท้าปากมาจากไหน
เมื่อเข้าหน้าฝนถึงอากาศจะเย็นลงพอให้ชื่นใจ แต่หนึ่งในโรคที่กับเกิดกับลูกน้อยและทำให้คนเป็นพ่อแม่ไม่ค่อยสบาย (ใจ) นักคือ มือเท้าปากที่คุณหมอเตือนว่าให้ระวังโดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี 

“มือเท้าปากเป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อไวรัส ที่พบได้บ่อยคือ Enterovirus ซึ่งมักจะแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝนแบบนี้ และถึงแม้ว่าจะพบบ่อยในเด็ก แต่จริงๆ แล้วโรคนี้สามารถติดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เพียงแต่ที่พบมากในเด็ก เพราะระบบภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงเท่าไหร่นัก จำทำให้มีอาการมาก และเห็นได้ชัดเจนกว่า ส่วนผู้ใหญ่ที่มีภูมิกันแข็งแรงกว่าก็จะมีอาการน้อยหรืออาจจะไม่ค่อยมีอาการเลย ส่วนสาเหตุที่โรคนี้มักระบาดในหน้าฝน ก็เป็นผลมาจากเหตุปัจจัยเรื่องของอุณหภูมิ ความชื้น แสงแดดที่อาจจะส่งผลให้การติดเชื้อสามารถติดต่อกันได้ง่าย และทำให้ระบาดในหน้าฝนได้มากกว่า”

สังเกตให้ดี ลูก (หลาน) มีอาการนี้หรือเปล่า
หลังจากได้รับเชื้อแล้วจะใช้ระยะเวลา 3 – 6 วันเพื่อฟักตัว จากนั้นจึงค่อยพบเชื้อทางน้ำลาย 2 – 3 วัน ก่อนมีอาการ ซึ่งอาการของโรคนั้นคุณหมอบอกว่าจะเริ่มต้นจากการมีไข้ เหมือนการป่วยทั่วๆ ไป 

“อาการจะเริ่มต้นจากมีไข้ก่อนในวันสองวันแรก หลังจากนั้นจะตามด้วยอาการมีแผลในปาก พอมีแผลในปากก็จะมีอาการเจ็บปาก ทำให้กินอาหาร ดื่มนมได้น้อยลง ตามมาด้วยอาการผื่นขึ้น โดยผื่นก็จะมีลักษณะเป็นจุดแดงๆ หรือเป็นตุ่มน้ำ ซึ่งมักจะขึ้นตามฝ่ามือฝ่าเท้า หรือบางคนก็เป็นที่แขน ขา ข้อศอก และก้นได้เหมือนกัน ซึ่งอาการทั้งหมดที่ว่ามานี้อาจดูแล้วไม่ใช่อาการรุนแรง แต่ในบางรายก็อาจจะพบภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้เช่นกัน โดยอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนทางสมองทำให้เป็นสมองอักเสบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ นอกจากนี้ยังมีภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจวาย หรือเกิดน้ำท่วมปอดได้ ซึ่งอาการก็อาจจะรุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้เลย”



มือเท้าปาก...ไม่ยากที่จะป้องกัน
สำหรับการรักษาโรคนี้จะไม่ได้มียาที่ใช้รักษาเฉพาะ แต่จะเน้นการรักษาแบบประคับประคองเพื่อบรรเทาอาการต่างๆ ซึ่งคุณหมอได้อธิบายเพิ่มเติม พร้อมทิ้งท้ายถึงสัญญาณอันตรายที่ผู้ปกครองควรจะต้องสังเกตให้ดีว่า 

“ถึงจะไม่มียาที่ใช้รักษาเฉพาะ แต่ก็สามารถใช้การเช็ดตัว ร่วมกับการให้ยาลดไข้เพื่อทำให้ไข้ลดลง ส่วนอาการของแผลในปาก ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อเด็กเป็นแล้วก็จะมีอาการเจ็บทำให้กินอาหารได้น้อย ก็อาจจะใช้ยาชาทาบริเวณผลในปาก เพื่อช่วยลดอาการเจ็บได้ และส่วนใหญ่ก็จะหายภายใน 5 – 7 วัน ส่วนการป้องกันที่สำคัญคือ การล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร หลังขับถ่าย หรือถ้าเป็นคนที่ดูแลเด็กก็ควรล้างมือให้สะอาดหลังจากเปลี่ยนผ้าอ้อม นอกเหนือจากนั้นก็จะเป็นเรื่องการดูแลสุขอนามัยทั่วๆ ไป คือหลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวร่วมกัน ไม่นำเด็กเล็กไปที่ชุมชนในช่วงที่มีการระบาด และควรหมั่นทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ ที่เด็กสัมผัส หรือสิ่งของที่เด็กจะชอบเอาเข้าปากเป็นประจำ ซึ่งจริงๆ หลักการนี้ก็เป็นการป้องกันโรคหลายๆ โรคเลย รวมถึงโควิด-19 ที่ช่วงนี้กำลังระบาดกันด้วย และสำหรับการป้องกันอาการแทรกซ้อน จริงๆ แล้วก็อาจจะไม่สามารถทำนายได้ว่าคนไหนจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ ดังนั้นผู้ปกครองจึงต้องสังเกตอาการของบุตรหลานว่ามีสัญญาณอันตรายอะไรที่ดูมีแนวโน้มจะรุนแรงได้ เช่น มีไข้สูงนานเกิน 2 วัน อาเจียนมาก ซึม มือกระตุกคล้ายๆ เหมือนผวา หรือมีอาการทางระบบประสาท ยกตัวอย่างเช่น เดินเซ ตากระตุก ร่วมกับอาการหายใจหอบเหนื่อยก็ควรจะต้องรีบไปพบแพทย์”
-->