ยิ่งกินยิ่ง“แพ้” ไขข้อสงสัยทำไมเราถึงแพ้กุ้ง

 
ไม่ใช่แค่ยิ่งแข่งยิ่งแพ้ แต่สำหรับคนที่แพ้กุ้ง ยิ่งกินก็ยิ่งแพ้เช่นกัน เวลาเห็นอาหารทะเลหรือบุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง คนแพ้กุ้งก็ต้องอดกินทุกงาน  ซึ่งอาการแพ้กุ้งมีหลายแบบมากบางคนก็แพ้ทุกชนิด บางคนแต้มบุญเยอะหน่อยก็กินได้บ้างบางชนิด สรุปแล้วจริงๆ  การแพ้กุ้งมันเกิดจากอะไร สามารถรักษาให้หายได้มั้ยหรือเราจะต้องอดกินกุ้งไปตลอดชีวิตกันนะ 

 
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ ‘กุ้ง’ กันหน่อย
เราไปเจอข้อมูลจาก อ.ดร.นพ. สิระ นันทพิศาล คณะแพทยศาสตร์ รพ.ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า ‘กุ้ง’ ที่เรากินๆ กันอยู่นั้น จัดเป็นสัตว์ในตระกูล PHYLUM Arthropood คือสัตว์ที่มีเปลือกหุ้มตัว ในลักษณะเป็นปล้องๆ นั่นเอง แน่นอนว่าตระกูลนี้ไม่ได้มีแค่กุ้งอย่างเดียวแน่นอน แต่มันยังมีเพื่อนๆ ร่วมห้องอีก นั่นคือ กั้ง, ลอบสเตอร์, หอย และปู แต่ก็อย่าเพิ่งเหมารวมสัตว์เปลือกแข็งหน้าตาเหมือนกุ้งว่าเป็นกุ้งเสมอไป เพราะกุ้งเครย์ฟิช (Crayfish) ไม่ใช่กุ้งแล้วนะ เขาถูกจัดไปอยู่ในหมวดปลาเรียบร้อยแล้ว  
 
แพ้กุ้ง...อาการนี้เกิดจากอะไรกันแน่
ไขข้อสงสัยกันหน่อย กุ้งที่แสนอร่อยทำไมเราถึงต้องแพ้มันนะ ซึ่งข้อมูลจาก อ.พญ.ชามาศ วงค์ษา อายุรแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บอกว่า เพราะว่าเจ้ากุ้งนั้นมีโปรตีนชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า  “โทโพรไมโอซิน (Tropomyosin)” สารตัวนี้แหละที่เป็นตัวการทำให้เราเกิดอาการแพ้ ซึ่งกุ้งทุกตัวมีโปรตีนตัวนี้เหมือนกันทำให้หลายๆ คนที่แพ้กุ้ง ไม่สามารถกินกุ้งชนิดไหนได้เลย นอกจากนี้โปรตีนตัวนี้ พบได้ในสัตว์จำพวกอาหารทะเลอื่นๆ อีก เช่น ปู ล็อบสเตอร์ หอย หมึก 
 
ส่วนสารอื่นๆ ในกุ้ง ที่ทำให้เกิดอาการแพ้ก็มีอีกเช่นกัน ดร.สุรพล พิบูลโภคานันท์ นักวิจัยผู้ควบคุมโครงการ จากสถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำตัวอย่างเลือดของอาสาสมัครที่แพ้กุ้งมาทดสอบและวิเคราะห์หาโปรตีนที่ทำให้แพ้ ซึ่งผลปรากฏว่า คนไทยแพ้กุ้งก้ามกราม เพราะโปรตีนฮีโมไซยานิน (Haemocyanin) ส่วนกุ้งกุลาดำคือโปรตีนลิพิด บายดิง (lipid binding protein) และโปรตีน แอลฟาแอกตินิน (alpha actinin protein) หรือบางกรณีอาจเป็นการแพ้สัตว์ที่มีเปลือกแข็งเช่น ปู หอย ซึ่งมีสารไคติน (Chitin) เป็นองค์ประกอบของเปลือก เมื่อกินเข้าไปพร้อมๆ กับกุ้ง อาจจะทำให้เราเข้าใจว่าแพ้กุ้ง ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ 
 
"กุ้ง" ยังครองแชมป์ อาหารทะเลที่คนไทยแพ้มากที่สุด
ถ้าคุณเป็นคนแพ้กุ้ง ไม่ต้องร้องไห้เสียใจไป เพราะคุณไม่ได้เป็นแค่คนเดียว แต่ยังมีเพื่อนอีกหลายคนในโลกนี้ที่เป็นแบบคุณ เพราะจากสถิติการแพ้ พบคนไทยมีอาการแพ้อาหารทะเลมากถึง 40%  ของคนไทยทั้งประเทศ โดยอาหารทะเลยอดฮิตที่คนไทยชอบแพ้นั่นคือกุ้ง รองลงมาคือ ปลาหมึกและหอย นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากโครงการวิจัย ที่ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2553 เรื่อง “การศึกษาหาสารก่อภูมิแพ้ที่จำเพาะที่เป็นสาเหตุของการแพ้กุ้งน้ำจืดและกุ้ง ทะเลที่นิยมบริโภคในคนไทย” ชี้ให้เห็นว่า กุ้งน้ำจืดที่พบการแพ้มากที่สุดคือ กุ้งก้ามกราม ส่วนกุ้งทะเล คือ กุ้งกุลาดำ ทั้งนี้อาการแพ้อาจเกิดจากกุ้งเพียงชนิดเดียว หรือมากกว่า 1 ชนิดก็ได้
 
จะรู้ได้ยังไง...ว่าเราแพ้กุ้งประเภทไหนบ้าง
ต้องบอกก่อนว่าแต่ละคนแพ้กุ้งไม่เหมือนกัน และกุ้งแต่ละชนิดก็หน้าตาไม่เหมือนกันด้วย ทำให้โปรตีนในตัวมันก็มีความแตกต่างเช่นกัน  นอกจากนี้ระหว่างกุ้งสุกกับกุ้งดิบโปรตีนในกุ้งก็ต่างกันด้วย เพราะกุ้งเมื่อเจอความร้อนโปรตีนในกุ้งจะเปลี่ยนไป นพ. สิระ นันทพิศาล ได้บอกถึงประเภทของการแพ้กุ้งเอาไว้ เราจัดอยู่ในหมวดไหนไปดูกัน
 
#1 กลุ่มแพ้โปรตีนกุ้งทุกชนิด: คนกลุ่มนี้จะน่าสงสารที่สุดเพราะไม่สามารถกินกุ้งได้เลยแม้แต่ชนิดเดียว กินแล้วจะเกิดอาการแพ้ทันที 
 
#2 กลุ่มแพ้โปรตีนกุ้งบางชนิด: กลุ่มนี้จะแพ้โปรตีนจากกุ้งแค่บางชนิดเท่านั้น แค่งดกินชนิดที่ตัวเองแพ้ก็พอ ชนิดอื่นๆ ก็กินได้ตามปกติ จากสถิติคนจะแพ้กุ้งบางชนิดประมาณ 20%
 
#3 กลุ่มแพ้โปรตีนที่ยังไม่ผ่านความร้อน: คนกลุ่มนี้จะแพ้การกินกุ้งแบบดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ พวกกุ้งแช่น้ำปลาหรือตำปลาร้ากุ้งสดแบบนี้ต้องเซย์โนว์ แต่ถ้าเป็นกุ้งที่ผ่านความร้อนมาจนสุกแล้วคนกลุ่มนี้สามารถกินได้อย่างสบายเลย
 
#4 กลุ่มแพ้โปรตีนที่ผ่านความร้อนแล้ว: คนกลุ่มนี้จะตรงข้ามกับกลุ่ม 3 คือกินดิบได้แบบสบายๆ เลย แต่พอเจอกุ้งสุกๆ เท่านั้นแหละแพ้ทันทีเลย 
 
ทั้งนี้ทั้งนั้น ในปัจจุบันทางการแพทย์ก็ยังไม่สามารถยืนยันเรื่องกลไกของการแพ้กุ้งได้ บางคนแพ้โปรตีนกุ้งจากมันกุ้งอย่างเดียว บางคนก็แพ้ทั้งการกินมันกุ้งแล้วก็ตัวเนื้อกุ้ง บางคนกินกุ้งปกติไม่ได้ แต่เมื่อแปรรูปเป็นกุ้งแห้งแล้วกินได้ เพราะกุ้งแห้งผ่านกรรมวิธีบางอย่างที่โปรตีนอาจแปรสภาพ และชนิดกุ้งอาจต่างสายพันธุ์กันก็เป็นได้
 
ทำไมเมื่อก่อนกินกุ้งได้...เดี๋ยวนี้กินไม่ได้แล้ว
มันก็มีเคสที่ตอนเด็กๆ เรายังกินกุ้งได้อย่างเพลิดเพลิน ทำไมตอนนี้กินกุ้งเข้าไปอยู่ดีๆ ก็แพ้ซะงั้น กลายเป็นกินกุ้งไม่ได้ไปแล้ว เรื่องนี้ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ยังเกิดการถกเถียงกันอยู่ว่าสรุปแล้วเราแพ้เพราะอะไร ที่สำคัญคือมีคนที่เป็นแบบนี้เยอะมาก เพราะผลวิจัยจาก The Journal of the American Medical Association (JAMA) ของประชากรสหรัฐอเมริกาจำนวน 40,443 คน ระบุว่า ราว 10.8% ของคนในกลุ่มนี้มีอาการแพ้อาหาร และเกือบครึ่งของคนจำนวนนี้เพิ่งจะมีอาการแพ้อาหารเมื่อย่างเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว และ 1 ใน 4 ของกลุ่มนี้ไม่เคยพบอาการแพ้อาหารอะไรเลยตั้งแต่เด็ก ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าสาเหตุเกิดจากอะไร
 
อาการมันเป็นยังไง ไหนบอกหมอซิ!
สำหรับคนที่แพ้กุ้งอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่กี่นาทีจนถึงไม่เกิน 2 ชั่วโมง จากสถิติพบว่า 90% ของผู้ที่มีอาการแพ้เมื่อกินกุ้งเข้าไปจะแสดงอาการอย่างรวดเร็วและ 40% ของผู้ที่มีอาการแพ้จัดอยู่ในกลุ่มแพ้แบบรุนแรง ใครที่สงสัยว่าเหมือนเราจะแพ้กุ้งลองมาเช็กลิสต์อันนี้ดูหน่อยเพื่อเพิ่มความมั่นใจว่าเราต้องบอกลาการกินกุ้งชัวร์หรือเปล่า
 
#1 อาการแพ้ที่ระบบผิวหนัง: เช่น คันตามผิวหนัง หน้าบวม ปากบวม เป็นลมพิษ
 
#2 อาการแพ้ที่ระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นมูกเลือด 
 
#3 อาการแพ้ที่ระบบหายใจ: เช่น หอบ แน่นหน้าอก น้ำมูกไหล คัดจมูก หลอดลมตีบเฉียบพลันหรือหายใจมีเสียงวี๊ด
 
ใครที่เช็กลิสต์แล้วเจอว่าตัวเองมีอาการเข้าข่ายต้องรีบระวังตัวเองกันด้วย โดยเฉพาะใครที่มีอาการเข้าข่าย 2 ระบบขึ้นไปซึ่งสามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้ อันนี้ถือว่าเป็นการแพ้ขั้นรุนแรงหรือ ANAPHYLAXIS ถ้าปล่อยไว้จะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ยิ่งถ้ารายที่ความดันต่ำ 
 
แพ้แล้วไง กินต่อไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ชนะเอง
ใครเคยมีความเชื่อแบบนี้บ้าง วันนี้แพ้ พรุ่งนี้กินใหม่ กินไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็หายแพ้เอง ความจริงแล้วความเชื่อนี้ถือว่าผิดมากๆ
เพราะถ้าเราแพ้กุ้งชนิดในชนิดหนึ่ง ควรหลีกเลี่ยงการกินกุ้งทุกชนิดรวมไปถึงอาหารทะเลกลุ่ม Shellfish ทุกชนิดด้วย เพราะเคยมีเคสจริงที่คนแพ้กุ้งมาลองกินกุ้งแล้วเกิดอาการแพ้จนตาบวม ปากบวม เพราะฉะนั้นการที่รู้ตัวว่าแพ้แล้วยังกินอีกนอกจากจะทำให้ไม่หายแพ้แล้วยังเสี่ยงต่ออาการแพ้ที่รุนแรงจนเสียชีวิตอีกด้วย 
 
วิธีการรักษาอาการแพ้กุ้ง 
วิธีที่เบสิกและง่ายที่สุดนั่นก็คือ ไม่กินกุ้งอีกเลย เพราะปัจจุบันเรายังไม่มีวิธีรักษาอาการแพ้กุ้งให้หายขาด แต่ถ้าวันไหนมันเกิดมีอาการแพ้ขึ้นมามันก็มีวิธีบรรเทาอาการในเบื้องต้นอยู่ โดยแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
 
1. แพ้แบบไม่รุนแรง (Mild Symptoms): ถ้าเกิดแพ้กุ้งที่ระบบผิวหนัง สามารถกินยาแก้แพ้เพื่อช่วยบรรเทาอาการคันบริเวณผิวหนังได้ นั่นคือกลุ่มยา แอนตี้ฮิสตามีน (Antihistamine) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะกินยาแก้แพ้ดักไว้ก่อนกินกุ้งนะ 
 
2. แพ้แบบรุนแรง (ANAPHYLAXIS) : เป็นการแพ้แบบรุนแรง คนไข้ต้องเข้ารับการรักษาและพกยาอะดรีนาลีน (adrenaline) ไว้ตลอดเวลา ซึ่งโดยปกติแล้ว adrenaline เป็นยากลุ่มที่ใช้รักษาอาการแพ้แบบรุนแรงหรือคนที่แพ้จนมีอาการหลอดลมตีบ ภาวะ shock และภาวะหัวใจหยุดเต้น ทั้งนี้ทั้งนั้นคนไข้ที่จะฉีดอะดรีนาลีนเองได้ต้องอยู่ในการดูแลของหมอและได้รับการสอนวิธีการฉีดมาแล้วเท่านั้น
 
วิธีการป้องกันตัวเองอีกข้อที่สามารถทำได้ง่ายๆ คือ ต้องบอกให้คนใกล้ตัวรู้ก่อนว่าเราแพ้กุ้งหรือเวลาไปร้านอาหารต้องแจ้งพนักงานทุกครั้งว่าเราแพ้กุ้ง
 
เพื่อความชัวร์...ไปให้หมอตรวจดีกว่า
ถ้าเราอยากรู้ว่าเราแพ้อาหารอะไร เราสามารถไปให้คุณหมอตรวจได้นะ เอาจริงๆ แล้วเราทุกคนก็ควรไปตรวจ เพราะจะได้รู้ตั้งแต่แรกว่าเราแพ้อะไร กินอะไรได้บ้าง ไม่สามารถกินอะไรได้บ้าง จะได้ไม่ต้องเจอกับอาการแพ้ที่ทรมาน ซึ่งการตรวจที่เราพูดถึงก็คือ ‘Skin Pick Test’ คือการตรวจหาสาเหตุของการแพ้ เช่น แพ้ถั่ว, นม, อาหารทะเล, แมลง, ขนสัตว์, ไรฝุ่น เป็นต้น ซึ่งการตรวจนี้จะทำให้เรารู้ว่าเราแพ้ในขั้นไหน รุนแรงหรือไม่รุนแรง ใช้เวลาตรวจไม่เกิน 30 นาทีก็รู้ผลแล้ว ในบางกรณีหมออาจจะทดสอบด้วยการกินกุ้ง ข้อดีคือรู้ผลเลย รู้ผลชัวร์ แต่ต้องทำภายใต้การดูแลของหมอภูมิแพ้เท่านั้น
 
สุดท้ายคนที่แพ้กุ้งเพราะสาร Tropomyosin มักจะแพ้สัตว์อื่นๆ ในตระกูล Phylum Arthopood เพราะทุกชนิดมีสารนี้เหมือนกันหมด ที่สำคัญไม่ว่าจะชิม เลีย ดมหรือสัมผัส ถ้าแพ้ก็ไม่ควรฝืน เพราะ Tropomyosin ทนความร้อน ไม่ว่าจะกินสุกหรือกินดิบ ถ้าแพ้ก็ห้ามกิน หากไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการทดสอบอาการแพ้

 
-->