รองช้ำ...เรื่องใกล้ตัว ที่ทุกคนต้องรู้

ในทางการแพทย์นั้น รองช้ำ เป็นเรื่องของ ‘เท้า’ ซึ่งจะพบบ่อยมากที่บริเวณส้นเท้า เป็นรองช้ำที่ไม่ใช่การเสียดสีการเมือง แต่เป็นการเสียดสีของส้นเท้ากับพื้นรองเท้า วันนี้ Health Addict จะพาทุกคนไปดูกันว่า จริงๆ แล้ว “รองช้ำ” นั้นมีที่มาที่ไปยังไง



รองช้ำ...เกิดจากอะไร
ใครบ้างที่ตื่นนอนตอนเช้า พอก้าวเท้าลงจากเตียงปุ๊ป เท้าสัมผัสพื้นปั๊ป ร้องจ้ากทันที! จากสะลึมสะลืออยู่ ก็ตาสว่างโดยฉับพลัน เพราะอาการเจ็บที่ส้นเท้านั้นมันสะเทือนขึ้นมาถึงหัวใจกันเลยทีเดียว นั่นแหละคืออาการเจ็บส้นเท้าที่ว่า อาจจะเป็นอาการของการเป็นรองช้ำ ซึ่งรองช้ำ หรือทางการแพทย์เรียกว่า Plantar Faciitis เรียกเพราะๆ เป็นภาษาทางการว่า โรคเอ็นใต้ฝ่าเท้าหรือพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ บางคนอาจจะงงหรือสงสัยว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง ส้นเท้าฉันไม่ได้ไปกระแทกอะไรสักหน่อย ทำไมมันเจ็บได้ขนาดนี้ โรคนี้มันมีที่มาที่ไปเดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง

โรครองช้ำ ส่วนมากพบในผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยทำงาน หรือในคนที่ใช้งานเท้าเยอะ เช่น พนักงานเดินเอกสารที่ต้องเดินทั้งวัน พนักงานแคชเชียร์ที่ต้องยืนคิดเงินเป็นกะทีละ 6 ชั่วโมง หรืออาจจะเป็นนักวิ่งระยะยาวที่วิ่งในลักษณะลงน้ำหนักกระแทกที่เท้ามาก เป็นต้น นอกจากนี้น้ำหนักตัวที่มากเกินไป, ความเป็น fashionista ตัวแม่ที่ชอบซื้อรองเท้าสวยแต่พื้นแข็งและไม่ support อุ้งเท้า, คนที่มีลักษณะอุ้งเท้าแบนหรือโค้งสูงเกินไป ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน

ตรงไหนกันที่เขาเรียกว่า “พังผืด”
ไม่ต้องเรียนผ่าอาจารย์ใหญ่ การรู้จักกายวิภาคพื้นฐานก็ถือว่าเป็นเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆ ที่จะทำให้เราเข้าใจโรคและเห็นถึงความสำคัญของการรักษามากขึ้น นั่นแปลว่าคนที่มีอาการของโรคนี้จะดูแลตัวเองได้ดีและลดโอกาสในการเกิดภาวะเรื้อรังได้ พังผืดใต้ฝ่าเท้านั้น มีจุดเริ่มต้นที่ส้นเท้าและแผ่ขยายออกไปยังนิ้วเท้าทั้ง 5 จะมีความหนาประมาณไม่เกินครึ่งเซนติเมตร และมีชั้นไขมันปกป้องอยู่อีกชั้นหนึ่ง หน้าที่สำคัญของน้องพังผืดนี้คือ รองรับแรงกระแทกที่มากระทำที่บริเวณฝ่าเท้า ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักตัว แรงกระแทกตอนที่เราเดินหรือวิ่ง หรือแม้แต่ตอนยืนก็ยังช่วงพยุงกระดูกเท้าในอยู่ในแนวที่เหมาะสม เรียกได้ว่า พังผืดคือผู้พิทักษ์ฝ่าเท้ากันเลยทีเดียว กิจกรรมอะไรที่ลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้า น้องพังผืดทำงานทั้งนั้น 

ซึ่งจากหน้าที่ของพังผืดที่กล่าวมานั้น อาจทำให้เรารู้สึกว่ากิจกรรมที่เราทำในชีวิตประจำวันนั้น เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรครองช้ำได้หมดเลย แค่ยืนเฉยๆ แต่เป็นระยะเวลานานก็เป็นได้ หรือแม้แต่การที่น้ำหนักตัวมากก็เป็นได้ เพราะเท้าจะรับน้ำหนักที่มากกว่าที่ควรจะเป็น หากใครที่รู้สึกกังวลว่าตัวเองจะเป็นโรครองช้ำในอนาคตไหม ก็ไม่ต้องกังวลไป มีวิธีป้องกันง่ายๆ ที่เราสามารถทำได้เองที่บ้าน โดยไม่ต้องรอให้เท้าเราเจ็บก่อน จำให้ขึ้นใจว่า “ป้องกัน ดีกว่ารักษา” 

ยืดเข้าไว้ ถ้าไม่อยาก(รอง)ช้ำ
อาการเจ็บที่ฝ่าเท้าจากโรครองช้ำนั้น หลักใหญ่ใจความคือ ความยืดหยุ่นของพังผืดใต้ฝ่าเท้าลดลงจนเกิดอักเสบ อันเกิดจากการใช้งานที่มากเกินไป แล้วเราดันยืดน้อยหรือไม่ได้ยืดเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นเลย ดังนั้นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะป้องกันหรือลดความเจ็บจากอาการรองช้ำคือการยืด ยืดวนไป การยืดในที่นี้จะแบ่งง่ายๆ เป็น 2 บริเวณคือ ที่เอ็นร้อยหวายและพังผืดที่ฝ่าเท้า มาเริ่มที่เอ็นร้อยหวายกันก่อน บางคนอาจจะสงสัยว่าทำไมเจ็บฝ่าเท้าแล้วต้องยืดเอ็นร้อยหวาย ก็เพราะเอ็นร้อยหวายเป็นเอ็นที่ต่อยาวมาจากกล้ามเนื้อน่องแล้วมาสิ้นสุดที่กระดูกส้นเท้า อันเป็นจุดเดียวกับจุดเกาะต้นของพังผืดใต้ฝ่าเท้าน่ะสิ เห็นไหมว่า ความรู้ทางกายวิภาคศาสตร์เล็กๆ น้อยๆ ทำให้เราเข้าใจโรคมากขึ้น แล้วเราจะรู้ว่าสำคัญขนาดไหนที่จะต้องยืด

การยืดเอ็นร้อยหวายนั้นท่าที่ยืดจะเป็นท่าเดียวกับการยืดกล้ามเนื้อน่อง เพราะสองส่วนนี้ร่วมกันเป็นหนึ่ง ไม่สามารถแยกออกจากกันได้เป็นแฝดอิน-จันแล้วจ้าแม่ ท่าที่ง่ายที่สุดคือการหันหน้าเข้ากำแพง ใช้มือดันกำแพงทั้งสองข้าง วางเท้าข้างที่ต้องการยืดไว้ด้านหลัง จากนั้นค่อยๆ ย่อเข่าที่อยู่ด้านหน้าไปด้านหน้า โดยขาด้านหลังต้องเหยียดตรง เท้าสองข้างแนบสนิทราบกับพื้น ค้างไว้ประมาณ 10 วินาที ความรู้สึกที่ได้คือ จะตึงเปรี้ยะที่น่องของขาด้านหลังอย่างแน่นอน 

ส่วนที่สองที่ต้องยืดก็คือ เจ้าบ้านของความเจ็บ พังผืดใต้ฝ่าเท้านั้นเอง ย้อนกลับไปที่กายวิภาคอีกครั้ง จำได้ไหมว่าพังผืดแผ่ขยายไปเกาะที่นิ้วเท้าทั้ง 5 ของเรา ดังนั้นการยืดก็จะต้องดันนิ้วเท้ามาในทิศหลังเท้าให้มากที่สุดเท่า จนฝ่าเท้าแอ่นและรู้สึกตึง หรืออีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้แม้ในขณะที่เรานั่งทำงานหรือดูโทรทัศน์ ก็คือ ใช้ลูกบอลเล็กหรือลูกเทนนิสวางไว้ใต้ฝ่าเท้า กดเท้าลงบนบอลและกลิ้งคลึงเบาๆ ทั่วฝ่าเท้าเพื่อให้พังผืดนั้นคลายตัวลง หรือจะใช้นิ้วมือกดนวดเบาๆ ได้ก็ไม่ว่ากัน

นอกจากการยืดแล้ว ในวงการกายอุปกรณ์อาจมีการวัดเท้าเพื่อตัดแผ่นรองเท้าที่มีความนุ่ม มารองรับบริเวณที่มีอาการเจ็บ แนะนำเพิ่มเติมว่าควรใส่รองเท้าเดินในบ้านด้วย ทางโภชนาการอาจเข้ามามีบทบาทในการควบอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนัก หรือในทางกายภาพบำบัด จะมีการสอนออกกำลังเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในเท้าก็สำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีลักษณะอุ้งเท้าแบบกว่าปกติ การใช้เครื่องมือเพื่อลดการอักเสบ บรรเทาอาการปวด เช่น การใช้คลื่น ultrasound การใช้ LASER พลังงานสูง หรือการใช้ Shock wave ในเคสที่มีอาการเรื้อรัง ดังนั้นหากรู้ตัวว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นรองช้ำ แนะนำว่าให้รีบดูแลน้องพังผืดโดยด่วน เพราะ “ป้องกันดีกว่ารักษา” 
-->