รู้สึกเหมือนนอนไม่พอสักที หรือจริงๆ แล้วเพราะ Cortisol ไม่สมดุล

รับบทตัวตึง ยืนหนึ่งเรื่องการนอน ง่วงนอนและอ่อนเพลียตลอดเวลา แม้ว่าจะได้รับการยืนยันจากนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Cambridge แห่งสหราชอาณาจักร และมหาวิทยาลัย Fudan University ในประเทศจีน ก็บอกไว้ในวารสาร Nature Aging ว่าการนอนแค่เพียง 7 ชั่วโมงอาจเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการพักผ่อนสำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงวัยกลางคนและผู้ที่มีอายุมาก แต่นี่อายุก็ยังไม่ใช่ แต่ทำไมเหมือนนอนเท่าไหร่ก็ยังไม่พอสักที



คอร์ติซอล มีดีมากกว่าฮอร์โมนความเครียด
ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่ผลิตจากต่อมหมวกไต เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรงแล้ว ไม่เพียงทำหน้าที่เป็นฮอร์โมนความเครียดเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการทำงานของร่างกายส่วนอื่นๆ เพราะมีความสำคัญต่อระบบเผาผลาญในร่างกาย เนื่องจากคอร์ติซอลจะช่วยกระตุ้นให้ตับผลิตน้ำตาลในเลือดมากขึ้น ช่วยให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงไขมัน โปรตีนและคาร์โบไฮเดรตมาเป็นพลังงาน ควบคุมวงจรการนอนและตื่น บรรเทาอาการอักเสบในร่างกาย ปรับสมดุลให้ระดับความดันโลหิต รวมทั้งยังช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกายเพื่อให้สามารถรับมือกับความเครียดและคืนสมดุลให้กับร่างกายในภายหลังได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

มากไปก็ไม่ได้ น้อยไปก็ไม่ดี
ปกติแล้วระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลจะขึ้นและลงอยู่ตลอดทั้งวัน โดยช่วงเวลาที่คอร์ติซอลอยู่ในระดับต่ำที่สุดคือช่วงกลางดึก ก่อนจะเพิ่มระดับขึ้นมาอยู่ในจุดที่สูงสุดช่วงเช้า แต่ทั้งนี้การที่มีระดับฮอร์โมนมากหรือน้อยเกินไปก็อาจนำมาซึ่งความผิดปกติบางอย่างของร่างกายได้ ดังนี้
 
  • เมื่อระดับคอร์ติซอลต่ำเกินไป อาจส่งผลให้เกิดโรคแอดดิสันได้ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา กล้ามเนื้ออ่อนแรง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ผิวบริเวณใบหน้า ลำคอ หลังมือ หรือผิวบริเวณที่เป็นแผลเป็นหรือเป็นรอยพับจะเปลี่ยนสี และมีภาวะความดันโลหิตต่ำ
  • แต่ถ้าระดับคอร์ติซอลสูงเกินไป ก็อาจก่อให้เกิดอาการหรือโรคต่างๆ ได้เช่นกัน คือ จะทำให้ไม่มีแรง เกิดปัญหาด้านการนอนหลับ ระบบภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่อง เกิดภาวะสมองล้า (Brain Fog) ผิวช้ำง่าย น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งยังอาจก่อให้เกิดโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจ โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) รวมถึงกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing Syndrome) ที่จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ขนดก น้ำตาลในเลือดสูง และน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้



รักษาระดับให้สมดุล ที่คุณเองก็ทำได้
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติของร่างกายตามที่ว่ามา ในเบื้องต้นก็สามารถทำได้ด้วยการรักษาสมดุลของระดับคอร์ติซอลด้วยวิธีการเหล่านี้
 
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยลดความเครียดและเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง แต่ไม่ควรหักโหมจนเกินไป เพราะการออกกำลังกายอย่างหนักอาจทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอลเพิ่มสูงขึ้นชั่วคราวได้เช่นกัน
  • พยายามลดความเครียด ด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ หรือดื่มเครื่องดื่มสมุนไพรที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ร่วมด้วยการทำสมาธิ ฝึกการหายใจ เพื่อช่วยให้ผ่อนคลายและลดความเครียด
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยอาจใช้ตัวช่วย ได้แก่ การจัดบรรยากาศภายในห้องนอนให้เหมาะสม ลดการสัมผัสแสงสีฟ้าจากหน้าจอก่อนนอน หากิจวัตรประจำวันทำก่อนนอนอย่างสม่ำเสมอ เข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลาทุกวัน 

ส่วนจะรู้ได้ยังไงว่าคอร์ติซอลอยู่ในระดับปกติมั้ย เรื่องนี้คงต้องให้การตรวจ DNA Circle Vital เป็นตัวช่วย เพราะเริ่มต้น D (NA)​ มีชัย (Shine)​ ไปกว่าครึ่ง
-->