ลิ้นหัวใจเสื่อมตามวัย อันตรายแค่ไหนกัน

ถึงจะเคยเป็นตัวตึง แต่พอถึงเวลาหนึ่งก็ต้องเสื่อมตามวัย ยืนยันด้วยผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของสหรัฐฯ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Medicine ที่บอกไว้ว่า ความชราของมนุษย์ไม่ได้เป็นกระบวนการที่ค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวันอย่างที่เคยเข้าใจ แต่ร่างกายจะมีวาระที่เกิดการทรุดโทรมเสื่อมถอยในระดับเซลล์ครั้งใหญ่รวม 3 ครั้งด้วยกันในชีวิต เพราะแบบนี้อวัยวะต่างๆ ก็เลยต้องเสื่อมถอยไปตามกัน ถึงจะเป็นส่วนเล็กๆ (แต่สำคัญ) อย่าง “ลิ้นหัวใจ” ก็ไม่เว้น



ลิ้นหัวใจ...สำคัญยังไงเหรอ?
ลิ้นหัวใจ (Heart Valve) จะทำหน้าที่ในการควบคุมการไหลเวียนของเลือดภายในหัวใจ ซึ่งเมื่อไหร่ที่ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติจะไม่สามารถควบคุมกระแสเลือดให้ไหลไปทางเดียว หรือไปข้างหน้าได้อย่างสะดวก ยกตัวอย่างเช่น หากลิ้นหัวใจเปิดได้ไม่เต็มที่ก็จะทำให้เกิดลิ้นหัวใจตีบ หรือถ้าลิ้นหัวใจปิดไม่สนิทก็จะทำให้มีเลือดไหลย้อนกลับ จนเกิดลิ้นหัวใจรั่วได้ โดยหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดความผิดปกติของลิ้นหัวใจ คือ ความเสื่อมตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพ จึงมักพบในผู้สูงอายุ หรือในบางรายที่ลิ้นหัวใจถูกเร่งให้เสื่อมจากโรคเรื้อรังอย่าง ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือด ไตวาย รวมถึงผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอย่างการสูบบุหรี่ ก็จะเกิดลิ้นหัวใจเสื่อมได้เร็วขึ้นรุนแรงขึ้น และอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้ 



อาการแบบนี้ที่บอกว่า...ลิ้นหัวใจเสื่อม 
เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ลิ้นหัวใจที่มีการใช้งานมานาน จะเกิดการเสื่อมสภาพ คือมีลักษณะลิ้นหัวใจผิดรูป และมีหินปูนเกาะที่ลิ้นหัวใจ จนทำให้การเปิดหรือปิดของลิ้นหัวใจผิดปกติและนำไปสู่โรคลิ้นหัวใจตีบ หรือลิ้นหัวใจรั่ว รวมทั้งลิ้นหัวใจอาจถูกเร่งให้เสื่อมจากโรคเรื้อรังต่างๆ อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือด รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งเมื่อลิ้นหัวใจเปิดหรือปิดไม่ได้ เลือดก็ไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้เต็มที่ เป็นสาเหตุให้เลือดไหลย้อนกลับ หัวใจจึงต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดให้เพียงพอ จนเกิดภาวะต่างๆ อย่าง หัวใจโต เลือดคั่งในหัวใจ เลือดคั่งในปอด ตามมาได้ บางรายก็อาจเสียชีวิตได้เนื่องจากการทำงานของหัวใจล้มเหลว ส่งผลให้เหนื่อยง่าย วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดเป็นลมบ่อยๆ เจ็บหน้าอก อย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ รู้สึกหัวใจเต้นผิดปกติคล้ายกับอาการใจสั่น ในกรณีที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวมาก จะส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกมากขึ้น ลุกขึ้นเดินเพียงเล็กน้อยก็เหนื่อยหอบหรือเป็นลม กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ซึ่งอาจทำให้เลือดค้างอยู่ในปอดมากขึ้น กลายเป็นโรคความดันโลหิตในปอดสูงตามมา


โดยการรักษาการรักษาลิ้นหัวใจเสื่อมนั้น สามารถทำได้โดยเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม (Valve Replacement) เพื่อทำหน้าที่แทนลิ้นหัวใจเดิม แต่กว่าจะไปถึงขั้นนั้นก็ต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์อย่างละเอียด และประเมินความพร้อมของร่างกายก่อน เพราะว่า “หัวใจ” ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะมาล้อเล่น (รู้ไว้ซะด้วย!)

สนใจ แพ็กเกจตรวจสุขภาพ คลิก!
-->