สำรวจอาการโควิด จาก 7 ผู้ติดเชื้อจริง! พร้อมคำตอบจากคุณหมอด้านโรคติดเชื้อ

เราอยากรู้ประสบการณ์จริงจากเหล่าผู้ติดเชื้อโควิด 19 เลยได้ซักถามอาการแต่ละคนอย่างละเอียดตั้งแต่เริ่มมีอาการจนหายป่วย เราพบว่าคนที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการอะไรเลยก็มีไม่น้อย แต่คนที่ติดเชื้อแล้วมีอาการก็หลากหลาย และรุนแรงมากน้อยต่างกัน และเขาเล่าว่ามีอาการกันแบบนี้



Case #1 เจ็บแปล๊บๆ ในหู มีไข้ ลิ้นไม่รู้รส จมูกไม่ได้กลิ่น 
“เริ่มจากปวดหู เสียวๆ แปล๊บในหูแปลกๆ แล้วก็เจ็บคอและคันคอ ไม่มีอาการไอ ไม่มีเสมหะ และตัวรุมๆ สักพักไข้ก็สูงขึ้น เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว และเพลียมาก ถัดมาอีกวันนึง เริ่มไม่รู้รส ไม่ได้กลิ่น ใช้เวลาอีก 2 วีคถึงเริ่มได้กลิ่นปกติ ทุกวันนี้เหนื่อยมากเวลาออกกำลังกาย เหมือนปอดทำงานไม่เต็มที่” หญิง, 31 ปี พนักงานธนาคาร

Case #2 เจ็บคอรุนแรง เสมหะเยอะมาก 
“เริ่มจากไอแห้งๆ แต่ไม่ได้คันคอ เหมือนระคายคอ แต่ไม่มีไข้เลย ผ่านไปสองวันเริ่มเจ็บคอมากๆ ตั้งแต่วันแรก เจ็บคออยู่ พอส่องกระจกเห็นตุ่มขาวตุ่มแดงขึ้นในคอ แต่สามีเริ่มจากมีไข้ขึ้นสูง ไม่ไอ แต่เจ็บคอนิดๆ ต้องกินพาราทุก 4 ชั่วโมง เป็นแบบนี้ทุกวันติดกัน 4 วัน พอไข้เริ่มลดก็เริ่มไอนิดหน่อย และมีอาการจมูกไม่ได้กลิ่น แต่ลิ้นรับรสได้ปกติ และยังไอมาถึงทุกวันนี้ประมาณหนึ่งวีค ทุกวันนี้เราทั้งสองคนเหลือแค่มีเสมหะเยอะมาก โดยเฉพาะตอนตื่น” หญิง, 31 ปี แอร์โฮสเตจ / ชาย, 30 ปี พนักงานบริษัทเอกชน 

Case #3 หอบหืดกำเริบ หายใจไม่ได้ ปอดอักเสบ มีฝ้าในปอด
“อาการแรกมีน้ำมูกก่อน ครั่นเนื้อครั่นตัว เริ่มมีไข้ แล้วก็ไอมีเสมหะตามมาค่ะ กินยาลดไข้ นอนพัก ตื่นมาก็หาย แต่พอสักพักไข้ขึ้นอีก อาการสวิงขึ้นๆ ลงๆ และเราเป็นโรคหอบหืดอยู่ด้วย ทีนี้พอติดเชื้อโควิดมันมีผลกับหลอดลมและปอดอย่างมาก ทำให้วันแรกๆ คือหายใจไม่ได้เลยค่ะ หมอเลยต้องรักษาเรื่องหอบหืด ให้หายใจได้ปกติก่อน พอเรื่องหอบเริ่มดีขึ้น เชื้อโควิดก็ดันทำให้ปอดอักเสบแล้วก็เจอฝ่าขึ้น ตอนนี้คือคุณหมอให้ยาต้านเชื้อมากขึ้นเพื่อให้ฝ้าในปอดลดลง แล้วก็ลดการอักเสบไปตามลำดับ ส่วนแฟนที่ติดเชื้อเหมือนกัน รอบแรกตรวจไม่พบเชื้อแต่เริ่มมีอาการ มีไข้ ท้องเสีย ไอ มีเสมหะ อาการมาครบทุกอย่าง” หญิง, 25 ปี พนักงาน call center (อดีตนักโปโลน้ำทีมชาติ)

Case #4 ไข้สูงจนต้องให้สเตียรอยด์ ไอถี่ๆ กลืนน้ำลายลำบาก 
“ผมเริ่มเจ็บคอนิดๆ กลืนน้ำลายแล้วเจ็บ แต่ตอนนั้นไม่แน่ใจว่าคิดไปเองหรือเปล่า เพราะว่าแฟนติดเชื้อแล้ว ผมเลยไปตรวจแต่ไม่มีเชื้อ ทีนี้เริ่มมีไข้มา แล้วอาการทั้งหมดมาพรวดเดียวกันเลย คือไอถี่มาก เวลาหายใจเข้าปุ๊บไอ หนาวสั่น ใส่เสื้อหนาแค่ไหนก็ยังหนาว กินยาลดไข้ ก็ลดนิดเดียวแล้วก็สูงอีก เสมหะเริ่มมา กลืนไม่ค่อยได้ เจ็บคอมาก พอได้โรงพยาบาล ไข้สูงมากเกือบ 39 เพราะน่าจะมีปอดอักเสบ จนคุณหมอต้องฉีดสเตียรอยด์ ไข้ถึงเริ่มลง หลังจากนั้นอาการไอยังมี กลืนน้ำลายลำบาก เสมหะเยอะขึ้นอีก ไข้ขึ้นลงสลับเป็นฟันปลา แต่ดรอปลงเรื่อยๆ จมูกไม่ได้กลิ่น แต่ลิ้นรู้รสจางลงเล็กน้อย ที่สำคัญคือคันคอตลอดเวลา แต่ไม่มีอาการท้องเสีย ส่วนอาการของแฟนผมต่างกันเลยคือ มีอาการท้องเสีย มีผื่นขึ้นประมาณวันที่ 8 เจ็บคอ ไอ แต่ไม่มีไข้เลย” ชาย,  33 ปี นักลงทุน 

Case #5 มีไข้ ออกซิเจนในเลือดต่ำ ต้องให้ออกซิเจน เฝ้าดูอาการใน ICU
“เริ่มมีอาการเป็นไข้ แล้วก็ไปตรวจโควิด พอผลออกปรากฏว่าติดเชื้อ หลังจากแอดมิดแล้ว ถึงจะมีอาการปวดหัว และมีไข้ประมาน 4-5 วัน ปรากฏว่าออกซิเจนในเลือดเริ่มต่ำลง แพทย์จึงให้เฝ้าดูอาการในห้อง ICU พร้อม ทั้งให้ออกซิเจนตลอดเวลา ประมาน 4 วันอาการจึงดีขึ้น ไข้ลดลง จึงได้ออกจากห้อง ICU มาพักฟื้นต่อ ในทุกๆวัน จะมีการเอ็กเรย์ปอด และวัดไข้ทุก 6 ชั่วโมง จนแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ รวมแล้วนอนโรงพยาบาล 18 วัน หลังจากกลับบ้านแล้วให้กักตัวเองอีก 14 วัน เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีอาการผิดปกติใดๆ” ชาย,  64 ปี ผู้บริหารบริษัทเอกชน 

Case #6 มีไข้ต่ำ ท้องเสีย แน่นหน้าอก และเรอมาก
“ตอนแรกไม่มีอาการอะไรเลย แต่ไปตรวจเพราะต้องไปประชุมงานเจอคนเยอะ จนผลออกว่าติดเชื้อ ก็ยังไม่มีอาการอะไร วันต่อมาเริ่มมีไข้ต่ำๆ ท้องเสียเล็กน้อยถ่ายเหลว 2 ครั้ง แต่ยังคิดว่าอาจจะเป็นเพราะอาหารที่ทานเข้าไป วัดไข้ทุกวันก็มีไข้ต่ำๆ ไม่เกิน 38 พอวันที่ 4 เริ่มมีหายใจลำบาก ต้องหายใจทางปาก ที่แปลกคือมีอาการเรอตลอด แม้จะกินน้ำอึกเดียวก็เรอ และรู้สึกแน่นหน้าอก กลางคืนนอนไม่ได้ ต้องลุกเดินทั้งคืน พอวันที่ 7 ได้โรงพยาบาล ถึงได้เอกซเรย์ปอด วันที่ 9 ผลเอ็กซเรย์ออก สรุปว่าปอดปกติ เลยถามหมอเรื่องอาการเรอ หมอวิเคราะห์ว่าอาจเป็นที่กรดไหลย้อนเพราะความเครียด และทานอาหารน้อยซึ่งเราเคยเป็นโรคกระเพาะอยู่แล้ว แต่ตั้งแต่ได้โรงพยาบาล ไข้ก็ไม่มีและไม่มีอาการอะไรอีกเลยค่ะ” หญิง, 30 ปี casting งานโฆษณา 

Case #7 ไอเล็กน้อย ไข้ต่ำ ท้องเสีย และจมูกไม่ได้กลิ่น 
“เริ่มจากมีอาการไอ แต่ไอไม่มาก วันรุ่งขึ้นเริ่มปวดเมื่อยตัว ตัวร้อนนิดๆ มีไข้ต่ำๆ และยังไออยู่ มีอาการแบบนั้นประมาณ 3 วัน พอวันที่ 4 อาการทั้งหมดหายไป แต่เริ่มท้องเสีย ถ่ายเหลวอยู่ 2 วันแล้วก็หาย จากนั้นเริ่มจมูกไม่ได้กลิ่น ที่รู้เพราะตอนแต่งตัวแล้วฉีดน้ำหอม ฉีดเท่าไหร่ก็ไม่ได้กลิ่น จมูกไม่ได้กลิ่นอยู่ 3 วัน แล้วก็กลับมาเป็นปกติ หลังจากนั้นถึงไปตรวจพบเชื้อ และถูกส่งไปที่โรงพยาบาลสนาม แต่ไม่มีอาการอะไรอีกเลย เอ็กซเรย์ปอด 3 ครั้งก็ปกติ” หญิง, 39 ปี อาชีพอิสระ 

หลายๆ คนอาจสงสัยว่าทำไมอาการโควิดในแต่ละคนถึงหลากหลายไม่เหมือนกัน แล้วไวรัสนี้เกี่ยวอะไรกับอาการท้องเสียหรือจมูกไม่ได้กลิ่น แถมอาการยังรุนแรงมากน้อยต่างกัน แล้วเพราะอะไรถึงมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่มีอาการ เรามาถามคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อโดยเฉพาะ กับคุณหมอจูน พญ.เรณุกา จรัสพงศ์พิสุทธิ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อในเด็ก ศูนย์สุขภาพเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพญาไท 2 

คุณหมอเริ่มจากอธิบายถึงเชื้อไวรัสโควิดที่เราเรียกกันนี้ก่อนว่า “ไวรัสตัวนี้ชื่อว่า SARS-CoV-2 โครงสร้างประกอบด้วยโปรตีน4 ชนิด คือspike(S), membrane(M),envelope(E), nucleocapsid(N) โดยโปรตีน S เป็นตัวสำคัญในการจับกับ angiotensin converting enzyme 2 (ACE2) receptor บริเวณเยื่อบุทางเดินหายใจและเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เซลล์บริเวณทางเดินหายใจรวมถึงถุงลมปอดถูกทำลายโดยตรง และไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ  ทำให้มีอาการต่างๆ ของระบบทางเดินหายใจ นอกจากนั้น ACE2 receptor ยังพบบริเวณอวัยวะอื่นๆ ได้อีก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่ต่างกัน สำหรับในช่วงแรกของการติดเชื้ออาการจะเกิดจากการทำลายของไวรัสโดยตรง แต่หลังจากนั้นร่างกายจะเกิดการตอบสนองของภูมิคุ้มกันและ มีการหลั่งสารอักเสบทั่วร่างกาย ทำให้มีอาการรุนแรงในหลายระบบ ตามมาได้ ระดับความรุนแรงในแต่ละคนขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น เพศ อายุ โรคประจำตัว ระบบภูมิคุ้มกัน จำนวนเม็ดเลือดขาว ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล”

“อาการที่พบบ่อยได้แก่ อาการไข้  ไอแห้ง อ่อนเพลีย  อาการที่พบรองลงมาได้แก่ปวดเมื่อยตัว เจ็บคอ ท้องเสีย ตาแดง ปวดศีรษะ สูญเสียการได้กลิ่นและรับรส ผื่นผิวหนัง”

“สำหรับอาการจมูกไม่ได้กลิ่นนั้น  เกิดจากการที่เยื่อบุทางเดินหายใจอักเสบติดเชื้อทำให้มีน้ำมูกและสารคัดหลั่งมาอุดกลั้นทางเดินหายใจ หรือไวรัสมีการทำลายเซลล์เยื่อบุที่ใช้ในการรับกลิ่นโดยตรงรวมถึงเซลล์ประสาทรับกลิ่น 
อาการท้องเสียถ่ายเหลวนั้นเกิดได้ประมาณ 10 % ของผู้ป่วย  ไวรัสไปทำลายเยื่อบุทางเดินอาหารโดยตรง และเกิดการหลั่งสารอักเสบต่างๆ ของร่างกาย ทำให้การทำงานของระบบทางเดินอาหารผิดปกติ” 
และสำหรับอาการไข้สูงสลับขึ้นๆ ลงๆ นั้น คุณหมออธิบายว่า “เมื่อร่างกายติดเชื้อ จะมีไข้ขึ้นๆ ลงๆ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เพราะเป็นกลไกการป้องกันและตอบสนองการติดเชื้อของร่างกาย” 
เมื่อได้ทำความเข้าใจไวรัสโควิด 19 กันมากขึ้นแล้วว่า ร่างกายเราจะได้รับเชื้อไวรัสนี้มายังไง และทำปฏิกิริยาอะไรกับอวัยวะต่างๆ  ของเราบ้าง ก็น่าจะทำให้เรารู้วิธีรับมือกันได้ดีขึ้น และอย่าลืมป้องกันตัวเองให้ดีเช่นเคย สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง สำหรับใครที่มีคำถามหรือข้อสงสัยเรื่องโควิด 19 ส่งคำถามกันเข้ามากันได้ที่ info@healthaddict.com หรือ inbox มาทางเพจ FB Health Addict เราจะหาคำตอบให้คุณเอง 

---------------------------

ข้อมูลอ้างอิง
BMJ2021;372:n436, 
ferdinando D’Amico et al.Clin Gastroenterol Hepatol.2020Jul. 
www.ncbi.nlm.nih.gov (Rafal Butowt.Anosmia in COVID-19 .hypothesis,the neuroscientist1-22.)
-->