อย่ามองข้ามสัญญาณเตือน...หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

หัวใจขาดรักก็ว่าหนักแล้ว ถ้ายังต้องมาเจอกับอาการเตือนที่อาจเป็นสัญญาณของหัวใจขาดเลือดอีกคงต้องหยุดพัก เพื่อดูแล (หัว) ใจกันแล้วล่ะ เพราะเป็นไปได้ว่าคุณอาจมองข้ามภัยร้ายใกล้ตัว อย่างยาแก้ปวด ซึ่งมีงานวิจัยชิ้นล่าสุดโดยทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติที่ตีพิมพ์ในวารสาร The BMJ บ่งชี้ว่าการใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มที่มีสรรพคุณต้านการอักเสบที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่น ไอบูโพรเฟน ในปริมาณมากอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart attack) ตั้งแต่เริ่มใช้ในสัปดาห์แรก และจะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษเมื่อใช้ยาประเภทนี้ปริมาณมากในช่วง 1 เดือนแรก เพราะแบบนี้เลยต้องให้ นพ.อภิชัย โภคาวัฒนา อายุรแพทย์โรคหัวใจ ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจและหลอดเลือด จากโรงพยาบาลราชวิถี มาอธิบายถึงสัญญาณเตือนภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่ต้องคอยเฝ้าระวัง พร้อมให้คำแนะนำการดูแลหัวใจ ไม่ให้ขาด...เลือด (แต่ส่วนความรักคงต้องตัวใครตัวมันนะ)



รู้จักไหม...หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
อาจฟังดูแปลก เพราะหัวใจต้องสูบฉีดเลือดอยู่ตลอดเวลา แต่อยู่ๆ เกิดจะขาดเลือดขึ้นมา อาการแบบนี้คุณหมอได้อธิบายไว้ว่าเป็นภาวะหัวใจขาดเลือด ที่สามารถแบ่งคร่าวๆ ได้ 2 กลุ่ม “ภาวะหัวใจขาดเลือดเป็นคำเรียกรวมๆ ของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งแบ่งคร่าวๆ ได้เป็น 2 กลุ่มครับ กลุ่มแรกคือแบบเฉียบพลัน นั่นคือ เป็นขึ้นมาทันทีทันใด โดยกลุ่มนี้จะมีอาการรุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากครับ ส่วนกลุ่มที่สองคือแบบเรื้อรัง ซึ่งกลุ่มนี้คือผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยกลุ่มนี้จะมีอาการแน่นหน้าอกเป็นๆ หายๆ ไม่รุนแรงแบบกลุ่มแรก ดังนั้นหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน จึงเป็นภาวะฉุกเฉินเร่งด่วนที่เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง ถึงแม้ว่าหัวใจต้องสูบฉีดเลือดอยู่ตลอดเวลา แต่เลือดเหล่านั้นจะมาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงบางส่วน ซึ่งจะมีเฉพาะส่วนที่ผ่านหลอดเลือดหัวใจเข้ามาเท่านั้น”

หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อาการมันเป็นอย่างนี้!
สำหรับอาการของโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันนั้นคุณหมอบอกว่ามีค่อนข้างหลากหลาย แถมยังรุนแรงทุกแบบด้วย “ปกติอาการที่พบบ่อย คือแน่นหน้าอก และมักจะมีอาการหน้าซีด เหงื่อแตก ใจสั่นร่วมด้วย ซึ่งอาการแน่นหน้าอกส่วนใหญ่มักจะรุนแรง เรียกได้ว่า ถ้าเจ็บที่สุดในชีวิตให้คะแนนเต็ม 10 อาการของโรคนี้ก็คงได้อย่างน้อย 9 ถึง 10 ครับ อาการแน่นหน้าอกรุนแรง ถือเป็นอาการที่พบได้บ่อยของโรคกลุ่มนี้ แต่บางครั้งก็แยกได้ยากจากโรคอื่น เช่น โรคเส้นเลือดแดงใหญ่ฉีกเซาะ (aortic dissection) โรคลิ่มเลือดในปอด (pulmonary embolism) นอกจากโรคร้ายแรงที่กล่าวไปแล้ว อาการแน่นหน้าอกบางครั้งยังพบในผู้ป่วยที่มีโรคไม่รุนแรง เช่น โรคกรดไหลย้อนได้ครับ ดังนั้นถ้าให้ระบุถึงอาการชี้ชัดคงต้องบอกว่าไม่มีอาการไหนที่ชี้ชัดได้ เพียงแต่บอกได้ว่าอาการที่พบบ่อยคืออะไร เช่น อาการแน่นหน้าอกรุนแรง หรือผู้ป่วยที่มีหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน”

 


แม้ว่าการระบุอาการชี้ชัดจะเป็นเรื่องยาก แต่คุณหมอก็แนะนำถึงสัญญาณเตือนที่พอสังเกตได้อยู่ “สัญญาณเตือนที่พอสังเกตุได้ คงจะเป็นอาการแน่นหน้าอกรุนแรง ร่วมกับเหงื่อแตก ใจสั่น หรือบางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการหมดสติเฉียบพลันร่วมด้วยนอกจากนี้สัญญาณเตือนอีกอย่างที่สำคัญ คือ ความเสี่ยงของแต่ละคน ถ้าสมมติว่าเดิมผู้ป่วยรายนั้นมีโรคประจำตัวอยู่ก่อน เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ผู้ป่วยกลุ่มนี้ถือว่ามีความเสี่ยงสูงมากเมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีโรคประจำตัวใดๆ และนอกเหนือจากอาการแน่นหน้าอกที่ผู้ป่วยรู้สึกได้ ในบางรายอาจจะมาด้วยปัญหาที่เลวร้ายกว่านั้น เช่น หัวใจหยุดเต้นผิดจังหวะรุนแรง หรือหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งบางรายก็โชคร้ายมาไม่ถึงโรงพยาบาลก็มีครับ”



รู้ไหม...ใครเสี่ยง?
สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวอยู่เดิมอาจต้องหมั่นคอยดูแลและรักษาหัว (ดวง) ใจเป็นพิเศษ เพราะคุณหมอเตือนว่าอาจเป็นจุดอ่อนให้โรคหัวใจขาดเลือดเข้าจู่โจมได้ง่ายกว่าคนทั่วไป “ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอยู่เดิม โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง นับว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงคนที่สูบบุหรี่ ซึ่งมีความเสี่ยงพอกันครับ ซึ่งหมออยากจะขอฝากเรื่องไว้ให้คิดนิดนึงนะครับ นั่นคือการที่ไม่เคยมีประวัติโรคประจำตัว ไม่ได้แปลว่าไม่เป็นนะครับ เพราะบางคนไม่เคยตรวจสุขภาพมาก่อน ดังนั้นบ่อยครั้งเราจะพบว่าคนไข้โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน มาตรวจพบทีหลังว่าเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงได้ครับ ดังนั้นการตรวจสุขภาพสม่ำเสมอก็ช่วยให้ได้รับการรักษาควบคุมปัจจัยเสี่ยง และลดโอกาสเกิดภาวะนี้ได้ อีกทั้งปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอย่างนึงที่ส่งผลให้ภาวะนี้เป็นรุนแรงมากขึ้น นั่นคือ การเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดซ้ำซ้อน หมายถึงผู้ป่วยที่เคยเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดมาก่อน และมีการกลับเป็นซ้ำอีก โดยพบว่ากลุ่มนี้จะมีอาการรุนแรงขึ้น หลายคนอาจคิดว่าหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันไม่น่าจะเกิดซ้ำซ้อนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วโรคสามารถเป็นแล้วและเป็นอีกได้ครับ เพราะหลอดเลือดหัวใจเองก็มีหลายเส้น นอกจากนี้เวลาเกิดเรื่องยังไม่จำเป็นต้องเกิดที่ตำแหน่งเดิมก็ได้ และนอกจากโรคหัวใจขาดเลือดที่เป็นซ้ำซ้อนแล้ว โรคอื่นๆ ที่เป็นโรคประจำตัวอยู่เดิมอาจเป็นรุนแรงขึ้นระหว่างที่เกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันก็ได้เช่นกัน อย่างโรคเบาหวาน ซึ่งอาการหัวใจขาดเลือดอาจส่งกระตุ้นให้เบาหวานนั้นแย่ลง มีระดับน้ำตาลที่สูงถึงขั้นอันตรายได้ครับ”

ทำอย่างไร ถ้าหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
เนื่องด้วยภาวะดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลาแบบไม่ทั้งตั้งตัว เพราะฉะนั้นการมีสติจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งคุณหมอได้ให้คำแนะนำในการเตรียมตัวรับมือหากเกิดภาวะดังกล่าวนี้ขึ้นกับตัวเองหรือคนใกล้ชิด “หากคนใกล้ตัวมีอาการที่สงสัยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เช่น มีอาการแน่นหน้าอกที่รุนแรง ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที ในผู้ป่วยบางรายที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดอยู่และมียาอมใต้ลิ้นเพื่อใช้ลดอาการเจ็บหน้าอก อาจให้ใช้ยาอมใต้ลิ้นระหว่างรอไปโรงพยาบาล แต่ในกรณีที่อาการรุนแรงหมดสติเรียกไม่รู้สึกตัวหรือหัวใจหยุดเต้นอาจทำการนวดหัวใจ หรือที่เรียกกันว่าการปั๊มหัวใจ ในทางการแพทย์จะเรียกว่าการทำ CPR (cardiopulmonary resuscitation) และควรติดต่อรถพยาบาลฉุกเฉินทันที และสำหรับตัวผู้ป่วยเอง ในขณะที่มีอาการ อันดับแรกที่ควรทำคือ ควบคุมสติก่อน หลังจากนั้นให้นั่งพักทันทีและหยุดทำกิจกรรมที่ทำอยู่ทันที และทำการโทรติดต่อเบอร์ฉุกเฉิน เช่น 1669 หรือแจ้งใครก็ได้ที่สามารถติดต่อได้เพื่อให้ช่วยประสานงานกับโรงพยาบาล สามารถใช้ยาอมใต้ลิ้นได้หากมีอยู่” 

แต่ไม่ว่าอย่างไรการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะดังกล่าวขึ้นย่อมเป็นเรื่องดีกว่า ดังนั้นคุณหมอจึงได้ทิ้งท้ายถึงการดูแลป้องกันตัวเองไว้ว่า
“การดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน นั่นคือ การควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดูแลน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หมั่นตรวจเช็คสุขภาพสม่ำเสมอ สำหรับกลุ่มที่เสี่ยงสูง นั่นคือกลุ่มที่มีญาติพี่น้องเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ควรจะมีการตรวจให้ละเอียดยิ่งขึ้น เช่น การเดินสายพาน การตรวจวัดระดับหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ (เรียกว่า coronary calcium score) ซึ่งในบางรายอาจจะตรวจพบได้ก่อนที่จะมีอาการเฉียบพลันได้”

 

 

-->