เคลียข้อสงสัย! ทำไมยิ่งแก่ขึ้น...คอลลาเจนยิ่งหาย

อย่างที่รู้กันว่าห้ามอะไรก็ห้ามได้ แต่ห้ามเรื่องเวลา อายุและการสลายของคอลลาเจน (Collagen) ไม่ได้ พูดซะขนาดนี้แล้วเราไม่ได้บอกให้ทุกคนปลงกับสังขาร แต่เมื่อเรามีโอกาสแก้ไขหรือแต่งเติมได้เราก็ควรทำ โดยเฉพาะเรื่องของความสวยความงามบนใบหน้า ที่ในปัจจุบันนี้ต่างก็มีนวัตกรรมมากมายมาเสริมแต่ง เพียงแต่ให้เลือกวิธีและฝีมือคุณหมอที่ดีและน่าเชื่อถือ 

 
วันนี้ Health Addict จะมาพูดถึงการสลายของ collagen บนใบหน้า เช่น บริเวณขมับ หน้าแก้ม และร่องจมูก ที่เมื่อเราอายุมากแล้ว สิ่งเหล่านี้จะทำให้หน้าเราดูแก่เกินวัย ไม่มีราศี ดูเหนื่อยล้า หรือหน้าเหมือนคนอดนอนมาหลายวัน
 
Collagen บนใบหน้าเกิดและหายไปได้ยังไง
ต่อไปนี้ เราอยากให้ทุกคนค่อยๆ นึกภาพตามจากตัวเอง หรือสามารถใช้ลูกเล็กเด็กแดงใกล้ตัวเป็น case study ได้ เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ โดยสิ่งหนึ่งเมื่อเรานึกถึงหน้าเด็ก ช่วงนั้นจะเป็นวัยที่ใบหน้าอิ่มฟู เพราะร่างกายยังอุดมไปด้วยสารประกอบต่างๆ ที่จำเป็นเกือบจะสมบูรณ์แบบ รวมไปถึงคอลลาเจนในส่วนต่างๆ ใต้ผิวหนัง ที่ทำให้ผิวดูนุ่ม เด้งดึ๋ง และกระจ่างใส ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น โภชนาการที่เหล่าบรรดาแม่ๆ ต่างก็สรรหาสิ่งที่มีประโยชน์มาป้อน รวมไปถึงเรื่องการปกป้องผิวจากมลภาวะต่างๆ ที่ถึงแม้จะกันไม่ได้มาก แต่ก็จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และยังมีเรื่องการพักผ่อน ที่เมื่อครั้งยังเด็กเราเองต่างก็ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับการนอน ส่งผลให้โกรทฮอร์โมน (Growth Hormones) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีส่วนช่วยในเรื่องผิวให้เต่งตึง หลั่งออกมาในปริมาณที่ค่อนข้างมาก
 
ในทางกลับกัน เมื่อเราเริ่มโตขึ้น ระบบต่างๆ ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น เริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ทั้งที่ฝืนไม่ได้และตั้งใจฝืน ส่งผลให้ร่างกายมีสารอนุมูลอิสระมากขึ้น โดย Rama Channel เปิดเผยข้อมูลว่าช่วงหลังอายุ 25 ปีขึ้นไป นอกจากร่างกายเราจะผลิตโกรทฮอร์โมนลดลงอยู่แล้วตามกลไก คอลลาเจนตามส่วนต่างๆ ใต้ผิวหนังก็จะค่อยๆ สลายไป โดยมีสถิติประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ในแต่ละปี
 
เมื่อ collagen สลายได้...เราก็สร้างได้
เมื่อเรารู้สาเหตุการถดถอยของกลไลการผลิต Growth Hormones และการเสื่อมสลายตามอายุของ Collagen แล้ว อีกหนึ่งวิธีที่ง่าย แต่ก็พอได้ผลบ้างสำหรับคนที่เคร่งครัดก็คือ การเข้านอนไม่เกิน 5 ทุ่ม ลดการกินน้ำตาล เพราะเมื่อเรากินน้ำตาลมากร่างกายจะผลิตอินซูลิน (Insulin) ซึ่งเป็นสารที่คอยดักจับและสลายน้ำตาล และเมื่อร่างกายเรามีสารตัวนี้เยอะจนเกินไป จะส่งผลให้ไปยับยั้งการสร้าง Growth Hormones รวมไปถึงจะต้องออกกำลังกายให้อยู่ในระดับ zone 4 (HIIT Cardio) หรือการออกกำลังกายที่มีอัตราการเต้นของหัวใจเฉลี่ยสูงสุดระหว่าง 60-70 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลาต่อเนื่อง 30 นาที ซึ่งถ้าถามว่ามนุษย์อย่างเราๆ พอทำได้มั้ย คนที่ทำได้ก็คงพอมี แต่คนส่วนใหญ่แล้วก็คงเป็นกลุ่มทำบ้างไม่ทำบ้าง สำหรับวันไหนที่ทำตามอย่างเคร่งครัด ก็คงจะพอสัมผัสได้ถึงความเด้งดึ๋งของผิวขึ้นมาบ้าง แต่ถ้าช่วงไหนห่างหายไปนานๆ ก็คงสังเกตได้ไม่ยากถึงความเสื่อมโทรมผ่านผิวพรรณ
 
ตัวช่วยทางลัด...ที่ช่วยได้แบบเร่งด่วน
อีกหนึ่งตัวช่วยให้หน้าอิ่มฟูขึ้นมาได้นอกจากการดูแลร่างกายแล้ว ต้องยกให้นวัตกรรมการเติมฟิลเลอร์ (Filler) ที่จะทำให้หน้าหรือจุดบกพร่องต่างๆ บนใบหน้าอิ่มฟูขึ้นได้ทันทีหลังการทำ พูดถึงการเติม Filler หลายๆ คนคงเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม แต่แท้ที่จริงแล้ว Filler คือชื่อของกลุ่มผลิตภัณฑ์เติมเต็ม ที่มีส่วนประกอบหลักคือไฮยาลูโรนิค แอซิด (Hyaluronic acid : HA) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า Hyaluronic Acid เป็นโมเลกุลในร่างกายของเราอยู่แล้ว โดยมีคุณสมบัติคล้ายๆ ฟองน้ำ โดยการดูดซับน้ำเข้าไปทำให้ผิวพรรณเต่งตึง เมื่อเราเติมโมโลกุลชนิดนี้เข้าไปในจุดที่ Collagen สลายไป ประกอบกับการดื่มน้ำตามมากๆ เพื่อให้ฟองน้ำด้านความงามตัวนี้อุ้มน้ำ ก็จะช่วยให้ผิวบริเวณนั้นฟูขึ้นมา
 
การฉีดฟิลเลอร์...อันตรายจริงหรอ
ย้อนกลับไปในอดีต สมัยที่มีการแอบอ้าง ปลอมแปลง และมีหมอกระเป๋า หรือเหล่าผู้ที่เคลมตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความงาม แต่ไร้ซึ่งใบประกอบโรคศิลป์ ต่างก็ใช้วิธีหลอกล่อลูกค้าว่าสินค้าตัวเองเป็น Hyaluronic Acid แต่แท้ที่จริงแล้วสารเหล่านั้นเป็นเพียงแค่ซิลิโคนเหลว ที่มีต้นทุนที่ถูกกว่าเกินครึ่ง แต่ให้ผลเสียแบบดับเบิ้ลซ้อนดับเบิ้ล เพราะอย่างที่บอกว่า Hyaluronic Acid เป็นโมเลกุลที่ร่างกายเรามี เมื่อเติมเข้าผิวหนังแล้วจะมีระยะเวลาจำนวนหนึ่ง จากนั้นร่างกายๆ ก็จะค่อยๆ มีกระบวนการสลายโมเลกุลตัวนี้อยู่แล้ว ในทางกลับกันถ้าเป็นซิลิโคนเหลว ส่วนตรงที่ให้ผลใกล้เคียงกันคือ เติมปุ้บฟูปั้บ แต่ที่ต่างกันของซิลิโคนคือเติมแล้วไม่มีวันสลาย ทางเดียวที่จะกำจัดได้คือการผ่า เจาะ และขูดออกเท่านั้น 
 
ส่วนไหนที่ไม่ควรเติม Filler ในรูปแบบของโมเลกุล Hyaluronic Acid
ถึงแม้ว่าสาร Hyaluronic acid จะเป็นที่นิยมเพื่อนำมาเติมเต็มผิวในช่วงหน้าแก้ม ร่องแก้ม และขมับเพื่อให้หน้ากลับมาดูอ่อนเยาว์อีกครั้ง ซึ่งเมื่อพูดถึงผลลัพธ์นั้น ก็ต้องยอมรับว่าเห็นผลได้ชัดเจน เรียกได้ว่าใครที่เติมโมเลกุลนี้ไป ประกอบกับสินค้าที่ได้มาตรฐานและฝีมือคุณหมอที่รู้ใจ คนส่วนใหญ่แทบจะรู้สึกไม่เสียดายเงินที่ลงทุน มากไปกว่านั้นก็ได้มีการพลิกแพลงนำมาใช้ในรูปแบบความงามด้านอื่น นั่นก็คือนำมาเติมบริเวณสันจมูก สำหรับคนที่ยังไม่กล้าผ่าตัดเพื่อเสริมซิลิโคนแท่ง โดยมีความเชื่อว่าถ้าไม่สวยหรือไม่เข้ากับรูปหน้า โมเลกุลตัวนี้จะค่อยๆ สลายไปเองตามธรรมชาติ
 
ในทางกลับกันอย่างที่บอก บางคนหลงเชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นโมเลกุล Hyaluronic acid แท้ในราคาที่ประหยัด แต่แท้จริงคือซิลิโคนเหลว พอถึงเวลาอยากเสริมจมูกแบบใช้ซิลิโคนแท่งขึ้นมาจริงๆ เพิ่งมารู้ทีหลังว่า ต้องมีการขูดสารเหลวเหล่านี้ออก ทั้งๆ ที่ก็ศึกษามาแล้วว่า Hyaluronic Acid จะค่อยๆ สลายไป แต่ทำไมยังเกิดการตกค้าง พูดง่ายๆ ก็คือถูกย้อมแม้วแล้วแหละจากการฉีดก่อนหน้า เพราะในปัจจุบันได้มีการรับรองจากสถาบันความงามระดับโลกว่า ถ้าเป็นการเติม Hyaluronic Acid ที่บริสุทธิ์แท้ ไม่มีสารซิลิโคนเจือปน โมเลกุลตัวนี้จะสลายได้เกือบ 99 เปอร์เซ็นต์
 
อีกอวัยวะส่วนหนึ่ง ที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมในการเติม Filler คือสันจมูก เพราะถึงแม้จะเป็นการเติม Hyaluronic Acid แท้ แต่ก็มีความเสี่ยงมาก นั่นคือความผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ เคยมีกรณีศึกษาว่ามีคนตาบอดจากโมเลกุลตัวนี้ ซึ่งสืบไปมาแล้วก็อาจเกิดขึ้นได้ เพราะดวงตาของเรามีเส้นเลือดไปเลี้ยงเป็นจำนวนมาก เมื่อคุณหมอนำเข็มที่บรรจุ Hyaluronic Acid ฉีดบริเวณสันจมูก เผอิญว่าปลายเข็มไปถูกกับเส้นเลือดเส้นใดเส้นหนึ่ง เมื่อ Hyaluronic Acid นั้นค่อยๆ ไหลลงไป แต่ดันไปเข้าตามเส้นเลือดต่างๆ แทนที่สันจมูกจะโด่ง แต่กลับกลายเป็นดวงตามองไม่เห็น
 
ความสวยความหล่อเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา แต่ทั้งหมดนั้นก็ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ คำว่าเชี่ยวชาญในที่นี้ไม่ได้หมายถึงคนที่ทำบ่อยจนชำนาญ แต่เป็นผู้ที่มีความรู้และอบรมมาอย่างครบถ้วน เพราะฉะนั้นนอกจากความสนิทและความเชื่อใจ ความเชี่ยวชาญและน่าเชื่อถือของคลินิกเสริมความงามก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องศึกษาให้ดีและถี่ถ้วนก่อนทำ
-->