เช็คสัญญาณเตือน! คุณกำลังเจอภาวะ Political Stress Syndrome อยู่หรือเปล่า?

ต้องยอมรับว่าเดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจกับการเมืองกันมากขึ้น รวมถึงการเข้าถึงข่าวสารก็ง่ายและรวดเร็วมากขึ้นผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ เรียกว่าสามารถเสพข่าวการเมืองได้ง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว เสพข่าวกันจนเครียด วิตกกังวล มีอารมณ์ไปกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งรู้สึกนอยด์หรือหมดหวังกับการเมือง ซึ่งทางจิตวิทยาเรียกว่า ‘Political Stress Syndrome’ หรือภาวะเครียดจากการเมือง



Political Stress Syndrome คือ? Political Stress Syndrome คือ กลุ่มอาการเครียดทางการเมืองซึ่งเป็นภาวะทางจิตใจที่เกิดขึ้นเมื่อรู้สึกเครียดจากการรับรู้หรือมีส่วนร่วมกับสถานการณ์ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง ความขัดแย้ง ความไม่มั่นคง หรือความรู้สึกไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลง จนส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ความคิด พฤติกรรม และสุขภาพ ซึ่งแม้ว่าภาวะนี้จะยังไม่ถูกจัดเป็นโรคทางจิตเวช แต่ก็มีงานวิจัยที่ชี้ว่ามีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่กำลังเผชิญกับภาวะนี้ โดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์การเมืองใหญ่ๆ เช่น การเลือกตั้ง หรือวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองต่างๆ

ภาวะนี้ เกิดจากอะไร? แต่ก็ใช่ว่าภาวะนี้จะมีตัวกระตุ้นแค่เรื่องทางการเมืองเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้ว ภาวะ Political Stress Syndrome เกิดจากการรับรู้และปฏิกิริยาทางอารมณ์ ที่เก็บมาเรื่อยๆ โดยอาจมีปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ เช่น 
  • การเสพข่าวสารซ้ำซ้อน 
  • ความขัดแย้งกับคนใกล้ชิด
  • ความรู้สึกไร้อำนาจ หรือสิ้นหวังที่จะเปลี่ยนแปลงใดๆ ในระบบ
  • การหมกมุ่น เกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจนเกินไป เรียกว่าเสพข่าวแบบไม่ให้เวลาตัวเองได้พัก
ทั้งนี้มีงานวิจัยจาก American Psychological Association ปี 2020 พบว่า 68% ของประชากรชาวอเมริกันมองว่า ‘การเมือง’ เป็นหนึ่งในแหล่งความเครียดหลักของชีวิต โดยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการเลือกตั้งเช่นกัน

เช็คสัญญาณเตือน! ที่บอกว่าคุณกำลังเข้าสู่ภาวะเครียดทางการเมือง
  • รู้สึกกังวล หรือโกรธ เวลาติดตามข่าวการเมือง
  • หมกหมุ่นกับข่าวสารหรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต่างๆ
  • รู้สึกซึมเศร้า หมดหวัง ไม่มีแรงจูงใจเกี่ยวกับอนาคต
  • นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท หลับยาก หรือฝันร้ายเกี่ยวกับข่าวสารที่เสพ
  • ขาดสมาธิในการทำงาน จนทำให้เกิดปัญหาทั้งในการทำงานหรือรวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
  • มีปัญหาในการทำงานหรือการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเฉพาะเมื่อเห็นต่างทางการเมือง
  • บางคนอาจมีอาการทางกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียเรื้อรัง หรือภูมิคุ้มกันลดลง
แม้ว่าอาการเหล่านี้อาจจะไม่ได้ชัดเจน แต่ก็อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตได้ไม่น้อยเลยทีเดียว



วิธีรับมือกับภาวะ Political Stress Syndrome
  • จำกัดเวลาในการเสพสื่อให้ชัดเจน และเลือกแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ มีคุณภาพ และหลีกเลี่ยงเนื้อหาที่กระตุ้นอารมณ์รุนแรง
  • พูดคุยกับคนใกล้ชิด การที่ได้พูดคุยกับคนที่เข้าใจ รับฟังอย่างไม่ตัดสิน สามารถช่วยลดความเครียดได้ และพยายามหลีกเลี่ยงการโต้เถียงทางการเมืองโดยเฉพาะเวลาที่ใจยังไม่นิ่ง อารมณ์ยังไม่มั่นคง
  • ขยับร่างกาย เพื่อช่วยลดความเครียด เช่น การออกกำลังกายสามารถช่วยลดระดับฮอร์โมนความเครียดอย่างคอร์ติซอล และเพิ่มสารความสุขอย่างเอ็นโดรฟิน               

อย่างไรก็ตามหากรู้สึกเครียดหรือซึมเศร้ามากเกินไป ควรปรึกษานักจิตวิทยาเพื่อวางแผนการบำบัดที่เหมาะสม 

 
-->