เธอต้องสตรองเบอร์ไหน...เมื่อต้องสู้กับ ‘มะเร็ง’ ในวันที่อยู่ไกลบ้าน พร้อมบทบาทการเป็นคุณแม่ลูกหนึ่ง

บางครั้งชีวิตเราก็ต้องเจอกับความไม่แน่นอน เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะมีบททดสอบความสตรองของเราเข้ามาเมื่อไหร่ โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า ‘มะเร็ง’ ที่มักจะมาแบบไร้สัญญาณเตือน เหมือนอย่างเคสของเธอคนนี้ แอ้ม-ไอรดา ริชชี่ ในวัย 30 ต้นๆ ความสตรองของเธอได้ถูกทดสอบจากสิ่งที่เรียกว่า ‘Hodgkin Lymphoma’ ที่มีมากกว่า 5 ก้อนซ่อนตัวอยู่ในร่างกายเธอ



ก่อนอื่นเราต้องบอกก่อนว่าแอ้มเป็นคนแอคทีฟ เธอเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นในการที่จะทำสิ่งต่างๆ เธอสร้างครอบครัวอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และมีลูกชายที่น่ารัก 1 คน ถ้าพูดถึงไลฟ์สไตล์ของเธอแล้ว ก็เรียกว่าแทบจะปกติเหมือนคนทั่วๆ ไป ออกจะเอนไปทางเฮลธ์ตี้ด้วยซ้ำ ‘เราใช้ชีวิตปกติเลย ไม่ถึงกับปาร์ตี้ หรือ unhealthy มีดื่มบ้าง ออกกำลังกายบ้างอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง’ 

จุดเริ่มต้นของ ‘ความผิดปกติ’
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2018 คือครั้งแรกที่เธอเจอว่าเหมือนมีก้อนที่คอด้านขวา ตรงระหว่างไหปลาร้ากับคอ ‘ตอนแรกคิดว่าเป็นต่อมน้ำเหลืองโต จากการติดเชื้อหรืออักเสบ พอไปหาหมอก็ส่งไปอัลตร้าซาวด์เจอว่าเป็นก้อนน้ำ หมอก็ให้ยาฆ่าเชื้อมากิน ซึ่งหมอก็บอกว่าถ้ามันยังไม่หายก็ให้กลับมา Follow up ได้’ ซึ่ง ณ ตอนนั้นเธออยู่ในช่วงที่กำลังจะย้ายที่อยู่จากรัฐหนึ่งไปอีกรัฐหนึ่ง บวกกับนอกจากก้อนนั้นแล้ว เธอก็ไม่ได้มีอาการอะไร ไม่เจ็บ ไม่ปวด เลยทำให้เธอปล่อยผ่าน ‘บางทีถ้าคนไม่ได้สังเกตแทบจะไม่เห็นด้วยซ้ำ ถ้าไม่ได้มาจับ หรือมากดดู มันไม่ได้เหมือนโดนยุงกัดแล้วตุ่มขึ้น ไม่ขนาดนั้น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย ปี 2019 ทั้งปีเราก็เลยปล่อยไว้ ไม่ได้ทำอะไรเลย’ 

เมื่อ ‘โควิด’ มาก็ทำให้ได้โอกาสลับมาโฟกัสอีกครั้ง
เธอเล่าว่าพอปี 2020 เธอเริ่มกลับไปหาหมอเพื่อตรวจดูอีกครั้ง ‘ช่วงนั้นมีโควิดพอดี เราไม่ได้ไปทำงาน อยู่ว่างๆ ก็เลยคิดว่างั้นก็ไปตรวจดูหน่อยดีกว่า’ จริงๆ แล้วพอนึกย้อนกลับไปเธอเล่าว่าถึงไม่ได้มีอาการอะไรเกิดขึ้น ไม่เจ็บ ไปวด ยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่ก็แอบมีอาการแปลกๆ อยู่หนึ่งอย่างซ่อนอยู่ ที่อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติ นั่นก็คือเธอมักจะมีเหงื่อออกชุ่มตอนนอน (Night Sweat) 

และตอนที่กลับไปหาหมอในครั้งที่ 2 นั้น ตอนนั้นเธอได้ย้ายมาอยู่ที่รัฐใหม่แล้ว เพราะฉะนั้นก็เหมือนกับว่าทุกอย่างต้องเริ่มนับหนึ่ง ‘ตอนนั้นก็คือต้องเริ่มใหม่เลย ตั้งแต่อัลตร้าซาวด์ ซึ่งก็ยังเห็นเป็นก้อนน้ำ แต่รอบนี้คุณหมอให้ตรวจเลือดด้วย ซึ่งพอผลเลือดออกมาก็ดูไม่ปกติ เหมือนมีค่าเม็ดเลือดขาวเยอะ ทำให้คุณหมอคิดว่าไม่น่าจะเป็นแค่ต่อมน้ำเหลืองโตแล้ว’ หลังจากนั้นคุณหมอก็ส่งเธอไป CAT scan เพื่อหาว่าตกลงแล้วเธอเป็นอะไรกันแน่ ‘คุณหมอให้ทำ Needle Biopsy (การดูดเซลล์ออกมากับเข็ม) ซึ่งตอนแรกหมอก็บอกว่าน่าจะเป็นเซลล์ไม่ดี โดยที่ใช้คำว่า ‘some thick cells’ หมอเลยตัดสินใจผ่าชิ้นเนื้อออกมาตรวจ  (Excisional biopsy) และผลออกมาว่าเป็น Hodgkin’

ความพีคที่ไม่ได้หยุดอยู่ที่คำว่า ‘Hodgkin’
เธอบอกว่าวินาทีที่หมอบอกว่าเป็นมะเร็ง ยังไม่ทรมานเท่าตอนที่ต้องรอผลหลังจากตรวจชิ้นเนื้อ ‘เหมือนตอนนั้นเราไปตัดวันจันทร์ ต้องไป Follow up อาทิตย์ต่อไปประมาณวันพฤหัส แต่ปรากฎว่าหมอโทรมาประมาณวันศุกร์ว่าให้เข้ามาเร็วขึ้นนิดนึงเป็นวันจันทร์เลย ตอนนั้นเราก็รู้ว่ามันคงมีอะไร แต่แค่ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร มันต้องรอประมาณอาทิตย์นึง รู้สึกทรมานกว่าตอนที่รู้ เรารู้สึกว่าโอเคเป็นก็รักษา แต่ตอนที่รอมันจะเครียดมากกว่าเพราะเราไม่รู้ว่าเป็นอะไร แต่พอรู้ว่าเป็นประเภทนี้ที่มีเปอร์เซ็นต์การรักษาหายสูงก็ทำให้เราไม่ได้กังวลว่ามันจะถึงขั้นตายหรืออะไร คือรู้สึกว่ามันรักษาหายได้ เพียงแต่อาจจะต้องใช้ยาที่แรงหน่อย’ 

ซึ่งหลังจากที่หมอวินิจฉัยแล้วว่าเป็น Hodgkin แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นระยะไหน เธอจึงต้องทำ PET scan ต่ออีกที เพื่อที่จะดูว่ามันไปตรงไหนบ้างแล้ว ‘พอทำเสร็จ หมอก็บอกว่าเป็น Stage 2 มันแค่ลามมาตรงช่วงทรวงอก แถวกระดูกใต้ทรวงอก ซึ่งตรงนี้จะไม่สามารถฉายแสงได้ เพราะมันใกล้หัวใจ ทำให้มีความเสี่ยงว่าการฉายแสงนั้นจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการทำงานของหัวใจเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้การรักษาต้องเป็นการให้คีโมอย่างเดียว’ ซึ่งมะเร็งที่เธอเจอนั้นก็ไม่ใช่แค่ก้อนหรือ 2 ก้อน แต่เจอทั้งหมด 5 ก้อนด้วยกัน ก้อนหนึ่งอยู่ที่คอที่ผ่าตัดออกไปแล้ว ส่วนที่เหลือนั้นกระจายอยู่ช่วงทรวงอก แถวกระดูกใต้ทรวงอก 

การเตรียมตัวก่อนให้คีโม
ก่อนที่จะให้คีโมนั้น เนื่องจากว่าการให้ยาทางเส้นเลือดนั้นจะทำให้มีโอกาสที่จะเส้นเลือดจะพังหรือ Collapse ได้ เพราะยาค่อนข้างแรง รวมถึงมียาตัวหนึ่งที่ถ้ามันออกจากเส้นเลือดไปมันจะไปทำลายเนื้อเยื่อบริเวณรอบๆ ในเคสของเธอหมอเลยตัดสินใจผ่าตัดเพื่อใส่พอร์ตที่บริเวณเหนือหน้าอกด้านซ้ายเข้ามาช่วย ‘พอเราใส่พอร์ตแล้วก็ใช้ไปได้ประมาณ 3-4 ครั้ง ปรากฎว่าพอร์ตติดเชื้อ เพราะช่วงที่ให้คีโม ร่างกายจะติดเชื้อได้ง่าย แต่หมอก็บอกว่าเปอร์เซ็นต์ที่พอร์ตจะติดเชื้อนั้นมีแค่ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งเราก็เป็นผู้โชคดี’ และเนื่องจากตอนนั้นมีการอักเสบ มีหนองเกิดขึ้น รวมถึงพอร์ตเริ่มทะลุออกมานอกผิวหนังแล้ว ทำให้หมอตัดสินใจที่จะผ่าตัดเอาพอร์ตออก เพื่อป้องกันการอักเสบที่รุนแรงมากขึ้น ‘พอเอาพอร์ตออก เราก็ต้องให้คีโมทางเส้นเลือด ซึ่งหลังๆ เส้นเลือดก็ Collapse จริงๆ เริ่มต้องเจาะหลายที่ เพราะหาเส้นเลือดไม่เจอ จนต้องไปหาเส้นเลือดที่มือ แทนที่ปกติจะเจาะตรงข้อพับได้ สรุปก็คือพรุนไปหมดทั้งตัว’
 
   

เป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 8 ครั้ง แต่ก็มีอันต้องแตะเบรค
เธอเล่าว่าในเคสของเธอนั้นหมอแพลนไว้ว่าต้องให้คีโมทั้งหมด 8 ครั้ง ‘เขาจะนับว่า 1 round คือ 2 ครั้ง ซึ่งตอนแรกเราให้ไปทั้งหมด 2 rounds คือ 4 ครั้ง หลังจากนั้นก็ทำ PET scan ดูว่ามันถึงไหนแล้ว การรักษามัน Effective มั้ย ซึ่งปรากฎว่าผลออกมาว่าไม่เจอเซลล์มะเร็งแล้ว’ แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็บอกว่ายังมีความจำเป็นที่ต้องให้คีโมต่อให้ครบ 8 โดส เพราะในเคสของเธอนั้นไม่สามารถฉายแสงได้ ‘มันเป็นเหมือน recommended dose ซึ่งพอหลังๆ เมื่อไม่มีเซลล์มะเร็งแล้ว ยาที่เข้าไปก็เลยเหมือนไปทำลายเซลล์ดี ทำให้รู้สึกว่าร่างกายเรามันไม่ค่อยไหว หลังจากคีโมครั้งที่ 4 รู้สึกว่าร่างกายอ่อนล้า พอหลังครั้งที่ 7 ก็มีอาการปากเบี๊ยว แขนขายืดไม่ได้ เราเลยขอหมอว่าขอไม่ให้ครั้งที่ 8 แล้ว ก็เลยจบที่ 7 ครั้ง ซึ่งความถี่ของการให้คีโมคือทุกๆ ครั้งจะให้ห่างกัน 2 อาทิตย์’ และถึงวันนี้ก็ผ่านมา 3 เดือนกว่าๆ เท่านั้น หลังจากที่เธอให้คีโมโดสที่ 7 ไป

นอกจากร่างกายแล้ว ก็ต้องรักษา ‘ใจ’ ควบคู่กันไปด้วย
เมื่อเราถามถึงวิธีดูแลจิตใจ เธอเล่าอย่างเปิดอกว่าช่วงนั้นเหมือนชีวิตเจอมรสุม ไม่ใช่แค่เรื่องของสุขภาพ แต่ก็ยังมีปัญหาส่วนตัวด้วย ‘ช่วงนั้นเราก็ทำทุกอย่างเหมือนเดิม พอหลังจากที่รู้ว่าเป็นมะเร็ง ก็มีไปหาจิตแพทย์ด้วย ปรากฎว่าหมอบอกว่าเป็นซึมเศร้า ช่วงนั้นเราเลยหาหมอค่อนข้างเยอะ จันทร์ถึงศุกร์คือหาหมอทุกวัน มีช่วงนึงเกิดอุบัติเหตุกระดูกมือหักด้วย ก็ไม่รู้ว่าเกี่ยวกับการให้คีโมมั้ย ปีที่แล้วเลยเหมือนหาหมอเยอะมาก ช่วงให้คีโมมีเจ็บหัวใจ ก็ต้องไปหาหมอหัวใจอีก เรียกว่าช่วงนั้นคือหาหมอเยอะมากจริงๆ หาทุกวัน ทั้งร่างกายและจิตใจ’
 
   

แต่ถึงเธอจะต้องเผชิญกับเรื่องราวมากมาย กำลังใจสำคัญก้อนโตก็มาจากคุณแม่และลูกชายที่น่ารัก ‘โชคดีว่าหลังจากที่รู้ผลแล้วก็มีให้คุณแม่บินไปอยู่ด้วย ซึ่งก็ช่วยได้เยอะมาก เหมือนกับว่า Every Girl needs a mother พอแม่ไปอยู่ด้วยก็เหมือนดีขึ้น ปกติต้องไปพบจิตแพทย์ทุกอาทิตย์ แต่ตอนนั้นก็ห่างเป็น 2 อาทิตย์ครั้ง อย่างลูกก็เลี้ยงง่าย เป็นเด็กอารมณ์ดี ความร่าเริงของเค้า ก็ทำให้เรายิ้มได้ ซึ่งก็เป็นอีกเหตุผลนึงที่เรารู้สึกว่าต้องหาย’

เพราะทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอน...เราถึงต้องทำทุกวันให้ดีที่สุด
สิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากการป่วยครั้งนี้คือ ‘มะเร็งไม่ได้เลือกเพศ หรืออายุ ใครก็เป็นได้’ ‘เพราะเรารู้สึกว่าเราเป็นคนที่แข็งแรงตลอดเวลา เป็นคนแอคทีฟ ทำกิจกรรมเยอะ ไม่ได้ใช้ชีวิต unhealthy ปาร์ตี้ทุกคืนวันศุกร์ เป็นคนออกกำลังกาย อยู่ในเมืองที่อากาศดี ไม่ได้มีมลพิษเยอะ แต่ก็ยังเป็นได้เลย’ นั่นเลยทำให้เธอรู้สึกว่า ‘Cancer is a silence killer.’ ถ้าเราไม่สังเกตตัวเอง เราก็ไม่มีทางรู้เลย เพราะอย่างเคสของเธอที่ใช้การสังเกตตัวเองล้วนๆ เพราะไม่ได้มีอาการอื่นๆ ที่แสดงออกมา หรือส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันใดๆ และมะเร็งชนิดนี้ก็ไม่ได้เป็นโรคทางพันธุกรรม

และสิ่งสุดท้ายที่เธออยากฝากไว้เป็นข้อคิดให้กับทุกคนก็คือ ‘พยายามดูแลตัวเองให้ดีที่สุดในทุกๆ วัน เพราะว่าเราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ที่ถึงคิวของเรา พยายามอย่าใช้ชีวิตด้วยความประมาท พยายามอย่าเครียด ควรมี Work Life Balance และอย่าลืมที่จะหมั่นสังเกตตัวเอง’
-->