เป็นหวัด หรือ ภูมิแพ้ เอาให้แน่นะ

“ฮัดเช้ย ฮัดเช้ย ฮัดเช้ย” ... ไม่ใช่มีใครเอ่ยถึง แต่อยากรู้จังเลยว่าเป็นหวัด หรือภูมิแพ้กันแน่ เพราะหลังจากที่มีข้อมูลของทีมนักวิจัย สถาบันคิงส์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน ในอังกฤษ ระบุว่า แนวโน้มของผู้เป็นโรคภูมิแพ้ (Allergies) ทั่วโลก เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในประเทศแถบตะวันตก คาดว่าราว 40% ของประชากรโลกป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ก็ทำให้ชักจะไม่แน่ใจแล้วว่าที่เป็นอยู่นั้นเป็นอาการของหวัดหรือภูมิแพ้กันแน่



มีไข้ บอกเลยว่าใช่...หวัด
หวัดหรือโรคจมูกอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส ไม่ว่าจะเป็น rhinovirus, influenza, parainfluenza, adenovirus  ซึ่งมักจะแสดงอาการหลังได้รับเชื้อ 1-4 วัน ทำให้ผู้ป่วยมีไข้  อ่อนเพลีย  ปวดหัว ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว คัดจมูก น้ำมูกไหล ซึ่งสามารถมีได้ทั้งแบบใสและขุ่น แต่จะหายได้เองหรือดีขึ้นภายใน 7 – 10 วัน โดยอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาเลย ถ้าหากว่ามีการดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง และเหมาะสม โดยสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้ภูมิต้านทานลดน้อยลง จนกลายเป็นผลที่ทำให้ร่างกายติดเชื้อไวรัส และมีอาการหวัดตามมาได้แก่ 
  • ความเครียด 
  • การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ 
  • ร่างกายสัมผัสอากาศที่เย็นมากๆ หรือไม่ได้รับความอบอุ่นที่เพียงพอ 
  • การดื่มหรืออาบน้ำเย็น ตากฝน หรือสัมผัสกับอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 
  • การได้รับเชื้อจากคนรอบข้างที่ไม่สบาย 



คันเก่ง...ต้องเป็นภูมิแพ้
โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (allergic rhinitis) หรือโรคแพ้อากาศ ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แต่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีผลต่อความผิดปกติของจมูกและตา ซึ่งมักจะเกิดขึ้นที่จมูก และบริเวณศรีษะมากที่สุด แตกต่างจากไข้หวัดที่จะส่งผลต่อระบบในร่างกาย และระบบทางเดินหายใจส่วนล่างมากกว่า โดยอาการของผู้ป่วยภูมิแพ้อากาศจะมีลักษณะต่างไปจากโรคหวัดคือ ไม่มีไข้ ไม่หายใจถี่ ไม่ปวดเมื่อยตามร่างกาย แต่อาจจะมีอาการอ่อนเพลีย ร่วมกับอาการจาม คันจมูก น้ำมูกไหลออกจากจมูกหรือไหลลงคอ คัดจมูก คันตา คันเพดานปากหรือคอเป็นระยะเวลานานมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป และอาการที่ว่านี้มักจะเป็นๆ หายๆ คือหากมีสิ่งกระตุ้นก็จะมีอาการขึ้นมา และจะหายก็ต่อเมื่อกินยา หรือนึกจะหายก็หายขึ้นมาเฉยเลยได้เหมือนกัน ซึ่งต้นเหตุที่สามารถกระตุ้นและทำให้เกิดอาการ คือ
  • ความเครียด
  • การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • สภาวะอารมณ์ที่ไม่ปกติ คือ เศร้าเสียใจ หรือวิตกกังวล 
  • กลิ่นฉุน
  • มลพิษฝุ่นควัน
  • สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

การรักษาโรคภูมิแพ้อากาศ แม้ว่าจะไม่หายขาดแต่ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ซึ่งนอกเหนือจากการใช้ยาแล้ว การรักษาที่สําคัญที่สุดคือ ผู้ป่วยจะต้องกําจัด หลีกเลี่ยง สิ่งที่แพ้ และสารระคายเคืองต่างๆ และหากจำเป็นต้องทำการรักษาด้วยยา เพื่อบรรเทาอาการ ไม่ว่าจะเป็นยาแก้แพ้ชนิดกิน หรือยาพ่นจมูก ก็ควรให้แพทย์หรือเภสัชกรเป็นผู้แนะนํา เนื่องจากโรคแพ้อากาศเป็นโรคเรื้อรังที่โอกาสในการรักษาหายขาดน้อย จึงจําเป็นต้องมีการใช้ยาต่อเนื่องสม่ำเสมอ

แม้จะเคยสับสนกันมาบ้าง แต่จากนี้ก็คงรู้แล้วล่ะว่าตกลงเป็นเราเป็นอะไรกัน...แน่ 
-->