เรื่องจริงของ 'ถั่งเช่า' ที่ต้องรู้ ก่อนซื้อมารับประทาน

ช่วงนี้ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็เจอแต่โฆษณา 'ถั่งเช่า' ไม่ว่าจะเปิดทีวี WRAP รถเมล์ บิลบอร์ด หรือแม้แต่วิทยุ จนหลายคนชักสงสัยว่าสมุนไพรยอดฮิตตัวนี้มันมีดียังไง? แล้วที่มันมีหน้าตาประหลาดคล้ายหนอนแต่ก็มีขั้วเหมือนเป็นพืช สรุปแล้วมันเป็นพืชหรือเป็นสัตว์กันแน่? วันนี้เราจะพาทุกคนไปไขข้อสงสัยกัน




ทำความรู้จัก 'จักพรรดิแห่งยาบำรุง'
ถั่งเช่า (Cordyceps) หรือที่เรียกติดปากกันว่า “หญ้าหนอน” จัดเป็นสมุนไพรจีนที่มีสรรมคุณทางยาแผนโบราณใช้กระตุ้นสมรรถภาพทางเพศและบำรุงอวัยวะภายในอย่างปอด ตับ และไต และถูกบันทึกอยู่ในตำราแพทย์แผนจีนมานานหลายพันปี พญ.ธิศรา วีรสมัย หัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลพญาไท 1 ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันได้มีการศึกษาทางการแพทย์ และนำสารสกัดจากถั่งเช่ามาช่วยเสริมสร้างคุ้มกันของร่างกายด้วยการกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวในระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ และยังช่วยลดอาการอ่อนเพลียอีกด้วย  

ถั่งเช่าถูกจัดเป็นสมุนไพรหายากและราคาแพง สามารถพบได้บนเทือกเขาสูงที่มีสภาพอากาศเย็นและชื้นจัดเท่านั้น อย่างเทือกเขาหิมาลัยในประเทศจีน ทิเบต ภูฏาน ซึ่งจากการศึกษาทางการแพทย์พบว่า The Best ถั่งเช่าที่มีคุณสมบัติเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายได้ดีที่สุดคือสายพันธุ์ Cordyceps Sinensis 


หนอนตายซากที่ถูกยึดร่างโดยสปอร์
จริงๆ แล้วคำว่าถั่งเช่า ย่อมาจากชื่อเต็มอย่าง “ตังถั่งแห่เช่า” ในสำเนียงแต้จิ๋ว หรือ “ตงฉงเซี่ยเฉา” ในสำเนียงจีนกลาง ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “ฤดูหนาวเป็นหนอน ฤดูร้อนเป็นหญ้า” ฟังดูพิลึกใช่มั้ยล่ะ? เพราะที่มาของถั่งเช่าเกิดจากหนอนผีเสื้อซึ่งกินสปอร์ของเห็ดที่อยู่บนพื้นดิน ก่อนจะขุดดินลงไปจำศีลในช่วงฤดูหนาว แต่ระหว่างที่หนอนเริ่มอ่อนแรงจากความหนาว สปอร์เห็ดก็เริ่มดูดสารอาหารและแร่ธาตุจากหนอนตัวนั้น แล้วค่อยๆ แผ่เส้นใยยึดร่างหนอนไปแบบดื้อๆ จนหนอนตายลงในที่สุด เมื่อเข้าฤดูใบไม้ผลิส่วนหัวของหนอนจะงอกขึ้นมาเป็นเห็ดหน้าตาคล้ายหญ้า ยิ่งถ้าส่วนของเห็ดยาวเท่าลำตัวหนอนก็จะจัดเป็นถั่งเช่าในระดับดีที่สุด กลายเป็นสมุนไพรหายากราคาแพงหูฉี่ที่นิยมมากในปัจจุบันนี้  


ฉะนั้นคำถามที่ว่าถั่งเช่าเป็นพืชหรือสัตว์กันแน่ ก็คงต้องตอบว่าเป็นทั้งพืชและสัตว์ ถูกจัดอยู่ในหมวดสมุนไพรนั่นเอง

ข้อควรระวังในการบริโภคถั่งเช่า
ข้อมูลจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเปิดเผยว่า แม้ถั่งเช่าจะมีฤทธิ์ช่วยปรับสมดุลต่างๆ ในร่างกาย แต่การบริโภคถั่งเช่าก็มีข้อควรระวังอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีอาการป่วยดังต่อไปนี้
 
• ผู้ป่วยเบาหวาน เพราะถั่งเช่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด อาจไปเสริมฤทธิ์กับยาลดน้ำตาลในเลือดที่ทานเป็นประจำอยู่แล้ว
• ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน (IMMUNOSUPPRESSIVE) เพราะถั่งเช่ามีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน อาจทำให้ฤทธิ์ยาตีกันได้
• ผู้ป่วยที่ได้รับยาในกลุ่มป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด เพราะถั่งเช่ามีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด อาจทำให้ฤทธิ์ยาตีกันได้
• หญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตร เพราะปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันความปลอดภัยในการบริโภคกับคนกลุ่มนี้มากเพียงพอ


ทั้งนี้ก็ต้องมาดูอีกว่าเป็นถั่งเช่าแท้หรือเปล่า มีฤทธิ์บำรุงร่างกายมากน้อยขนาดไหน อย่างที่เห็นในข่าวบางยี่ห้อมีสารพิษโลหะหนักปนเปื้อนไปอี๊กกก ฉะนั้นถ้าเอาให้ชัวร์ควรเลือกถั่งเช่าเกรดการแพทย์ที่มีการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการแล้วว่าออกฤทธิ์บำรุงร่างกายจริง และควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนจะปลอดภัยที่สุด!

 
-->